นโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของประเทศไทย ถือว่ามีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในด้านนโยบายของรัฐ การตื่นตัวของภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคประชาชนที่ประเมินว่า มีความคุ้มค่าในการติดตั้ง โดยเฉพาะการติดตั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ทำให้การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ต้องรอจนกว่าจะมีการจัดทำแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ฉบับใหม่แล้วเสร็จ ซึ่งคาดกันว่าจะเป็นช่วงสิ้นปีนี้
อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย หรือโซลาร์รูฟท็อปนั้น แม้ว่ารัฐยังคงไม่มีนโยบายรับซื้อไฟเข้าระบบ แต่การติดตั้งเพื่อผลิตไฟใช้เองก็ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเทคโนโลยีมีการพัฒนาทำให้ต้นทุนค่าติดตั้งคุ้มทุนมากขึ้นตามลำดับ จึงไม่แปลกที่จะเห็นภาคธุรกิจทุกประเภทและภาคครัวเรือนต่างแห่กันติดตั้งเพื่อลดค่าใช้จ่ายกันแบบถ้วนหน้า
ปัจจุบันโซลาร์รูฟท็อปขนาด 2 กิโลวัตต์ ราคาประมาณ 120,000 บาท ทำให้ผู้ลงทุนที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ทั้งด้านการรับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หรือมาตรการรับซื้อไฟฟ้าก็สามารถคืนทุนได้ภายใน 7-8 ปี และอีก 17-18 ปี ที่เหลือถือเป็นการใช้ไฟในราคาที่ถูกมาก เนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้งาน 25 ปี และค่าไฟฟ้าที่ได้เฉลี่ยไม่ถึง 3 บาทต่อหน่วย
แต่ถ้าผู้ลงทุนรายใดเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม สามารถนำโครงการโซลาร์รูฟท็อปเข้าไปขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอได้ สมมติว่าโครงการมีมูลค่า 10 ล้านบาท หากนำไปเข้าขอรับส่งเสริมในหมวดที่ 7 ว่าด้วยกิจการบริการและสาธารณูปโภคของบีโอไอ ก็จะได้รับการลดหย่อนภาษีครึ่งหนึ่งของมูลค่าโครงการคือประมาณ 5 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำไปหักภาษีได้ทันที เท่ากับว่าจ่ายค่าก่อสร้างให้ผู้รับเหมาไปสิบล้านแล้วได้เงินคืนมาห้าล้าน วงเงินลงทุนก็จะลดลงเหลือแค่ 5 ล้าน หรือ 50% ระยะเวลาคืนทุนก็จะลดลงเหลือแค่ 3-4 ปีเท่านั้น...
ความคุ้มค่าทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ หันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกันมากขึ้นนั่นเอง อาทิ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA ได้แตกไลน์ธุรกิจ ตั้ง บริษัท เสนา โซลาร์ เอนเนอร์ยี่ ภายใต้การบริหารของ เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจร ทั้งธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) โซลาร์รูฟท็อปการให้คำปรึกษาการออกแบบการติดตั้ง ตลอดจนการบริการหลังการขาย
ทั้งนี้ บอสใหญ่ของ SENA ถึงกับออกปากทันทีว่า “ขณะนี้มีผู้สนใจติดตั้งแผงโซลาร์มากยิ่งขึ้น เพราะมีความคุ้มทุนในการประหยัดพลังงานประกอบกับแผงโซลาร์มีราคาลดลงต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ลูกบ้านในโครงการของเราเท่านั้น แต่รวมทั้งลูกค้าทั่วไปสนใจต้องการติดตั้งเพิ่มด้วยเช่นกัน โดยมีอัตราการเติบโตปีละกว่า 20% และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง”
อย่างไรก็ตาม กระแสการตื่นตัวในเรื่องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมีมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐเองที่ผ่านมาโดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ได้มีการวางแนวทางการปฏิรูปพลังงานเอาไว้ ซึ่งหนึ่งในแนวทางการปฏิรูปคือ การการส่งเสริมให้เกิดโซลาร์รูฟท็อปเสรี
แต่ก็ดูเหมือนว่ากติกาต่างๆ ที่จะตอบโจทย์ของคำว่าเสรีในเรื่องนี้ จะยังไม่ชัดเจนนักในทางปฏิบัติ ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในทุกๆ ด้าน เพราะโซลาร์รูฟท็อปถึงรัฐจะไม่เปิดรับซื้อไฟยังไงก็มาแน่!
และที่ลืมกันไม่ได้คือ เมื่อถึงเวลาสิ้นอายุการใช้งานของแผงโซลาร์ ก็ต้องมีกระบวนการกำจัดอย่างถูกวิธีเพราะอย่าลืมว่านั่นคือขยะอุตสาหกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม!.
บุญช่วย ค้ายาดี
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |