18 ก.ค.61- เพจ Erawan36 โพสต์ข้อความ เผยเรื่องเล่าในถ้ำหลวงจากอดีตซีลของเชฟรอน ภารกิจสุดหินในถ้ำหลวงที่พลาดไม่ได้แม้นาที โดยระบุว่า
สวัสดีครับ หลายคนคงจะทราบแล้วว่าเรามีอดีตซีลหรือหน่วยซีลนอกราชการ ที่ปัจจุบันเป็นพนักงานของเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ไปช่วยปฏิบัติงานสนับสนุนภารกิจดำน้ำในถ้ำหลวงถึ่ง 3 คน วันนี้เมื่อผมได้ข่าวว่าทุกๆ ท่านได้เสร็จจากภารกิจและเดินทางกลับศูนย์เศรษฐพัฒน์ของเชฟรอนที่ จ. สงขลา กันแล้ว ผมจึงติดต่อไปและได้มีโอกาสพูดคุยกับ อาจารย์ สุธน ทะวา หน่วยซีลนอกราชการ ซึ่งปัจจุบันเป็น Security Specialist ประจำที่ฐานปฏิบัติการบนฝั่ง สงขลา ขอให้ท่านแชร์ประสบการณ์ที่ถ้ำหลวงให้ฟัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งน่าตื่นเต้นและน่าประทับใจ แบบอินไซท์สุดๆ ผมจึงขออนุญาตอาจารย์สุธนนำประสบการณ์ของท่านมาแบ่งปันให้ชาวเพจเอราวัณ 36 ได้ฟังกันบ้าง น่าประทับใจและท้าทายขนาดไหน มาฟังกันครับ
—————————————————————
#เล่าเรื่องขวดอากาศ (หรือที่คนทั่วไปเรียกถังออกซิเจน แต่จริงๆ คือถังบรรจุอากาศเพื่อหายใจขณะดำน้ำ) ให้ฟังหน่อยได้มั้ยครับ ที่กลายเป็นข่าวไปทั่ว social media นี่ เชฟรอนเข้าไปช่วยได้ยังไงครับ
ตอนนั้นน่าจะประมาณวันที่ 30 มิถุนายนครับ ทาง ผ.บ. หน่วยซีลแจ้งมาเลยครับ แจ้งมาทางอาจารย์พุก (คุณดุลยพินิจ ภู่อยู่) ว่าขวดอากาศไม่พอ จะขอสนับสนุนจากทางเชฟรอนได้ไหม เพราะต้องใช้อีกถึง 200 ขวด ผมเลยคุยกับทางแผนกจัดซื้อฯ ตอนทุ่มนึงว่าจะหาขวดอากาศให้เขาได้ยังไง ตอนแรกเราดูว่าจะเช่าได้ไหม แต่ไม่มีที่ไหนให้เช่าเลย เพราะต้องเอาไปทำงานหนัก พวกเขากลัวขวดพัง เราจึงกลับมาตรงทางเลือกว่าซื้อ และติดต่อไปทางคุณกิตติพงศ์ ที่เป็น Bangkok Incident Commander หรือหัวหน้าหน่วยบัญชาการภารกิจนี้ที่กรุงเทพฯ โดยให้ทางแผนกจัดซื้อฯ ประเมินราคาของมาประมาณเกือบ 2 ล้าน โดยถามคุณกิตติพงศ์ว่าเราจะซื้อได้ไหม รอแค่ 10 นาทีเท่านั้นครับ ก็ได้รับแจ้งมาว่าผู้บริหารอนุมัติแล้วตามที่ร้องขอ ไม่มีปัญหาอะไรเลย ผมจึงส่งข้อความไปบอกทางหน่วยซีลว่าทางเชฟรอนอนุมัติแล้ว พวกเขาก็ร้อง เย้.. ดีใจกันใหญ่เลยครับ
เรายังส่ง backpack ไปให้ด้วยครับ (เป้สะพายหลังที่ใช้ใส่ขวดอากาศ) แต่เราหาทั้งประเทศไทยมีแค่ 64 อัน ทางเชฟรอนก็เหมาส่งไปให้ทั้งหมดเลยครับ เราหาทุกอย่างเท่าที่เราหาได้ในประเทศไทยเพื่อไปสนับสนุนงานนี้
#อาจารย์สุธนตามไปสมทบที่หน้าถ้ำได้ยังไงครับ
จริงๆ แล้วผมบอกอาจารย์มิ่ง (คุณมัจฉริยะ ครไชยศรี) กับอาจารย์พุกว่าผมขอเป็นฝ่ายสนับสนุนกองหลัง จะได้เป็นฝ่ายประสานงานหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆให้ เพราะกลัวไปที่หน้างานกันหมดแล้วการติดต่อสื่อสารจะไม่สะดวก พอเหตุการณ์ผ่านไปสักพักจึงคิดว่าอุปกรณ์ของเราน่าจะครบถ้วนแล้ว ผมจึงขอตามไปสมทบในพื้นที่ โดยผมได้เอา Gas Detector 5 เครื่อง (สามารถวัดระดับอ๊อกซิเจนในอากาศได้) จากศูนย์เศรษฐพัฒน์ไปด้วย เพราะทางทีมช่วยเหลือร้องขอมา เมื่อออกจากสนามบิน ผมตรงไปที่ถ้ำเลย ผมได้บรีฟเรื่องการใช้เครื่องวัดออกซิเจนในถ้ำ และข้อจำกัดเรื่องความปลอดภัยต่างๆ ให้ทีมดำน้ำฟัง โดยที่เราได้ยินข่าวที่ออกมาว่าออกซิเจนภายในถ้ำลดระดับลง ก็เป็นผลมาจากเครื่อง gas detector ที่ทางเรานำไปมอบให้ครับ
#เล่าเรื่องภารกิจในการดำน้ำหน่อยได้ไหมครับ
ช่วงประมาณวันที่ 7 กรกฏา ก่อนน้องๆ หมูป่าออกจากถ้ำ ผมได้ร่วมภารกิจดำน้ำเพื่อนำอาหารและขวดอากาศเข้าไปด้านในโถง 3 การดำน้ำเข้าโถง 3 ทำงานค่อนข้างลำบาก มือขวาสาวเชือก มือซ้ายลากขวดอากาศ มุดลอดช่องหินขึ้นไปส่งของด้านในครับ ก็ได้สัมผัสประสบการณ์ตรงเลยว่ากระแสน้ำแรงมาก และต้องดำทวนน้ำตลอด จริงๆ ก่อนหน้านั้นก็มีคนมาอธิบายก่อนว่าดำน้ำไปจะเจออะไรบ้าง ต้องระวังเชือกพันคอ สายโทรศัพท์ ฯลฯ ทัศนวิสัยไม่เห็นอะไรเลยครับ เหมือนหลับตาดำน้ำ แล้วในถ้ำก็เป็นเนินชันๆ ค่อนข้างอันตราย ความน่ากลัวอีกอย่างคือ เมื่อพักเครื่องปั๊มน้ำ (จะพัก 20 นาที ทุกชั่วโมง) แค่ 10 นาที ระดับน้ำจะสูงขึ้นถึง 20 เซ็น น้ำขึ้นไวมากๆ ต้องเตือนกันล่วงหน้าเพื่อไม่ให้ตกใจ
#เห็นว่ามีส่วนร่วมในการนำเด็กๆและโค้ชออกมาจากถ้ำด้วยหรอครับ
ใช่ครับ วันแรกที่นำเด็กออกมาได้เป็นวันอาทิตย์ เราแบ่งเป็นทีมละ 5 ทีม เพื่อรับเด็กจากโถงสาม ผ่านโถงสองไปที่ปากถ้ำ แต่ละทีมมีจำนวนคนน้อยมากแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ ระยะทางและลักษณะเส้นทางแคบกว้าง หน้าที่ของพวกเราคือ รับเด็กที่อยู่ในเปลสนามจากโถง 3 แล้วลำเลียงต่อกันมาเรื่อยๆกระทั่งถึงปากถ้ำด้วยความปลอดภัย โดยผมเป็นหัวหน้าทีมชุดที่ 5 พื้นที่ที่รับผิดชอบคือพื้นที่สุดท้ายก่อนออกจากถ้ำ เพื่อนร่วมทีมวันแรกมี 10 คน วันที่สองเพิ่มเป็น 12 คน วันที่สาม ขอเพิ่มเป็น 18 คน เพราะยิ่งทำยิ่งรู้ว่ามีความเสี่ยงสูงหากใช้คนน้อยๆ เราทำงานร่วมกันกับทหารบก ซีลประจำการ และซีลนอกราชการครับ ตอนนั้นต้องระวังมากๆ เพราะเส้นทางในการนำพาน้องๆ มาปากถ้ำค่อนข้างอันตรายมีทั้งทางดิ่ง มีเนินขึ้นเนินลงที่ชันมาก ทางแคบ และลื่น ก่อนเคลื่อนย้ายจากจุดรับส่งทุกจุด จะมีแพทย์ พยาบาลประจำการแต่ละจุดคอยวัดชีพจรและค่าออกซิเจนของเด็ก รวมทั้งระหว่างการเคลื่อนย้ายจะมีเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาล ทั้งไทยและต่างประเทศคอยประกบตลอดเวลา เพื่อสังเกตุอาการเพื่อให้แน่ใจว่าสภาพร่างกายของเด็กๆ โอเคอยู่ เป็นงานที่ค่อนข้างกดดัน เราจะพลาดไม่ได้แม้แต่น้อยครับ เพราะทุกวินาทีมีชีวิตของน้องๆ ทีมหมูป่าเป็นเดิมพัน
#สุดท้ายนี้มีความประทับใจอะไรเกี่ยวกับภารกิจนี้บ้างครับ
ผมว่าทุกคนภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในภารกิจนี้ครับ สำหรับผมก็เป็นโอกาสที่มีไม่บ่อยนัก ที่จะได้กลับไปร่วมงานกับหน่วยซีลที่ผมเคยสังกัดอยู่ สิ่งที่ประทับใจคือทางผู้บริหารเชฟรอนให้การสนับสนุนและตอบสนองอย่างรวดเร็วมากๆ ทีมสนับสนุนจากกรุงเทพฯ ก็ทำงานกันเต็มที่ พนักงานทั้งบริษัทฯ ก็ส่งกำลังใจมาให้อย่างท่วมท้น ส่วนตัวผมตั้งแต่ทำงานมา ไม่เคยเห็นความร่วมมือกันที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ทุกๆ คนต่างเป็นจิ๊กซอว์สู่ความสำเร็จ ตลอดภารกิจก็พบเจอแต่ผู้คนที่มีน้ำใจ หลายๆโรงแรมพอรู้ว่ามาช่วยทำภารกิจนี้ก็จะไม่คิดเงิน เสื้อผ้าก็มีคนรับซักให้ฟรี หรือแม้แต้ร้านอาหารที่แม่สาย ถ้าใครมาช่วยงานนี่ก็ทานฟรีแทบทุกร้านครับ!!
Cr:เพจ Erawan36,Thai NavySEAL
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |