กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ลุยตรวจสอบนอมินีต่อเนื่อง เดือนส.ค.นี้ เตรียมตรวจนอมินีธุรกิจท่องเที่ยว จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตรวจธุรกิจท่องเที่ยว และล้งผลไม้ จ.ชุมพร พบผิดฟันไม่เลี้ยง พร้อมส่งสรรพากร-ป.ป.ง.ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และเสียภาษี ลั่นผลตรวจตั้งแต่ปี 58-สิ้นเดือนมิ.ย.61 พบนอมินี 34 ราย ส่งฟ้องแล้ว ขณะที่ผลตรวจบริษัทเรือล่มภูเก็ต พบขนของหนีไปแล้ว
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงการตรวจสอบการใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (นอมินี) เพื่อให้คนต่างด้าวทำธุรกิจต้องห้าม หรือธุรกิจที่ต้องขออนุญาตในไทยโดยเลี่ยงกฎหมายว่า ในเดือนส.ค.61 กรมฯจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบนอมินีในหลายจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น ประจวบคีรีขันธ์ โดยจะตรวจสอบในธุรกิจที่มีความเสี่ยงจะใช้นอนิมี อย่างธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร บริษัททัวร์ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น เพราะธุรกิจเหล่านี้ เป็นธุรกิจต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าว หรือเป็นธุรกิจที่คนต่างด้าวหากจะทำธุรกิจในไทย ต้องขออนุญาต ตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542
นอกจากนี้ จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบผู้ประกอบการรวบรวม คัดแยก บรรจุ และส่งออกผลไม้ (ล้ง) ที่จ.ชุมพร เพราะขณะนี้ผลไม้ภาคใต้ได้ทยอยออกสู่ตลาดแล้ว โดยจะตรวจสอบว่า ล้งในพื้นที่ทำธุรกิจผิดพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 หรือไม่ เพราะตามกฎหมาย ห้ามคนต่างด้าวขายผลผลิตสินค้าเกษตรในไทย ทำได้แค่เพียงซื้อจากชาวสวนแล้วส่งออกเท่านั้น รวมถึงจะตรวจสอบด้วยว่า มีคนไทยเป็นนอมินีหรือไม่ เพื่อให้สามารถขายสินค้าเกษตรในไทยได้
"กรมฯได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อตรวจสอบนอมินีในธุรกิจที่มีความเสี่ยงมาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว โดยตรวจสอบแทบจะทุกเดือน ซึ่งหากพบว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายนอมินี ก็จะดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมทั้งส่งให้กรมสรรพากร และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และการเสียภาษีด้วย"
สำหรับการตรวจสอบนอมินีของกรมฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 58 จนถึงสิ้นเดือนมิ.ย.61 ได้ตรวจสอบไปแล้ว 2,136 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของไทย ทั้งภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี เชียงใหม่ เชียงราย ฯลฯ โดยในจำนวนนี้ พบมีพฤติกรรมเข้าข่ายนอมินี 34 ราย ซึ่งได้ส่งฟ้องดำเนินคดี และส่งให้กรมสรรพากร และป.ป.ง.ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และการเสียภาษีแล้ว
ส่วนอีก 1,783 ยุติเรื่อง เพราะไม่พบเป็นนอมินี อีก 298 ราย ส่งดำเนินคดี เพราะในระหว่างการตรวจสอบ กรมฯได้ขอข้อมูลทางบัญชี แต่บริษัทไม่ให้ความร่วมมือ จึงถือว่ามีความผิด และดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนสารวัตรบัญชี แต่ยังไม่ได้ตรวจสอบความเป็นนอมินี และอีก 21 ราย พบไม่มีที่ตั้งตามที่จดทะเบียนไว้ โดยความผิดกรณีใช้ตัวแทนอำพราง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1 ล้านบาท หรือทั้งจำและปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน
นางกุลณี กล่าวต่อถึงการตรวจสอบ 2 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับกรณีเรือล่มที่จ.ภูเก็ตเมื่อเร็วๆ นี้ คือ บริษัท ที ซี บลู ดรีม จำกัด และบริษัท เลซี่ แคท ทราเวล จำกัดว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า ทั้ง 2 บริษัท จดทะเบียนโดยมีสำนักงานแห่งใหญ่ที่จ.ภูเก็ต แต่บริษัท ที ซี บลู ดรีม ได้ปิดสำนักงานแห่งใหญ่ และขนย้ายอุปกรณ์สำนักงานออกไปแล้ว เหลือทิ้งไว้เพียงเอกสารเล็กน้อยเท่านั้น อีกทั้งสัญญาเช่าสำนักงานก็หมดแล้ว แต่บริษัทยังไม่ได้แจ้งย้ายสำนักงานแห่งใหญ่ต่อกรม ซึ่งจะมีความผิดตามพ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 โดยกรรมการจะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท โดยกรมฯได้ส่งให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดภูเก็ตแจ้งให้กรรมการมาเสียค่าปรับภายใน 15 วัน หรือภายในวันที่ 27 ก.ค.นี้ หากไม่มาตามกำหนด จะฟ้องร้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ขณะที่บริษัท เลซี แคท ทราเวล พบว่า บริษัทปิด เจ้าหน้าที่จึงได้งัดประตูเข้าไปตรวจสอบ พบเพียงเอกสารต่างๆ ของบริษัท เป็นไปได้ว่า บริษัทปิดสำนักงานไปแล้วเช่นกัน และยังไม่ได้แจ้งย้ายสำนักงานแห่งใหญ่ มีความผิดตามพ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ เช่นกัน นอกจากนี้ ยังได้ส่งให้กรมสรรพากรไปตรวจสอบขยายผลด้วย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |