"มิติใหม่"ที่อยู่อาศัย"ผู้สูงอายุ"


เพิ่มเพื่อน    


    เป็นความท้าทายสังคมไทยอย่างมากกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คาดว่าในปี 2563-2573 ประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุ 11 ล้านคน หรือคิดเป็น 17% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ สวนทางกับอัตราเพิ่มของเด็กเกิดใหม่และคนวัยแรงงานที่ลดลง และไม่เพียงเป็นประเทศที่จะมีประชากรสูงวัยขึ้นเท่านั้น แต่ประชากรที่สูงอายุอยู่แล้วก็จะกลายเป็นสูงวัยมาก หรือเข้าสู่ภาวะชราภาพขึ้นไปด้วย ซึ่งหมายถึงโอกาสการเจ็บป่วย หรือมีภาวะทุพพลภาพก็จะมากขึ้นตามไปด้วย  
    ในเชิงวิชาการมีหลายสถาบันการศึกษา กำลังศึกษา คิดหาแผนรับมือกับสังคมสูงวัยของประเทศ แต่ในแง่ของตัวบุคคล ว่ากันตามจริง สถานการณ์ การหาทางหนีทีไล่ และเตรียมตัวรับสังคมผู้สูงอายุ ยังตื่นตัวและกระจุกอยู่ที่ผู้ที่กำลังเข้าสู่ภาวะสูงวัย หรือเข้าสู่ช่วงสูงวัยแล้วจริงๆ เท่านั้น แต่สำหรับผู้อยู่ในวัย 30 กว่าๆ ในวันนี้ ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยคิดเรื่องการเตรียมการรับมือกับสภาพสูงวัยของตนเองในอนาคต 
    ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ชีวิตสูงวัยมีความซับซ้อนที่เรื่องราวมากมายที่ต้องบริหารจัดการ เพราะชีวิตสูงวัยก็เหมือนการเข้าสู่วงรอบใหม่ของวัฏจักรชีวิต เหมือนเราก้าวพ้นจากวัยเด็กเป็นวัยรุ่น จากวัยรุ่นเป็นวัยหนุ่มสาว จากวัยหนุ่มสาวเป็นวัยทำงาน และจากวัยทำงานก็จะเป็นวัยของผู้สูงวัย
    คำว่า "สูงวัย" ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ความเสื่อมถดถอยทางร่างกายเท่านั้น หรือความสามารถบางอย่างที่เคยมีในวัยหนุ่มสาวจะหดหายไป โดยเฉพาะความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง ทั้งการเดินเหิน การออกท่องเที่ยวเดินทาง ที่จะไม่เหมือนเดิม แต่ยังหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม สังคมรอบตัวอีกด้วย 
    รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในแง่กายภาพ "บ้าน" ที่เคยอยู่อาศัยมา 30-40 ปี อาจไม่สามารถตอบโจทย์กับชีวิตในวัยนี้ ยิ่งถ้าเจ็บป่วยถึงขั้นเดินเหินไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็น ประตู ทางเดิน หรือห้องน้ำของบ้านเดิมที่เคยอยู่ อาจกลายเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการขาดคนดูแลที่หายากขึ้นทุกวันอีกด้วย 
    ด้วยเหตุนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงมีภาคธุรกิจหลายรายหันมาจับโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุมากขึ้น และจิณณ์ เวล บีอิ้ง เคาน์ตี้ (Jin Wellbeing County ที่เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ผุดโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ "ภายใต้คอนเซ็ปต์" เมืองแนวคิดใหม่เพื่อคนวัยเกษียณ" ซึ่งจะมีทั้งที่พักอาศัยที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยตรง บนเนื้อที่กว่า 140 ไร่ ริมถนนพหลโยธิน รังสิต จ.ปทุมธานี พร้อมกับศูนย์สุขภาพ คอมมูนิตี้มอลล์ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ 2 แห่งในพื้นที่โครงการเดียวกัน 

(เตียงสูงระดับเข่า เหมาะแก่การลุกนั่งหรือยืนของผู้สูงอายุ)

    ตัวโครงการมีทั้งหมด 1,380 ยูนิต เฟสแรกที่มีประมาณ 500 ยูนิต ก่อสร้างเสร็จในเดือน พ.ย.ปีนี้ ขนาดของห้องแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ 43 ตารางเมตร และ 67ตารางเมตร ขณะนี้มีผู้จองเข้ามาแล้วประมาณกว่า 100 ยูนิต 
    ด้านการออกแบบจิณณ์ เวล บีอิ้งฯ ได้รับรางวัล EFA หรือ Enviroment Design Showcase 2018 จากสหรัฐอเมริกา หนึ่งเดียวในเอเชีย แม้แต่ประเทศญี่ปุ่นที่ถือว่ามีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุยังไม่เข้าเกณฑ์ เนื่องจากที่นี่มีการแบ่งพื้นที่ให้กับสภาพแวดล้อมธรรมชาติถึง 50% ความสะดวกและประโยชน์ใช้สอยแต่ละห้องยึดหลัก Universal Design มีประโยชน์กับคนทุกวัย
    "ประตูห้องของเรากว้างไม่ต่ำกว่า 90 ซม. เผื่อไว้สำหรับการให้ผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นสามารถเข็นเข้า-ออกได้สะดวก นอกจากนี้ พื้นที่ในห้องจุดที่เคลื่อนตัวยังกว้างไม่ต่ำกว่า 1.50 เมตร เพื่อให้รถวีลแชร์สามารถหมุนกลับตัวได้" นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ รองประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) THG กล่าวแนะนำในโอกาสพาสื่อมวลชนทัวร์ห้องตัวอย่างของโครงการ 

(นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ กำลังอธิบายขนาดความกว้างของประตูห้องที่ต้องมีไม่น้อยกว่า 90 ซม.)

    คุณหมอธนาธิปยังชี้ชวนให้ดูแต่ละจุดอีกว่า ในส่วนของห้องน้ำยังกว้างกว่าคอนโดมิเนียมทั่วไป มีพื้นที่พอที่รถวีลแชร์เข็นเข้าไปได้ ตำแหน่งที่วางของอ่างล้างมือและชักโครกที่มีราวจับข้างๆ ยังเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ใช้รถเข็นอีกด้วย นอกจากนี้ ความสูงของเตียงที่มีการคิดมาอย่างละเอียดแล้ว ยังไม่สูงเท่าเตียงโรงแรม หรือเตี้ยเกินไป ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุลุกจากเตียงได้ยาก แต่ความสูงประมาณเข่าของผู้สูงอายุทำให้ลุกจากเตียงได้ง่าย ส่วนพื้นก็ใช้วัสดุที่มีความนุ่มในตัวเล็กน้อย ไม่แข็งเกินไป เพื่อรองรับกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด หากเกิดอุบัติเหตุหกล้มก็จะไม่ได้รับบาดเจ็บมาก
    "ทุกอย่างเราคิดไว้แล้ว เรื่องมาตรฐานเพื่อผู้สูงอายุ จะเห็นได้ว่าพื้นห้องจะไม่มีพื้นต่างระดับ เพื่อที่ว่ารถเข็นจะได้เข็นไปได้ทั่ว ซึ่งเราจะทำยังไง ถ้ามีญาติผู้ใหญ่ในบ้านต้องนั่งรถเข็นไปอีก 10-20 ปี ก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนบ้าน ทำห้องน้ำใหม่ เพื่อไม่มีพื้นต่างระดับ ประตูก็ต้องกว้างกว่าเดิม ไม่ต่ำกว่า 90 ซม. มีพื้นที่รถหมุนวงเลี้ยว 1.50 ซม.ได้โดยไม่ต้องมีคนช่วย แต่ที่นี่เรามีให้ครบครัน"
    นอกจากนี้ ที่จิณณ์ เวล บีอิ้งฯ ยังมีระบบ Tracking System หรือระบบติดตามตัวผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยในโครงการทุกคน รองรับเหตุไม่คาดฝัน ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว หากเกิดหกล้มภายในห้องพักก็จะมีสัญญาณเตือนภัยไปยังหน่วยพยาบาลฉุกเฉินที่มีอยู่ในโครงการตลอด 24 ชั่วโมง ให้รีบรุดมาดูแล
    "เคยได้ยินมั้ยคะว่า ผู้สูงอายุบางคนนอนๆ อยู่แล้วไม่หายใจ คนนอนข้างๆ ก็ไม่รู้ แต่ถ้าใส่ Tracking System ระบบจะเตือนไปที่หน่วยฉุกเฉินทันที หากหัวใจหยุดเต้น หรือหัวใจเต้นอ่อนกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ ระบบติดตามตัวนี้จะเป็นเหมือนผู้ดูแลสุขภาพไปในตัว เช่น ถ้าเป็นโรคความดัน ก็จะมีระบบเตือนว่าไม่ควรออกกำลังกายประเภทใด หรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ เป็นเบาหวาน ระบบก็จะเตือนไม่ให้กินน้ำตาลเกินกี่ช้อน ซึ่งข้อมูลสุขภาพของแต่ละคนจะเป็นความลับ และแทรกกิ้งนี้ยังใส่ได้ตลอดแม้เวลาอาบน้ำ" ฐิตารัตน์ อยู่วิทยา ผู้จัดการด้านการตลาดของโครงการ จิณณ์ เวล บีอิ้งฯ ให้ข้อมูล

(ห้องน้ำที่กว้างพอกับการหมุนของวงล้อรถวีลแชร์)


    แม้จะคลายกังวลในเรื่องเหตุไม่คาดฝัน ทั้งอุบัติเหตุและโรคประจำตัว เพราะที่นี่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเครือโรงพยาบาลธนบุรีตั้งอยู่ในพื้นที่ถึง 2 แห่ง และมี Wellness Center อีก 2 อาคาร เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ต้องอภิบาลได้รับการดูแล แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีปัญหาสุขภาพ ชีวิตจะเหี่ยวเฉา เหมือนนกน้อยในกรงทองหรือไม่ ฐิติรัตน์ยืนยันว่าโครงการมีเจตนาให้ผู้มาอยู่อาศัยมีชีวิตที่เป็นสุข มีชีวิตชีวา ไม่หงอยเหงา โดยการจัดกิจกรรมต่างๆ ไว้รองรับมากมาย ซึ่งแต่ละอย่างของกิจกรรม นอกจากจะทำให้ผู้อยู่อาศัยได้สุขภาพที่ดีแล้ว ยังได้สังคมเพื่อนฝูงอีกด้วย 
    "เราต้องการให้ห้องพักมีไว้แค่เป็นที่นอนเท่านั้น เราจะกระตุ้นให้ทุกคนลุกออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นการลบภาพบ้านพักคนชราเหมือนที่เคยเห็นกันในอดีตทั้งหมด และที่นี่จะไม่ใช่เมืองผู้สูงอายุที่มีแต่ความห่อเหี่ยว แต่เป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีชีวิตชีวา หรือเป็นการใช้ช่วงสุดท้ายของชีวิตที่น่าภาคภูมิใจที่สุด"
    เรื่องค่าใช้จ่ายการอยู่อาศัยที่นี่ แน่นอนว่าต้องมีเงินเก็บ เงินออม หรือรายได้พอสมควร เพราะจะมีค่าส่วนกลาง 60 บาทต่อตารางเมตร ค่าอำนวยความสะดวกอื่นๆ รวมถึงระบบติดตามตัว ค่าทำกิจกรรมรวมเป็นเดือนละ 1,500 บาท เรียกว่าค่าใช้จ่ายพื้นฐานไม่รวมค่าน้ำ ค่าไฟ จะมีประมาณ 5,000-6,000 บาท แต่คุณหมอธนาธิปยืนยันว่า ถ้าเป็นคนทำอาหารกินเองก็น่าจะมีค่าใช้จ่ายอีก 1 หมื่นบาท รวมเป็น 15,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น 
    นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ซื้อยูนิต แต่ยังไม่ได้มาอยู่อาศัย ทางโครงการก็มีระบบรับฝากดูแล บริหารห้องให้ มีการปล่อยเช่าเป็นรายวันหรือรายเดือน โดยมีการรับประกันผลตอบแทนปีละไม่ต่ำกว่า 6% ของราคาที่ซื้อที่เริ่มต้นยูนิตละ 4 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี หรือผลตอบแทนของการฝากบริหารจะตกประมาณปีละ 2 แสนบาท รวม 3 ปีเท่ากับ 6 แสนบาท 
    "ผมรับรองได้ว่าคนที่มาอยู่ที่นี่จะได้ทั้งคุณภาพชีวิต คุณภาพสุขภาพ และคุณภาพทางการเงินด้วยอย่างแน่นอน" คุณหมอธนาธิปยืนยัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"