"กอบศักดิ์" ย้ำเหตุผลเลือก "อุบลฯ-อำนาจเจริญ" ประชุม ครม.สัญจรมีความพร้อม ไร้การเมืองแฝง แกนนำกลุ่มสามมิตรโคราชเดินสายดูด นปช.อีสานกว่า 10 จังหวัด อ้างเพื่อสร้างความปรองดอง เผยกลุ่มขอนแก่นโมเดลระบายความทุกข์ในใจ จ่อนัดประชุมใหญ่กว่า 500 คน อดีต ส.ส.ปชป.อุบลฯ จับตา "สุพล ฟองงาม" โดนดูด อาจเป็นจุดจบพท. "สุเทพ" แทงกั๊กหนุน "ประยุทธ์" เป็นนายกฯ ยันพร้อมร่วมมือกับใครก็ได้ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน
เมื่อวันอาทิตย์ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)สัญจรที่ จ.อุบลราชธานี และ จ.อำนาจเจริญ ในระหว่างวันที่ 23-24 ก.ค.นี้ อาจจะแฝงนัยทางการเมืองว่า ข่าวที่ออกมาไม่เป็นความจริง เพราะปัจจัยสำคัญที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจเลือก จ.อุบลราชธานี และ จ.อำนาจเจริญ เป็นที่ประชุม ครม.สัญจรในครั้งนี้ คือความพร้อมของพื้นที่ เพราะปกติแล้วการเตรียมการจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อให้พื้นที่ระดมทุกฝ่ายจัดเตรียมข้อเสนอโครงการสำคัญเพื่อเสนอ ครม.พิจารณา เมื่อชัดเจนว่าการประชุม ครม.สัญจรควรย้ายจากที่เดิม กำหนดไว้ที่ จ. เชียงรายและ จ.พะเยา เพื่อไม่สร้างภาระเพิ่มเติมแก่ข้าราชการและหน่วยงานที่ต้องอดหลับอดนอนฟันฝ่าอุปสรรค ต่อสู้กับเวลา เพื่อนำน้อง 13 หมูป่ากลับบ้าน ดังนั้นทีมงานของท่านนายกรัฐมนตรีจึงพยายามหาจังหวัดอื่นมาเป็นทางเลือก
"ความจริงเราได้มีการพิจารณาในหลายทางเลือก ในหลายจังหวัด โชคดีที่บังเอิญผมเพิ่งไปเยี่ยมกลุ่ม จ.อุบลราชธานี จ.ยโสธร จ.อำนาจเจริญ และ จ.ศรีษะเกษ พอดี ในฐานะผู้กำกับดูแลกลุ่มจังหวัดดังกล่าว จึงเห็นว่าข้าราชการและหน่วยงานมีความพร้อมอยู่แล้ว เนื่องจากได้ทำงาน เตรียมงานทุกอย่างไว้หมดแล้ว จึงได้เสนอให้จังหวัดทั้งสองเป็นทางเลือกหลักในการประชุม ครม.สัญจรในครั้งนี้ และน่าจะพร้อมกว่าทางเลือกอื่นๆ ที่จะมีเวลาเตรียมการแค่ 2 สัปดาห์ ซึ่งจะทำให้ขลุกขลักมาก" นายกอบศักดิ์ กล่าว
ที่ตลาดเทิดไท อ.เมืองฯ จ.นครราชสีมา นายภิรมย์ พลวิเศษ เลขาฯ กลุ่มสามมิตร อดีต ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชาชน พร้อมทีมงานกลุ่มสามมิตรโคราช เดินสายลงพื้นที่พบปะเยี่ยมเยียนประชาชนและพ่อค้าแม่ค้าเพื่อต้องการดูภาพรวมเศรษฐกิจ เพื่อนำเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อนตั้งโต๊ะแถลงข่าว โดยนายภิรมย์ กล่าวว่า กลุ่มสามมิตรต้องการที่จะสร้างความปรองดองแห่งชาติ เนื่องจากบ้านเมืองในอดีตแตกแยกทางความคิด การเลือกตั้งจะสมบูรณ์แบบไม่ได้ถ้าหากเรายังมีความคิดเห็นที่แตกแยกออกเป็นหลากสีอย่างในอดีต ตนเลยนำแนวทางของกลุ่มสามมิตรไปแลกเปลี่ยนความคิดเบื้องต้นกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ภาคอีสานกว่า 10 จังหวัด และได้รับการตอบรับจากพี่น้องนปช.อย่างดี ถ้าวันนี้จะให้มีความมั่นคงปรองดองจริงๆ แล้วต้องให้พี่น้องทุกกลุ่ม นปช.ทั้งหลาย และทุกอาชีพในประเทศไทยมาแลกเปลี่ยนกันว่าตกลงเราจะเดินหน้าจาก 4-5 ปี หรือ 10-20 ปี โดยไม่ต้องมาทะเลาะกันหรือแตกแยกกัน ประท้วงกัน และเมื่อตกผลึกเรื่องความคิดวันไหน เราก็จะเชิญ นปช.หรือกลุ่มอาชีพมาแลกเปลี่ยนร่วมกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า นอกจาก นปช.แล้ว กลุ่ม กปปส.จะเชิญมาร่วมแลกเปลี่ยนด้วยหรือไม่ นายภิรมย์ กล่าวว่า วันนี้เรายังไม่ได้เดินทางไปถึง กปปส. แต่เห็นว่าพี่น้อง นปช.ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของภาคอีสาน เราเลยเดินสายแลกเปลี่ยนกับ นปช.ภาคอีสานก่อน เมื่อ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ได้หวังว่าจะไปหาหัวคะแนนหรือผู้สมัครในกลุ่มสามมิตร แต่เราต้องการพบกับ นปช.ตัวจริง เสียงจริง มีตัวตนจริงๆ อาทิ นปช.สกลนคร, นปช.มุกดาหาร, นปช.อำนาจเจริญ, นปช.บุรีรัมย์, นปช.นครราชสีมา, นปช.ศรีสะเกษ, นปช.ร้อยเอ็ด, นปช.หนองบัวลำภู, นปช.บึงกาฬ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ที่มากับตนก็มีบัตร นปช.มาด้วย ไม่ใช่ตนมาอ้างอิง แต่ต้อง นปช.ที่มาพบไม่ใช่ว่าคนที่จะย้ายมาอยู่กับพวกเราหรือพรรคเรา แต่เขาต้องการสะท้อนความคิดของเขาว่าเดือดร้อนอะไร ต้องการอะไร และเขาอยากให้คนที่มีอำนาจจะทำอะไรให้กับกลุ่ม นปช.ภาคอีสานที่เดือดร้อนหลายอย่างอยู่
สามมิตรผนึก นปช.กว่า 500 คน
“ได้แลกเปลี่ยนกับพี่น้องที่เขาเรียกว่าขอนแก่นโมเดล มาระบายความทุกข์ใจว่าความจริงเป็นอย่างไร ขอนแก่นโมเดลไม่ใช่เฉพาะกลุ่มขอนแก่น, สุรินทร์, นครราชสีมา, ชัยภูมิ หรืออีกหลายจังหวัด มีทั้งหมด 25 คน เสียชีวิตแล้ว 1 คน, หนีไปแล้ว 1 คน และอยู่ในเรือนจำอยู่ 2 คน ที่เหลือ 20 คนประกันออกมาอยู่ในชั้นสืบพยาน แล้วได้มาเสนอความคิดกับพวกผมว่าทำอย่างไรจะมีวิธีการที่เขาจะได้สื่อว่าจริงๆ แล้วความจริงเป็นอย่างไร ตรงนี้ผมจะนำไปแลกเปลี่ยนในแกนนำกลุ่มสามมิตร เพื่อให้เกิดการปรองดองจริงๆ ในชาติ เรียนว่าเขาไม่มีความประสงค์ว่าจะมาอยู่กับกลุ่มสามมิตร แต่ว่าต้องการที่จะมาช่วยให้พี่น้อง นปช.ได้ประโยชน์จากการบริหารจัดการ ได้โอกาส ได้การดูแลจากรัฐบาลโดยทัดเทียมกัน นปช.จึงยอมมาแลกเปลี่ยนเสนอกับกลุ่มสามมิตร"
เลขาฯ กลุ่มสามมิตรกล่าวว่า ส่วนเรื่องหลักที่พูดคุยกับ นปช. จะนำไปเสนอแกนนำสามมิตรที่เราจะไปสรุปในที่ประชุมใหญ่ระหว่าง นปช.กับกลุ่มสามมิตร และอาจจะเชิญหลายกลุ่มมาแลกเปลี่ยนด้วย ส่วนจะเมื่อไหร่นั้น เราคงต้องขออนุญาตรัฐบาลหรือ คสช.ก่อน ถ้าอนุมัติก็จะทำในเร็วๆ นี้ ซึ่ง นปช.ก็อยากจะมากันเยอะ แต่อยู่กับ คสช.เท่านั้น น่าจะมากว่า 500 คน ส่วนใหญ่พร้อมที่จะมาแลกเปลี่ยน แนวทางนี้ปรองดองแห่งชาติ ออกไปทางบวก ไม่มีประโยชน์แอบแฝงทางการเมือง
นายภิรมย์กล่าวว่า จุดยืนสามมิตรยังยืนยันอยู่ว่าเห็นการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเดินหน้าให้ประชาชนทั้งประเทศได้ประโยชน์สูงสุด แต่บางเรื่องอาจจะไม่ทันใจประชาชน เช่น นปช.ส่วนใหญ่บอกว่า บัตรคนจน คนจนได้ประโยชน์ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นขวัญใจพวก นปช.จริงๆ จากบัตรรูดเป็นสิ่งของ ขอรูดเป็นเงินสดเลย เพราะจะได้ซื้อหาสิ่งของตามใจเขาได้ ไม่ใช่ให้เฉพาะร้านธงฟ้าจุดเดียวตำบลเดียว ร้านค้าตามหมู่บ้านจะเจ๊งหมด เป็นต้น ให้เอาเงินโอนเข้าบัญชีเลย นายกฯ ประยุทธ์ก็จะเป็นขวัญใจพวก นปช.แน่นอน
เมื่อถามว่า การแลกเปลี่ยนกับ นปช.ตรงนี้ใช่ดูดอีกหรือไม่ เลขาฯ กลุ่มสามมิตรกล่าวว่า จะดูดเรื่องไหน วันนี้เราข้ามคำว่าดูดไปแล้ว เราไปถึงปัญหาความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะไป ครม.สัญจรภาคอีสานตอนล่างอีกที่ จ.อำนาจเจริญ, อุบลราชธานี คิดว่ามันต้องฉลาดเหมือน จ.บุรีรัมย์ เอาคนกว่า 3 หมื่นคนมาตบมือต้อนรับนายกฯ ประยุทธ์ แล้วได้จัดสรรงบประมาณมาก อย่างโคราชจะเอาเป็นแสนคนก็ได้ถ้านายกฯ ประยุทธ์มาอีก ยิ่งมายิ่งได้พัฒนา และได้ประโยชน์โดยส่วนรวม ฉะนั้นอย่าคิดเป็นอคติ
ส่วนกรณีพรรคเพื่อไทยโจมตีว่ามีนัยการเมืองที่จะไปดูด ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.อุบลฯ 7 คน นายภิรมย์ กล่าวว่า ตนไม่อยากพูดถึงเขา เพราะนั่นคือความคิดที่แตกต่าง แต่มั่นใจว่าประชาชน จ.อุบลฯ และ จ.อำนาจเจริญ อยากให้นายกฯ ไป ครม.สัญจร ยืนยันว่าสามมิตรไม่เคยดูดใคร ดูดแต่ความคิดความอ่าน ซึ่งก็ตกผลึกพอสมควร วันนี้เรามีกลุ่มสามมิตรประมาณเกือบ 200 คนแล้ว ยืนยันว่าไม่เคยใช้เงินดูด ถ้ามีข่าวว่าใช้เงินใช้ทองมันจะดังกว่านี้ จะไปเบิกมาจากไหนคนละ 50 ล้าน ตนเองทำมา 4-5 เดือนก็ยังลำบากอยู่เลย ยังขับรถคันเดิมๆ อยู่
จับตา"สุพล"โดนดูด
นายศุภชัย ศรีหล้า อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการเดินสายดูดอดีต ส.ส.จ.อุบลฯ อย่างหนักขณะนี้ว่า ในอดีตพรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นพรรคที่ประสบความสำเร็จในอีสาน ส.ส.อุบลฯ มี ส.ส.ที่เคยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์หลายคน แต่ด้วยพลังดูดของพรรคความหวังใหม่ในขณะนั้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.อุบลฯ หลายคนก็ย้ายไปตามกระแสดูดนั้น ต่อมามีพรรคไทยรักไทยเกิดขึ้นกระแสดูดก็เกิดขึ้นอีก ส.ส.อุบลฯ จำนวนหนึ่งที่ย้ายมาอยู่พรรคความหวังใหม่ ก็ย้ายไปอยู่พรรคไทยรักไทย ตนจึงมองเป็นเรื่องธรรมดา แต่กระแสข่าวการดูด การย้ายพรรคของอดีต ส.ส อีสานในขณะนี้ คนสร้างข่าวต้องการปั่นกระแส มีเป้าประสงค์ทางการเมืองแน่นอน แต่อย่าลืมเรื่องราวในอดีตเคยโดนดูดมาแล้วกี่ครั้ง ย้ายมาแล้วกี่พรรค อุดมการณ์ที่พูดอยู่ในขณะนี้ ต้องถามตนเองด้วย ในขณะที่ชี้นิ้วไปที่คนอื่น
"ส่วนกรณีนายสุพล ฟองงาม อดีต ส.ส.อุบลฯพรรคเพื่อไทย นักการเมืองคนหนึ่งที่อยู่ในกระแสข่าวจะย้ายซบพรรคอื่นในขณะนี้นั้น เป็นเจ้าของวาทกรรมที่ขัดใจนายใหญ่เป็นอย่างยิ่งว่า "ผมเป็น ส.ส. ไม่ใช่ลูกจ้างบริษัท" นายสุพลเคยเป็นเลขาธิการพรรคไทยรักไทย เป็นรัฐมนตรีมาหลายกระทรวง สุขุม พูดน้อย คิดมาก ใคร่ครวญ มีเหตุมีผล การตัดสินใจของนายสุพลคราวนี้สะเทือนพรรคเพื่อไทยแน่นอน ยิ่งเมื่อเข้าถึงสถานการณ์เลือกตั้ง หากนายสุพลพูดความในใจ ถึงวันนั้นอาจเป็นจุดสนใจของคนทั้งประเทศ และเป็นจุดจบของพรรคเพื่อไทยก็ได้" นายศุภชัยกล่าว
นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข่าวการดูด ส.ส.พรรคเพื่อไทย ว่าไม่ค่อยกังวลกับเรื่องนี้ อดีต ส.ส.จำนวนมากยังอยู่กับพรรค สุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใน 10 วินาทีที่เข้าไปคูหากาบัตรเลือกตั้ง ปัจจัยในการตัดสินเลือกใครเป็น ส.ส.นั้น เนื่องจากระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่ให้กาเพียงบัตรเดียว จะทำให้ประชาชนให้น้ำหนักกับตัวพรรค นโยบายพรรค และแคนดิเดตนายกฯ ที่พรรคนำเสนอด้วย ขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองพัฒนาถึงขั้นที่ว่าประชาชนวิเคราะห์ได้ถึงตัวตน อุดมการณ์และผลงาน และรู้ท่าทีของพรรคต่างๆ ต่อเรื่องการสืบทอดอำนาจ ท่าทีของพรรคทำให้ประชาชนมีตัวเลือกค่อนข้างชัดเจน
"ในการเลือกตั้งครั้งหน้า คิดว่าประชาชนจะไม่ถามเพียงแค่ว่าเลือกนโยบายพรรคนี้แล้วชีวิตประชาชนจะดีขึ้นอย่างไร แต่จะถามอีกว่าเลือกพรรคนี้ประเทศจะดีขึ้นอย่างไร พรรคเพื่อไทยเคารพการตัดสินใจของประชาชนในวันเลือกตั้ง แต่ความท้าทายขณะนี้คือ ทุกฝ่ายต้องทำให้การเลือกตั้งเสรี เป็นธรรม และมีความน่าเชื่อถือ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้" นายนพดลกล่าว
นายพายัพ ปั้นเกตุ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า กรณีรองนายกฯ ระบุการท่องเที่ยวจีนในไทยลดลงทันทีถึง 42,000 ล้านบาทในอีกสามเดือนข้างหน้า ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ แต่พฤติกรรมกร่าง หลงอำนาจ ยิ่งคำพูดที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุน เพราะต่างประเทศจะไม่เชื่อถือและขาดความเชื่อมั่น วันนี้ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล คสช.ควรประกาศกำหนดการเลือกตั้งให้ชัดเจนได้แล้ว เพราะจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยภายในประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นเชื่อถือต่อต่างประเทศกลับคืนมา การค้าการลงทุนภายในประเทศและการส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศก็จะดีขึ้น ที่สำคัญรัฐบาลควรเลิกใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยเพื่อหวังผลการสืบทอดอำนาจ ควรหันมาใช้จ่ายเงินที่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแก้ปัญหาความยากจนอย่างแท้จริงได้แล้ว
กำนันแทงกั๊กหนุนลุงตู่
ที่อาคารทูแปซิฟิกเพลส นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งรวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) กล่าวว่า ในวันที่ 5 ส.ค. จะมีการประชุมผู้ร่วมก่อตั้งพรรค รปช. จำนวน 500 คน เพื่อคัดเลือกกรรมการบริหารพรรค รปช.ชุดแรก จากนั้นจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นจดทะเบียนก่อตั้งพรรคการเมืองต่อไป
เมื่อถามว่า พรรคพลังประชารัฐมีกระแสดูดอดีตนักการเมืองจำนวนมาก รปช.จะมีการเปิดตัวอดีตนักการเมืองชื่อดังๆ บ้างหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ยืนยันว่าพรรค รปช.เป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง และหวังสร้างการเมืองที่ดี สร้างประชาธิปไตยที่บริสุทธิ์ และจะสรรหานักการเมืองใหม่ๆ และเป็นคนที่ดี มีความรู้ความสามารถและคุณธรรม รักชาติรักบ้านเมือง เพื่อมาเป็นตัวแทนของประชาชน ให้ทำหน้าที่ในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติต่อไป และยืนยันว่าเป้าหมายของพรรคเราแตกต่างจากพรรคพลังประชารัฐอย่างแน่นอน
ถามว่าพลังพรรคประชารัฐมีแนวทางสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไป และพรรค รปช.มีแนวทางอย่างไร นายสุเทพกล่าวว่า พรรค รปช.มีแนวทางปฏิรูปประเทศตามแนวทางของประชาชน เราพร้อมที่จะร่วมมือกับใครก็ได้ที่มีอุดมการณ์เดียวกันกับเรา และร่วมมือกับพรรคการเมืองอะไรก็ได้ที่มีเจตนารมณ์กับเรา เพื่อปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และยืนยันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะต้องมีโพรมารีโหวต และพรรคก็พร้อมจะปฏิบัติตาม เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปการเมือง
วันเดียวกัน สวนดุสิตโพลเปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "พรรคการเมือง" ในสายตาผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,094 คน ระหว่างวันที่ 10-14 กรกฎาคม 2561 สรุปผลดังนี้ 1.“5 ปัจจัยหลัก” ที่ประชาชนให้ความสนใจต่อพรรคการเมืองไทย พบว่า อันดับ 1 นโยบายพรรค 27.42%, อันดับ 2 หัวหน้าพรรค 22.16%, อันดับ 3 ผลงานและประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา 21.05%, อันดับ 4 ผู้สมัครของพรรค 19.12%, อันดับ 5 ชื่อพรรค 10.25%
2.“จุดแข็ง” ของพรรคการเมืองไทย ณ วันนี้ ในสายตาประชาชน อันดับ 1 เน้นนโยบายช่วยเหลือประชาชน และพัฒนาประเทศ 41.45%, อันดับ 2 ทำงานดี มีผลงานให้เห็น 38.91%, อันดับ 3 มีพรรคใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ เป็นทางเลือกใหม่ มีคนรุ่นใหม่ 34.18%, อันดับ 4 มีพรรคเก่าแก่หลายพรรค มีประสบการณ์ มีฐานเสียงเฉพาะ 21.09%, อันดับ 5 หัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรคเป็นคนเก่ง มีความรู้ความสามารถ 15.27%
3.“จุดอ่อน” ของพรรคการเมืองไทย ณ วันนี้ ในสายตาประชาชน อันดับ 1 ไม่สามารถทำตามนโยบายที่ให้ไว้ เน้นแค่หาเสียง 51.75%, อันดับ 2 ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน สนับสนุนเพียงคนบางกลุ่ม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน 32.87%, อันดับ 3 มีการดูด ส.ส. เปลี่ยนพรรค มีปัญหาภายในพรรค 25.87%, อันดับ 4 นโยบายไม่ชัดเจน ไม่มีรายละเอียดเพียงพอ 23.08% และอันดับ 5 หัวหน้าพรรคไม่น่าสนใจ เป็นคนหน้าเดิมๆ 18.18%.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |