'ประยุทธ์' ยกนิทาน 'ไม้สั้น-ไม้ยาว' แนวคิดพัฒนาประเทศ


เพิ่มเพื่อน    

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อคืนวันที่ 19 ม.ค.2561

 

“สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR)ออกรายงานทบทวนรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงทั่วโลก ประจำปี 2560 โดย “ไม่ปรากฏ” ชื่อย่านการค้า ศูนย์การค้าในประเทศไทยเป็นตลาดที่มีการละเมิดสูง แม้แต่แห่งเดียวนะครับ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2550 ถึง 2559

 

แต่ไม่ใช่ครั้งแรก ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ที่ผลงานรัฐบาลและ คสช. เห็นผลประจักษ์สู่สายตาชาวไทย และประชาคมโลก นับตั้งแต่ “ไซเตส” ปรับไทยพ้นบัญชีค้างาช้างผิดกฎหมาย การแก้ปัญหาค้ามนุษย์ สามารถลดระดับความรุนแรงลงจากเทียร์ 3 ขึ้นเทียร์ 2 แก้ปัญหาการบินพลเรือน จนปลดธงแดง ICAO ได้แก้ปัญหา IUU ประมงผิดกฎหมายรอดพ้นจากใบแดงได้รับการปรับสถานะคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยดีขึ้นรอบ 10 ปี จากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ ที่ไทยตกหล่มมาตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้นะครับ เป็นผลมาจากการทำงานอย่างหนักของทุกฝ่าย และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเอาจริงเอาจัง และตรงไปตรงมา

 

อันส่งผลดีต่อเนื่อง ในเรื่องภาพลักษณ์ สร้างความเชื่อมั่น ของประเทศไทยในสายตานานาชาติ และเป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่ผมพูดอยู่เสมอนะครับ ว่าหากเรารักษา “ความมั่นคง” ได้แล้ว“ความมั่งคั่ง” ก็จะตามมา เพียงแต่เราจะรักษาไว้อย่างยั่งยืนได้หรือไม่ ต้องขอความร่วมมือจากภาคประชาชนด้วยนะครับ

 

นอกจากนี้ ผลสืบเนื่องทางบวกที่เกิดขึ้น ทั้งทางตรงและทางอ้อมอื่นๆ อาทิ ตลาดหุ้นปิดตัวในแดนบวก กว่า 1,800 จุด ซึ่งสูงสุดในรอบ 30 กว่าปี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2560 สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ มากกว่า 35 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศ 1.8 ล้านล้านบาทนะครับ

 

ในขณะที่คนไทยเที่ยวไทย ตลอดปีที่แล้ว 152 ล้านคน สร้างรายได้หมุนเวียนภายในประเทศ 9.3 แสนล้านบาทนะครับ และธนาคารโลกออกรายงาน เมื่อปลายปี 2560 ว่าประเทศไทยกำลังก้าวพ้นจากความยากจนสู่ประเทศมั่งคั่ง เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ไทยมีย่านการค้า ศูนย์การค้า ที่อยู่ในรายชื่อตลาด ที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูง มากถึง 13 แห่ง แต่ด้วยการปราบปรามการละเมิดมาอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือต่างๆ นะครับ ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีการจับกุมเกิดขึ้นกว่า 700 คดี และมีการยึดของกลางได้เกือบ 150,000 ชิ้น ซึ่งการปรับสถานะของไทย ออกจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ และการที่ไม่มีชื่อตลาดขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทยในรายงานฯ ของสหรัฐฯ นี้ ถือเป็นอีกสัญญาณที่ดีนะครับ สะท้อนพัฒนาการเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่ได้มาตรฐานสากล และเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ

 

 ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้แก่นักลงทุนทั้งชาวไทยและชาว ต่างชาติ ซึ่งไม่จำกัดแต่เพียงสหรัฐฯ เท่านั้นนะครับ แต่ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจและเพิ่มโอกาสในการลงทุนจากประเทศอื่นๆ ที่มองเห็นศักยภาพของประเทศไทย รวมถึงเอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมของประเทศไทยเราเอง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอีกด้วยซึ่งแน่นอนครับ ในอนาคตก็จะเชื่อมโยง ไปเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายนะครับ อย่างที่เราต้องการ

 

นอกจากนี้ ในรายงานของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ยังได้ชื่นชมถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินการของรัฐบาลไทย ที่ได้ปราบปรามการละเมิดอย่างจริงจัง จนทยอยหมดไปในหลายพื้นที่ รวมถึงบูรณาการการดำเนินการอย่างจริงจังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ผมขอขอบคุณและขอชื่นชมในความพยายามของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ผมเป็นหัวหน้านะครับ ที่ได้ร่วมกันดำเนินการอย่างจริงจัง แน่นอนว่า เราต้องไม่หยุดเพียงเท่านี้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในการช่วยดูแล ป้องกันไม่ให้ปัญหากลับมาอีก ไม่ให้เกิดซ้ำอีก แม้เราจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ใช่ดีที่สุดนะครับ

 

เรื่องนี้ถือเป็นพื้นฐานในการสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่สำคัญมาก เราจึงต้องพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องดูแล สอดส่อง ป้องกัน ปราบปราม และมีการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้และให้ความรู้อย่างทั่วถึง ในขณะที่ประชาชนก็ต้องรับทราบกฎหมายนะครับไม่สนับสนุนสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านี้

 

“เมื่อไม่มีผู้ซื้อ ผู้ขายก็จะหมดไป” นะครับ เมื่อผู้ซื้อไม่ซื้อ ผู้ขายก็ขายไม่ได้ เพราะฉะนั้นผู้ขายก็จะไปหาสินค้าอื่นนะครับ มาจำหน่ายที่ถูกต้องซะไม่อย่างนั้น ก็จะกลายเป็นว่าไปทำลาย อาชีพ รายได้ของเขาอีกนะครับ อย่างทีมีหลายคนบิดเบือนไปนะครับ หากเราร่วมกันคนละไม้ละมือได้ ผมก็หวังว่าเราจะสามารถร่วมกัน ยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศและสร้างพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ดี ที่ถูกต้อง และเป็นสากล สอดรับการปฏิรูปประเทศในระยะต่อไป ด้วยนะครับ

 

พ่อแม่พี่น้องประชาชนที่รักครับ, เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผมก็ได้มีโอกาสลงพื้นที่เพื่อพบปะ รับฟังปัญหาและความต้องการจากพี่น้องชาวแม่ฮ่องสอน ตามที่ผมเคยได้สัญญาไว้นะครับ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ณ จังหวัดสุโขทัย ว่าจะพยายามเดินทางไปเยี่ยมจังหวัดต่างๆ ของประเทศ

 

โดยเฉพาะพื้นที่ที่พี่น้องประชาชนยังมีความลำบากอยู่มาก มีรายได้น้อย เพราะ “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นะครับ เพื่อจะได้เร่งผลักดันทุกวิถีทาง ในการแก้ไขปัญหาความยากจน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ด้วยแนวทางที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ และตรงกับความต้องการนะครับ ให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืนตาม “ศาสตร์พระราชา”ด้วยการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบร่วม ของทุกภาคส่วนในรูปแบบของ “ประชารัฐ” นะครับ ให้เกิดขึ้นได้โดยเร็ว

 

จังหวัดแม่ฮ่องสอน “เมืองสามหมอก” เป็นจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศ เพราะมีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน มีความสลับ ซับซ้อนนะครับ มากถึงร้อยละ 86 เป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรป่าไม้มากที่สุดในประเทศไทย และพื้นที่ส่วนใหญ่ 377 หมู่บ้านจากทั้งหมด 445 หมู่บ้าน อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตป่าสงวนและรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ, ต้นน้ำสำคัญของประเทศ ทำให้มีข้อจำกัดด้านที่ดินทำกินของประชาชนนะครับ เพราะผลผลิตทางการเกษตร ของป่า หรืออะไรก็ตามจากในป่า ไม่สามารถนำมาขายได้ เพราะผิดกฎหมาย

 

แม้ว่ากฎหมายในอดีตจะมีเจตนารมณ์ที่ดี ที่ต้องการอนุรักษ์ผืนป่าและลุ่มน้ำในประเทศไว้ให้มากและสมบูรณ์ที่สุด แต่ในขั้นการบังคับใช้กฎหมายอาจจะสร้างปัญหาใหม่ ที่รื้อรังคาราคาซังมากนานนะครับ เพราะประกาศพื้นที่ป่าอาจจะทับพื้นที่ทำกินของพี่น้องประชาชน ที่ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่า, ชาวเขา ซึ่งมีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับป่ามาก่อน เมื่อเวลาผ่านไปยิ่งทำให้ปัญหาลุกลามมากขึ้น และดูเหมือน “การอนุรักษ์จะสวนทางกับการพัฒนา”

 

หลักคิดในการแก้ปัญหาของรัฐบาลนี้ มี 2 หลักใหญ่ๆ นะครับ ก็คือ (1) ใช้นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ มาร่วมพิจารณา เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหา (2) เหมือนกับเราไม่ “ไม่ตัดเสื้อโหล” นะครับ คือ แก้ปัญหาบนพื้นฐานความแตกต่าง ไม่ใช้โมเดลเดียวกับทุกปัญหาทั่วประเทศ เพราะข้อเท็จจริงแตกต่างนะครับ ทั้งพื้นที่ ทั้งประชาชน อาชีพ นะครับ สภาวะแวดล้อมต่างๆ ไม่เหมือนกันทั้งหมดนะครับ เพราะฉะนั้นเราต้องประยุกต์หลักการต่างๆ หลักกฎหมาย ให้เหมาะสมกับเอกลักษณ์ของพื้นที่นะครับ แต่ต้องทำให้ถูกต้อง

 

ในครั้งนี้ ผมได้มีโอกาสเดินทางไปตรวจเยี่ยมแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและการยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องชาวแม่ฮ่องสอนในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการเกษตร การพัฒนาอาชีพและรายได้ การจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการส่งเสริมวัฒนธรรม คุณธรรม และการท่องเที่ยว ได้ไปเป็นประธานสักขีพยานในการมอบสมุดประจำตัว ผู้ได้รับการคัดเลือกจำนวน 120 ราย นะครับ รับสิทธิ์ในที่ทำกิน ตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งก็เป็นการจัดระเบียบการใช้พื้นที่ให้ถูกต้องนะครับ โดยไม่สามารถขายสิทธิ์ได้ แต่ถ่ายโอนให้ทายาทได้ และชุมชนต้องช่วยกันดูแลนะครับ ที่ผ่านมาการปลูกพืชในพื้นที่ที่ผิดกฎหมาย ภาครัฐไม่สามารถรับรอง ต่างชาติจะไม่รับซื้อผลผลิต

 

วันนี้รัฐบาลนี้ได้นำโครงการ คทช. เข้ามาแก้ไข ในวันหน้า “คนอยู่กับป่า” ตามแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ โครงการสร้างป่าสร้างรายได้ “รัฐได้ป่า ประชามีสุข” แก้ไขความยากจน แก้ไขการบุกรุกป่าในพื้นที่ต้นน้ำ เพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ภายใน 20 ปี “พลิกฟื้นผืนป่า สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งก็เป็นไปตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ นะครับ ที่ทรงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในโครงการต่างๆ นะครับ

 

จากการพูดคุยกับพี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมในโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ได้แก่ โครงการเกษตรแปลงใหญ่ โครงการตามพระราชเสาวนีย์ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9เช่น โครงการขยายพันธุ์กล้วยไม้ป่าเอื้องแซะ เป็นกล้วยไม้ที่หายากชนิดหนึ่ง แต่ทว่าความงดงามของดอก และกลิ่นหอมคล้ายดั่งดอกพิกุลที่ทำให้รู้สึกเย็นสบาย สดชื่น และเยือกเย็น

 

การส่งเสริมการเลี้ยงไก่เพื่อเพิ่มอาหารโปรตีนให้กับพี่น้องประชาชน และการส่งเสริมการเลี้ยงแกะของศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์แม่ฮ่องสอน รวมไปถึงการส่งเสริมสินค้าเกษตรกรรม เช่น บุก ถั่วลายเสือ กาแฟ นะครับ รวมความไปถึงเรื่องผ้าขนสัตว์นะครับ ผ้าขนแกะซึ่งมีการปรับปรุงคุณภาพแล้วในเวลานี้นะครับ ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชนต่อไปด้วย นะครับ เราต้องนำเข้าสู่การขับเคลื่อนให้ได้อย่างยั่งยืนนะครับ

 

จากเวทีการประชุมคณะรัฐมนตรี ร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ สรุปได้ว่า รัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และยกระดับการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ผ่านหลายมิติด้วยกัน อาทิ (1) การแก้ไขปัญหาความยากจน โดยเราจะกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพน้ำพุร้อนธรรมชาติในจังหวัดแม่ฮ่องสอนจำนวน 6 แห่ง ซึ่งต้องหาความแตกต่างจากที่อื่นๆ ของประเทศ และสร้างจุดขาย สร้างเรื่องราว

 

ผมเคยเห็นการทำธุรกิจบ่อน้ำแร่ “ออนเซ็น” ประเทศญี่ปุ่น บางแห่งสร้างจุดขายด้วยการเต็มสี – กลิ่น ชาเขียว ดอกไม้ ช็อกโกแลต น้ำนม หรืออื่นๆ เพื่อสร้างสีสัน และบรรยากาศ ที่แปลกใหม่ น่าสนใจได้ด้วย ก็ลองพิจารณากันดูต่อไป

 

(2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายทางอากาศ เส้นทางบินตรงกรุงเทพฯ – แม่ฮ่องสอน ซึ่งเร็วๆ นี้ ก็จะมีสายการบินเปิดให้บริการเส้นทางเชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอนเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ใช้บริการ ส่วนการขนส่งระบบโครงข่ายรางนั้น ต้องกลับไปศึกษาความเป็นไปได้โดยต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าด้วย อนาคตอาจจะมีได้

 

(3) การลดความเหลื่อมล้ำ โดยจะเร่งการจัดที่ดินทำกินตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งจะทำไปทุกๆจังหวัดด้วย (4) การพัฒนาประสิทธิภาพการเข้าถึงการให้บริการของภาครัฐ ทั้งบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การพัฒนาแหล่งน้ำ และการพัฒนาสถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ทั้งเรื่องของไฟฟ้า และอินเตอร์เน็ตให้กับพี่น้องประชาชน

 

ที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงสวนหนึ่งที่ รัฐบาลรับฟังมา และเราก็จะนำสู่การปฏิบัติ รัฐบาลจะไม่ทิ้งข้อเสนอทุกข้อ ก็ขอให้ภาคเอกชน ประชาชน จงเชื่อมั่นต่อการทำงานของรัฐบาล และขอให้บุคลากรของรัฐทุกระดับได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน เราต้องทำงานอย่างหนักและต้องเน้นการทำงานอย่างมีส่วนร่วมด้วยความเข้าใจกับทุกภาคส่วน ข้าราชการต้องเข้าใจให้มากที่สุด ให้เกิดความยั่งยืนภายใต้แนวคิด “ไทยนิยมยั่งยืน”

 

ทั้งนี้ การเดินทางไปเยี่ยมเยียนแต่ละครั้ง ผมต้องการให้สามารถนำข้อเสนอต่างๆ มาผลักดันในระดับรัฐบาล ในครม. เพื่อจัดทำโครงการหรือหาวิธีการที่จะตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนได้อย่างตรงจุด แต่ละพื้นที่มีจุดเด่น ปัญหา และโครงสร้างที่ต่างกัน

 

ผมให้ความสำคัญกับการได้ลงไปสัมผัสเอง ได้เห็นเอง และฟังเอง เพื่อนำข้อเท็จจริงที่ได้ มาขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ และหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชนให้ได้เร็วที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ นะครับ ทุกเรื่องนะครับรับไปไปพิจารณาหมด ไม่ว่าจะมาจากศูนย์ดำรงธรรม ส่วนราชการ หรือการร้องเรียนต่างๆ ผมก็นำเข้าสู่การหารือ เข้าสู่การชี้แจง เข้าสู่การขับเคลื่อนทั้งหมด อะไรที่ทำได้ ผมทำให้ทั้งหมด

 

พี่น้องประชาชนที่รักครับ, การพัฒนาประเทศ เราจะต้องทำทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ให้มีความสอดคล้อง เกื้อกูลกันนะครับ ในระดับชาติ รัฐบาลต้องเร่งสร้างทั้งบรรยากาศที่ดึงดูดการลงทุน สร้างความเชื่อมั่น และอำนวยความสะดวก ทั้งในเรื่องกฎระเบียบ สิ่งอำนวยความสะดวก การคมนาคมขนส่ง การติดต่อสื่อสาร

 

ส่วนในระดับท้องถิ่น ก็ต้องมียุทธศาสตร์ของตนเอง ที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยวิเคราะห์จุดแข็ง จุดขาย ขยายผลไปสู่การปฏิบัติ โดยอาศัยกลไกประชารัฐในพื้นที่ก่อน รัฐบาลก็จะเข้าไปเสริม เติมเต็มในส่วนที่ขาด ก็จะบริหารราชการทั้งแกน X และแกน Y

 

ภาพรวมการพัฒนาของประเทศในปัจจุบันนั้น มีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่สำคัญ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่ ดังนี้…ด้านคมนาคมขนส่งได้แก่ (1) การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง “มอเตอร์เวย์” 3 สายทางคือ เส้นทางหมายเลข 7 พัทยา – มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร ซึ่งจะเปิดให้บริการได้ในปี 2562 เชื่อมกับชลบุรี – พัทยา ที่สอดคล้องกับแผนการปรับปรุงโครงข่ายทางถนน พื้นที่รอบสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมทั้งการพัฒนาในพื้นที่ EEC เส้นทางหมายเลข 6 บางปะอิน –นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร จะเปิดให้บริการได้ในปี 2563 เส้นทางหมายเลข 81 บางใหญ่ – กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร จะเปิดให้บริการได้ในปี 2563 เช่นกัน

 

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเส้นทางที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เช่น ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม – ชะอำ ระยะทาง 109 กิโลเมตร สายหาดใหญ่ – ชายแดนไทย-มาเลเซีย ระยะทาง 71 กิโลเมตรสายรังสิต – บางปะอิน ระยะทาง 18 กิโลเมตร สายธนบุรี – ปากท่อ ระยะทาง 75 กิโลเมตร ซึ่งภายในปีนี้ จะเป็นการศึกษาความเหมาะสม การสำรวจออกแบบ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA รวมทั้งรูปแบบการให้เอกชนร่วมทุน และเป็นขั้นตอนการก่อสร้างต่อไป

 

(2) โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีกำหนดการเปิดให้บริการ ตามลำดับดังนี้ ปีนี้ สายสีเขียวใต้ ปี 2563 จะเปิดให้บริการอีก 4 สาย คือ สายสีน้ำเงิน – สีเขียวเหนือ – สีชมพู – และสีเหลือง

          

ปี 2565 จะเปิดให้บริการ “ส่วนต่อขยาย” ของ 3 สาย คือ สายสีน้ำเงิน สายสีเขียวเหนือและใต้ และช่วงปี 2566 – 2567 จะเปิดให้บริการอีก 3 สาย คือ สายสีม่วงใต้ สายสีส้ม ทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก

 

ทั้งนี้ เพื่อให้รองรับการขยายตัวของเมืองและเศรษฐกิจ รวมทั้งแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่เมืองหลวงของประเทศด้วย ช่วงนี้คงต้องลำบากไปสักระยะหนึ่ง ไม่งั้นก็ไม่ได้สร้างสักที ในเมื่อเราไม่ได้สร้างกันมานานแล้ว สร้างพร้อมๆกันย่อมเกิดปัญหา แต่เราก็ต้องทำให้ได้ เพื่อวันหน้าการจราจรจะดีขึ้น ในพื้นที่เมืองหลวงของประเทศเราต้องแก้ให้ได้ทุกมิติ ที่สำคัญที่สุดคือการเคารพกฏจราจรด้วยนะครับ

 

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้แก่ โครงการ “เน็ตประชารัฐ”พร้อมจัดให้มีจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย (Wi-Fi) โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจากผู้ใช้บริการ หมู่บ้านละ 1 จุดให้บริการครอบคลุมหมู่บ้านเป้าหมายห่างไกลที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึง ซึ่งติดตั้งแล้วเสร็จครบจำนวน 24,700 หมู่บ้าน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ปีที่แล้ว

 

หากนับรวมกับหมู่บ้านที่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึงอยู่แล้ว 30,613 หมู่บ้าน ก็ถือได้ว่าประเทศไทยจะมีอินเทอร์เน็ตผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสงเข้าถึงแล้วกว่า 70% ซึ่งการใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน และประชาชนในพื้นที่นั้นได้ดำเนินกิจกรรมคู่ขนาน คือ การฝึกอบรมครู กศน. จำนวน 1,000 คนให้เป็นวิทยากรแกนนำสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐ 5 ครั้ง ทั่วประเทศ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมปีที่แล้ว เช่นกัน

 

ระยะต่อไป คือ การนำความรู้ไปพัฒนาขยายเครือข่ายสู่ผู้นำชุมชนในท้องถิ่นจำนวน 100,000 คน ซึ่งจะเป็นผู้เชื่อมโยงขยายความรู้ไปสู่ประชาชนในหมู่บ้านเน็ตประชารัฐประมาณ 1,000,000 คน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการใช้ประโยชน์ อย่างคุ้มค่าในอนาคต

 

ประโยชน์ที่จะได้รับ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ดังนี้ (1) การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ได้แก่ ส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ด้อยโอกาส เข้าถึงความรู้และบริการของรัฐ เช่น การรักษาพยาบาลทางไกล การเข้าถึงข้อมูลการดูแลสุขภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เสริมสร้างความรู้พัฒนาฝีมือ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารทางการเกษตรได้มากขึ้น และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร ยกระดับเป็น Smart Farmer และเพิ่มศักยภาพศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อีกทั้ง ประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการภาครัฐ สามารถตรวจสอบข้อมูลของตนเองได้ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องเดินทางเข้ามาในเมือง สามารถกรอกคำร้องเพื่อขอคัดลอกข้อมูล คัดสำเนา ผ่านโครงข่ายเน็ตประชารัฐได้ เป็นต้น

 

(2) ด้านเศรษฐกิจ โอกาสการทำธุรกิจ เช่น การซื้อขายในรูปแบบ e-Commerce การค้าขายออนไลน์ ของร้านค้าประชารัฐรักสามัคคี ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)และวิสาหกิจชุมชน สินค้า OTOP ทั่วประเทศ ให้สามารถแข่งขันได้ ทั้งในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ สามารถประกอบธุรกิจที่ไหนก็ได้ในประเทศไทย

 

รวมทั้ง ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการให้บริการ ให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น สามารถเข้าถึงข้อมูลการเดินทาง ที่พัก แหล่งช้อปปิ้ง และร้านค้า - ร้านอาหารแนะนำ ที่สำคัญ เป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในภาพรวมด้วยนะครับ

 

จะเห็นว่ารัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ ในการสร้างความพร้อมของประเทศ และผมก็หวังว่าที่พูดมาทั้งหมด เพราะต้องการให้พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ / เราต้องปรับตัว และพัฒนาตนเองให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และได้เปรียบ นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลนี้ หวังดีกับพี่น้องประชาชนทุกคน ครับ

 

สุดท้ายนี้ ผมมีโครงการหนึ่งที่อยากจะเล่าให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้ฟัง คือ “โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind” ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่ผู้พิการตาบอด จำนวน 20 ชีวิต ร่วมกับนักปั่นจิตอาสาปั่นนำ อีก 20 ชีวิต จะรวมพลังสามัคคีปั่นจักรยาน จากกรุงเทพฯ ผ่านสุพรรณบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง และเชียงใหม่ เป็นระยะทางรวมกว่า 867 กิโลเมตร “9 วัน 9 จังหวัด”

 

ระหว่างวันที่ 28 มกราคม ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เพื่อหาทุนสนับสนุนการก่อสร้าง “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยในแต่ละจังหวัดที่ผ่านไปจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้คนในสังคมเห็นศักยภาพของผู้พิการ และให้โอกาสผู้พิการในการพัฒนาตนเอง เพื่อเป็นพลังในการพัฒนาสังคมต่อไปในอนาคต

 

โครงการดังกล่าว ทำให้ผมนึกถึงนิทานเรื่องหนึ่ง คือ “นิทานไม้สั้น-ไม้ยาว” โดยครูคนหนึ่งต้องการทดสอบหลักคิดของลูกศิษย์ 2 คน ที่เรียนเก่งเหมือนกัน / ด้วยการยื่นไม้ที่มีความยาวเท่ากัน แล้วให้ลองหาวิธีการทำให้ไม้ของตน “ยาวกว่า” ไม้ของเพื่อนอีกคน คนแรกตอบว่า “ก็หาไม้มาต่อสิครับครู” ในขณะที่คนที่ 2 บอกว่า “ผมมีวิธีที่ง่ายกว่านั้น...” ว่าแล้วก็ทำการ “หักไม้”ของเพื่อนอีกคนให้สั้นลง ในขณะที่ของตนก็ยาวเท่าเดิม แต่ก็ยาวกว่าเพื่อน ตามโจทย์ของครู

 

แม้ว่าครูจะไม่เฉลย วิธีที่ถูกต้อง แต่ผมคิดว่าพี่น้องประชาชน คงพอจะมีคำตอบในใจแล้ว ว่าการที่เราจะ “ดีกว่า” คนอื่นได้นั้น เราควรใช้การ “พัฒนา” ศักยภาพของตนเองอยู่เสมอ ไม่ใช่“การทำลาย หรือขัดขวาง” คนอื่น หากสังคมของเรามีแต่คนประเภทแรก ประเทศชาติก็จะมีแต่การพัฒนา เกิดแต่สิ่งที่ดีกว่า ดียิ่งขึ้น เพราะไม่มีใครบั่นทอนความเจริญของใคร

 

สำหรับ “โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกันฯ” นั้น ผมก็อยากให้ทุกคนได้สนับสนุน “นักปั่นที่บกพร่องทางสายตา” แต่มากด้วยศรัทธา และไม่ยอมแพ้โชคชะตา โดยลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่น่ายกย่องดังกล่าว นะครับ ก็ขอให้ทุกคนปลอดภัยด้วยนะครับ ขอให้ประสบความสำเร็จที่มุ่งหวังตั้งใจไว้ ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน ทุกครอบครัว” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"