ขยายวง67จว.ฝนหนัก


เพิ่มเพื่อน    

    พายุเซินติญอ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนเข้าลาว ทำให้ภาคเหนือ อีสานของไทยยังได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ขณะที่ตะวันออกและใต้ก็ยังชุ่มฉ่ำ ปภ.ประสาน 67 จังหวัดติดตามสถานการณ์
    กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเรื่อง "พายุเซินติญ" ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 ว่า เมื่อเวลา 16.00 น.ของวันที่ 19 ก.ค.61 พายุโซนร้อน “เซินติญ” (SON-TINH) ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันบริเวณชายแดนประเทศลาวและเวียดนามแล้ว ที่ละติจูด 20.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 104.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงเข้าปกคลุมประเทศลาวตอนบนในวันที่ 19 ก.ค.61 และส่งผลกระทบทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งไว้ด้วย โดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบตามภาคต่างๆ ดังนี้
    ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน และตาก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร และนครพนม
    สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ภาคตะวันออกและภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือระวังอันตรายจากคลื่นลมแรง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งไว้ด้วย และประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่งจนถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2561
    นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าพายุโซนร้อน “เซินติญ” เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองวินห์ ประเทศเวียดนาม ในวันที่ 19 ก.ค.2561 ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่น และฝนตกหนักบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือจนถึงวันที่ 22 ก.ค.61 อาจทำให้เกิดอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ขณะที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้อันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นลมแรง คลื่นสูง 2 -3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองอาจมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ปภ.จึงได้ประสาน 67 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี และเพชรบูรณ์ 
    ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา และมหาสารคาม ภาคกลาง 24 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครนายก ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี ภาคใต้ 10 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวมถึงศูนย์ ปภ.เขต 18 ศูนย์เขต จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที
    นายชยพลกล่าวว่า ฝนที่ตกหนักในช่วงที่ผ่านมาทำให้เกิดอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ตราด แพร่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และประจวบคีรีขันธ์ รวม 11 อำเภอ 15 ตำบล 34 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 172 ครัวเรือน 446 คน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 2 จังหวัด คือ ตราดและแพร่
    ร้อยเอ็ด เจ้าหน้าที่ยังอยู่ระหว่างซ่อมพนังกั้นน้ำที่ขาดใน อ.เสลภูมิ โดยขณะนี้น้ำได้ทะลักออกเป็นวงกว้าง ท่วมพื้นที่ทั้ง 7 ตำบล และมีพื้นที่การเกษตรเสียหายไปแล้วกว่า 15,000 ไร่ 
    นครพนม เกิดฝนตกต่อเนื่อง โดยมีฝนตกหนักมากสุดที่ อ.บ้านแพง วัดปริมาณได้ 92.0 มม. ด้าน อ.นาทม มีฝนตกหนัก ปริมาณ 65.8 มม. คาดว่ากลุ่มฝนนี้จะยังคงปกคลุมพื้นที่ทางตอนเหนือของ จ.นครพนม ประกอบด้วย อ.เมือง, โพนสวรรค์, ท่าอุเทน, บ้านแพง, นาทม, นาหว้า และศรีสงคราม ต่อไป ส่วนพื้นที่ทางตอนล่างของ จ.นครพนม คือ อ.ปลาปาก, วังยาง, นาแก, เรณูนคร และธาตุพนม มีเพียงฝนเบาเกิดขึ้นในบางพื้นที่
    ล่าสุดมีรายงานว่า น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยส้มโฮง บ้านนาโพธิ์ ต.กุรุคุ อ.เมืองนครพนม ได้ล้นสปิลเวย์แล้ว เจ้าหน้าที่ได้เร่งระบายน้ำลงสู่อ่างเก็บน้ำห้วยคำใหญ่และห้วยบังกอเพื่อดันลงแม่น้ำโขง เบื้องต้นมีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 200 ไร่ นอกจากนี้ยังมีน้ำล้นสปิลเวย์อ่างเก็บน้ำอีก 2 แห่ง ในพื้นที่ อ.ปลาปาก และ อ.ธาตุพนม ซึ่งเจ้าหน้าที่ต่างเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำโขงกันอย่างจ้าละหวั่น เพราะเกรงพายุเซินติญกระหน่ำซ้ำ จะทำให้ยากแก่การรับมือ
    มุกดาหาร สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 8.93 เมตร เพิ่มขึ้นจากวันพุธ 0.14 เมตร ห่างจากจุดวิกฤติที่ 3.57 เมตร ทำให้น้ำโขงหนุนน้ำในลำห้วยสาขา ถ้ามีฝนตกลงมาเพิ่มอีกจะทำให้น้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตร
    พิจิตร ผลกระทบจากอิทธิพลพายุเซินติญ ทำให้มีฝนตกหนักในเขตพื้นที่ อ.วังโป่ง ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อติดกับ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ส่งผลให้มีมวลน้ำจำนวนมากจาก อ.วังโป่ง ไหลทะลักเข้ามาในคลองวังแดง ซึ่งคลองดังกล่าวเป็นทางน้ำไหลเข้าสู่ตลาดทับคล้อ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ปริมาณน้ำมีมาก ล่าสุดเมื่อช่วงตี 2 ของวันพฤหัสบดี ปริมาณน้ำจำนวนมากดังกล่าวไม่สามารถระบายไปตามคลองธรรมชาติได้ จึงส่งผลให้น้ำเอ่อล้นและไหลเข้าท่วมย่านชุมชนตลาดทับคล้อใต้ ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนหลายสิบหลังคาเรือน
    ตราด ฝนตกหนักใน จ.ตราด 2-3 วันติดต่อกัน ทำให้อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง และอุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว อ.บ่อไร่ ได้สั่งปิดและห้ามลงเล่นน้ำในขณะนี้ โดยนายโกสิทธิ์ นิลรัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กช.1 (ธารมะยม) ว่าบริเวณน้ำตกธารมะยมเกิดน้ำป่าไหลหลากและอาจเกิดอันตรายได้ จึงขอปิดการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกธารมะยม ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ
    นายอำนาจ สอนหมวก ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าจังหวัดตราด เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งเมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 18 ก.ค. ว่ามีเรือประมงชื่อ ต.โชคศิริสมบัติ ขนาด 4 ตันกรอส เป็นเรือวางลอบปู หลังออกเรือไปทำการประมงในช่วงเช้าได้ขาดการติดต่อ ขณะนี้ทางสำนักงานฯ ได้ประสานหน่วยงานทหารเรือเพื่อเข้าไปช่วยเหลือแล้ว ซึ่งล่าสุดทราบว่าเรือได้จมลงสู่ก้นทะเลแล้ว และลูกเรือ 3 คนได้หายไป 
    ล่าสุด เวลา 07.12 น. วันที่ 19 ก.ค. เรือประมงพื้นบ้าน ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ได้นำลูกเรือทั้ง 3 คนมาขึ้นที่ท่าเรือไม้รูด หลังจากช่วยเหลือลูกเรือทั้ง 3 คนได้เมื่อเวลา 05.00 น. วันเดียวกัน ขณะลอยคออยู่ในทะเลกว่า 10 ชั่วโมง
    พังงา เกิดเหตุดินถล่มทับร้านขายของชำเลขที่ 19/7 หมู่ 2 ต.สองแพรก อ.เมือง ของ น.ส.ชลีพรรณ ผสมทรัพย์ อายุ 47 ปี เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบพบสภาพบ้านโครงเหล็กติดฝาผนังแผ่นเรียบ 2 ชั้น หลังบ้านติดกับเนินเขาดินที่ถูกตักขาย ได้มีดินเลื่อนถล่มลงเข้าทับบ้านทางด้านหลัง กระจกแตกกระจาย ชายคาหลังบ้านพัง สินค้าภายในร้านแตกกระจาย ส่วนสาเหตุเกิดจากเนินดินดังกล่าวมีความชัน ประกอบกับที่ผ่านมามีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดินอุ้มน้ำจนกระทั่งถล่มลงมาทับบ้านเรือนประชาชน
    ปัตตานี เรือประมงกอและซึ่งเป็นเรือประมงพื้นบ้านในหมู่บ้านปาตา ต.ตะโล๊ะกาโปร์ อ.ยะหริ่ง กว่า 50 ลำ ต้องหยุดออกทำการประมงเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากคลื่นลมในทะเลมีกำลังแรง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"