นิทรรศการ“สืบราชสันตติวงศ์วิพัฒน มหาวชิราลงกรณ”


เพิ่มเพื่อน    

 

     ในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 66 พรรษา วันที่ 28 ก.ค.2561 มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กระทรวงวัฒนธรรม และบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการ “สืบราชสันตติวงศ์วิพัฒน มหาวชิราลงกรณ” ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเผยแพร่พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ อันเป็นการสืบสานพระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราช เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและปวงชนชาวไทย โดยจัดขึ้นที่ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

 


    สำหรับเนื้อหานิทรรศการแบ่งเป็น 4 ภาค ประกอบด้วย ภาคแรก “บดินทรราชประวัติ” แสดงพระราชประวัติ พระราชจริยาวัตร เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ไปจนถึงด้านการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ และการขึ้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร 
    ภาคที่สอง “ขัตติยรัชชกรณีย์” แสดงพระราชกรณียกิจนานัปการของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประเทศชาติและประชาชนมาแต่ครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทั้งด้านการสังคมสงเคราะห์ เมื่อประเทศประสบภัยก็พระราชทานความช่วยเหลือทั้งด้านสิ่งของ พระราชทรัพย์ หรือด้านการเกษตรที่ทรงดำเนินโครงการเกษตร ทั้งยังทรงสนับสนุนการศึกษาและวิจัยด้านการเกษตร และด้านการแพทย์สาธารณสุข เช่น พระราชทานอุปกรณ์การแพทย์และทุนการศึกษา มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์สุขภาพชุมชน ฯลฯ แล้วก็ยังมีพระปรีชาสามารถด้านการทหาร ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านศาสนา ด้านสถาปัตยกรรมและมัณฑนศิลป์ ด้านภาษาและวรรณศิลป์อีกด้วย 

 


    ภาคที่สาม “กตเวทีราชกตัญญุตา” แสดงถึงพระกตัญญูกตเวทิตาธรรมแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื้อหาในภาคนี้ระบุว่า นับแต่ทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะแห่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศและในต่างประเทศ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ก็ได้ทรงแบ่งเบาพระราชภาระ เสด็จฯ ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ครั้นเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ ก็มีพระราชปณิธานที่จะทรงงานเจริญรอยตามพระยุคลบาท เพื่อสร้างสุขปวงประชาด้วยการ “สืบสาน รักษา ต่อยอด”

 


    และภาคที่สี่ “ราชวรากรกิตติคุณ” ในภาคนี้ระบุไว้ว่า การทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่อันกอปรด้วยพระเมตตาและพระปรีชาชาญ ทำให้พระเกียรติคุณเป็นที่ประจักษ์ทั้งในพระราชอาณาจักรและแผ่ไพศาลไปยังนานาประเทศ มีสถาบันต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญา เหรียญและรางวัลเพื่อพระเกียรติในหลายสาขา ได้แก่ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ ศิลปศาสตร์ พัฒนบริหารศาสตร์ นิติศาสตร์ ปรัชญาแพทยศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม บริหารธุรกิจ บริการชุมชน การศึกษา ศาสนาศึกษา พุทธศาสตร์ เข็มวิทยฐานะทองคำ ด้านการยุติธรรม เป็นต้น

 


    ผู้แทนจากมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กล่าวว่า เนื้อหาของนิทรรศการได้รวบรวมทั้งข้อมูล รูปภาพ ที่ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตโดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้นำมาเผยแพร่ ซึ่งได้มีการแบ่งเนื้อหาเป็น 4 ภาค มีการตั้งชื่อแต่ละภาคที่มีความหมายไพเราะและคล้องจองกัน ซึ่งการทำงานของมูลนิธิ เมื่อได้ค้นคว้าถึงพระองค์ท่าน ตั้งแต่ท่านยังทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทุกคนต่างก็พบว่าท่านทรงงานไว้มาก เพราะนอกจากพระปรีชาสามารถด้านการทหาร พระองค์ก็ยังทรงงานด้านการเกษตร ทรงคิดค้นโครงการต่างๆ ขึ้นมา ทั้งยังสนับสนุนงานด้านการศึกษา มีการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อสร้างโรงเรียนมัธยมในถิ่นทุรกันดาร และทรงรับไว้ในพระราชอุปถัมภ์ แล้วก็โครงการต่างๆ อีกหลายมุมที่คิดว่าประชาชนไม่เคยทราบกันมาก่อน แล้วก็ยังมีด้านศิลปวัฒนธรรม ประติมากรรม พระองค์ก็สนพระทัย พระองค์ทรงมีแนวคิด วิสัยทัศน์ ในการปฏิสังขรณ์ บูรณะพระราชตำหนักของพระองค์ แล้วก็ยังมีพระปรีชาด้านการแพทย์ การพยาบาล ท่านก็ทรงสืบสานจากสมเด็จพระบูรพกษัตริย์ 
    นอกจากนี้ ผู้แทนมูลนิธิยังกล่าวอีกว่า ในนิทรรศการนี้มีหลายมุมที่ประชาชนจะได้เห็น เช่น ภาพเมื่อครั้งพระองค์ทรงพระเยาว์ ขณะทรงชิงช้ากับพระพี่เลี้ยง แล้วก็มีภาพต้นรวงผึ้ง สัญลักษณ์ของความมงคล ที่เมื่อครั้งพระองค์พระราชสมภพที่พระที่นั่งอัมพร ต้นรวงผึ้งที่ ร.5 ทรงปลูกด้วยพระหัตถ์ บานสะพรั่งตอนที่พระองค์พระราชสมภพพอดี ก็ได้มีการนำภาพต้นรวงผึ้งเมื่อครั้งผลิบานมาให้ชมด้วย สำหรับผู้ที่พลาดจากการจัดในครั้งก็จะได้ไปจัดที่ต่างจังหวัดด้วย ทั้งภาคเหนือ ที่เชียงใหม่เดือนหน้า แล้วก็ภาคตะวันตก ที่วังไกลกังวล หัวหิน ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ใช้ศาลาราชประชาสมาคม และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการนี้ในวันที่ 3 ต.ค.  

 


    ด้าน อาจารย์สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง 2557 กล่าวว่า หลังจากได้ชมนิทรรศการ ตนคิดว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวน่าจะทรงโปรดดนตรีไทยมาตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ เพราะว่าในนิทรรศการมีภาพที่พระองค์ทรงขับร้องเพลงไทย และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดนตรีร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีภาพทรงดนตรีอีกจำนวนหนึ่ง แล้วก็จากประสบการณ์ที่ได้ยิน มีนักดนตรีเล่าว่า เวลาที่พระองค์ทรงออกกำลังพระวรกาย ท่านก็โปรดให้สำนักงานสังคีตจัดดนตรีเข้าไปถวายงาน พระองค์ท่านรับสั่งชื่อบทเพลงให้บรรเลง ก็แสดงว่าท่านรู้จักและคุ้นเคยกับเพลงไทยเป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่าดนตรีไทยสืบสานมาได้ถึงปัจจุบันก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของราชวงศ์ไทย ทุกวันนี้ดนตรีไทยที่บรรเลงกันไม่ค่อยมีให้เห็น แต่จะเห็นว่าพิธีการสำคัญในวังยังคงมีอยู่


    อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถเข้าชมนิทรรศการ “สืบราชสันตติวงศ์วิพัฒน มหาวชิราลงกรณ” ได้ทุกวัน ที่ไลฟ์สไตล์ ฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ระหว่างวันที่ 17-22 ก.ค.2561 และจะมีการจัดขึ้นอีกครั้งที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 16-26 ส.ค. และที่ศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 3-7 ต.ค.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"