เยือนชุมชนคนทำเทียนที่คุ้มวัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี
เดือนกรกฎาคมนี้ มีวันสำคัญทางพุทธศาสนาที่รู้จักไปทั่วโลก คือ วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา เทศกาลเข้าพรรษาของประเทศไทย ไม่ได้มีแค่ไหว้พระทำบุญ เวียนเทียน ถวายเทียนพรรษาเท่านั้น ที่ จ.อุบลราชธานี ยังมีงานแห่เทียนพรรษา ชาวอุบลราชธานีรวมใจสร้างสรรค์งานทำเทียนทุกชิ้นด้วยความวิจิตรงดงาม จนทำให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต้องมาชื่นชมสักครั้งในชีวิต ปีนี้งานกำหนดจัดในวันที่ 27-28 ก.ค.2561 โดยวันแรกจะเป็นวันที่รวมเทียนจากคุ้มวัดต่างๆ ที่บริเวณรอบทุ่งศรีเมือง วันถัดมาจะเป็นขบวนแห่เทียนสุดยิ่งใหญ่ไปรอบๆ ตัวเมือง
ช่างเทียนพรรษาบรรจงแกะเทียนพุทธประวัติด้วยศรัทธา
ในโอกาสที่นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ลงพื้นเตรียมการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จังหวัดอุบลราชธานี และอำนาจเจริญ เมื่อเร็วๆนี้ ได้เยี่ยมชมโบราณสถานและเยือนชุมชนคนทำเทียนพรรษา (ประเภทแกะสลักเทียน) ณ คุ้มวัดทุ่งศรีเมือง และการทำเทียนพรรษา ประเภทพิมพ์เทียน ณ วัดบูรพาราม ภายใน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ความงดงามทางวัฒนธรรมของเทียนอุบลฯ นี้ รมว.วธ.ได้มีส่วนร่วมในการทำเทียนด้วยตนเอง เพื่อร่วมกุศลผ่านต้นเทียน ทั้งนี้ วธ.จะผลักดันงานเทศกาลแห่เทียนพรรษาให้เป็นเทศกาลระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น
วีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วธ. ทดลองแกะสลักต้นเทียนอุบลฯ
สำหรับงานประเพณีแห่เทียนพรรษาปีนี้ คุ้มวัดทุ่งศรีเมือง เข้าประกวด โดยมีนายวิเชียร์ ภาดี เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการสร้างเทียนพรรษา และได้นายวิศรุต ภาดี ทายาท เป็นหัวหน้าช่างผู้จัดทำ พร้อมคณะทำงานอีกกว่า 20 ชีวิต ช่วงนี้คนทำเทียนต่างเร่งสร้างสรรค์ประติมากรรมต้นเทียนให้สวยงาม นักท่องเที่ยวเข้าชมกันได้ตลอดเดือน
วิศรุต ภาดี หัวหน้าช่างเทียนคุ้มวัดทุ่งศรีเมือง กล่าวว่า แห่เทียนพรรษา ถือเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของ จ.อุบลราชธานี สีสันของงานมีทั้งการแกะสลักต้นเทียนและการติดพิมพ์ ซึ่งแต่ละคุ้มวัดสมัครเข้าร่วมขบวนแห่ จะต้องนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติว่าด้วยพุทธชาดกทศชาติ โดยมีการจับฉลากกันไปแล้วว่า คุ้มใดนำเสนอพุทธชาดก 10 ชาติของพระพุทธเจ้า สำหรับวัดทุ่งศรีเมืองทำเทียนเรื่องทานกัณฑ์ เป็นกัณฑ์ที่ 3 ก็ศึกษาหาเรื่องราวในพุทธชาดกดังกล่าวเพื่อถ่ายทอดผ่านต้นเทียนขนาดใหญ่ จากนั้นเริ่มลงมือทำวันที่ 1 มิ.ย. สืบทอดกรรมวิธีดั้งเดิม ใช้ขี้ผึ้งกับเทียน 7-8 ตัน คืบหน้ากว่า 60% คนที่เข้ามาร่วมงานพร้อมใจกันแกะสดเป็นลวดลายไทยพื้นฐาน ลายประจำยาม ลายกนก ส่วนติดพิมพ์เทียนมีไม่ถึง 20% เป็นงานที่มาจากความศรัทธาในพุทธศาสนา
นักท่องเที่ยวสนใจชมการทำเทียนพรรษาวัดบูรพา
ทางด้านวัดบูรพาก็มีเทียนพรรษาให้ยล สุคม เชาวฤทธิ์ ช่างเทียนพรรษาดีกรีศิลปินโล่รางวัลชนะเลิศ มีประสบการณ์ทำเทียนพรรษามากกว่า 30 ปี ปัจจุบันเป็นผู้ควบคุมการผลิตเทียนคุ้มวัดบูรพา ศิลปิน สุคม เผยว่า ภาคภูมิใจได้ร่วมงานประเพณีแห่เทียนพรรษาสุดยอดของไทยและโลก หลังจับฉลากได้กัณฑ์หิมพานต์ในเวสสันดรชาดก ตนและทีมงานก็เริ่มสร้างเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์เทียนขนาดใหญ่ จับองค์ประกอบตามเรื่องราวกัณฑ์นี้ เตรียมแม่พิมพ์ ขึ้ผึ้ง เราปั้นพระเวสสันดรนั่งบนช้างปัจจัยนาเคนทร์ พร้อมทหารผู้ติดตาม และมีพราหมณ์จากต่างเมืองมาขอ สื่อตอนให้ทานช้างชัดเจน
หนึ่งในต้นเทียนใหญ่ร่วมขบวนแห่เทียนพรรษาเมืองดอกบัว
ลวดลายที่เหล่าช่างเทียนบรรจงตัดเพื่อนำมาประดับต้นเทียนหลายหมื่นชิ้น ศิลปินท้องถิ่นบอกว่าเป็นลายไทย ทั้งช่อต่อเปลว กระจังปฏิญาน กระจังรวน กระจังตาอ้อย เทพพนม น่องสิงห์ บัวฟันปลา ก้านขดใบเทศ เกลียวกนก กรุยเชิง รักร้อย บัวกาบ กนกเปลว ประจำยาม ลูกแก้ว ก้านขด ทับทรวง ผีเสื้อ ผสมผสานกับลายที่คิดขึ้น อย่างไรก็ตาม มีสะดุดเรื่องบประมาณบ้าง ยังขาดขี้ผึ้งใช้ทำลวดลายอยู่เกือบ 200 กิโลกรัม ราคาซื้อขายอยู่ที่ 7 หมื่นกว่าบาท และขาดเทียนอีก 10 กล่อง ประมาณ 1 หมื่นบาท ต้องการหน่วยงานมาสนับสนุนส่วนหนึ่ง
กลุ่มนักศึกษาจิตอาสาร่วมตัดลายที่วัดบูรพา
" คุ้มวัดบูรพายังอนุรักษ์การทำต้นเทียนแบบโบราณ ชาวบ้านหลอมรวมจิตใจมาถวายพระ ประชาชนมีจิตศรัทธามาบริจาคร่วมกัน ช่างทำเทียนก็ไม่ได้จ้าง และมีการรีไซเคิลขี้ผึ้งเก่าเพื่อลดต้นทุน จากเดิม 8 แสนบาท ประหยัดไปได้ถึง 2 แสนบาท ผมไม่อยากให้มองเป็นการลงทุนหรือผลประโยชน์ หลายวัดไม่มีเงินจ้างช่างก็ต้องถอย เลิกทำเทียน ซึ่งที่วัดบูรพามีนักศึกษาจิตอาสามาช่วยตัดลาย วันละ 50 คน เป็นการเรียนรู้นอกสถาบันการศึกษา แล้วยังมีกลุ่มชาวบ้าน ลูกศิษย์มาด้วยใจเต็มร้อย วิชาความรู้ผมถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ตลอดมา เกิดช่างทำเทียนตามคุ้มวัดต่างๆ " สุคมกล่าวถึงแก่นของการทำเทียนพรรษาแห่งเมืองดอกบัว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |