‘ประสาร’ชี้ระเบิดเวลา แฉศก.ไทย‘ป่วยเรื้อรัง’!


เพิ่มเพื่อน    

 อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเผยเศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายทั้งจากปัจจัยภายในและนอกประเทศ เหมือนผู้ป่วยเรื้อรัง แม้รัฐบาลจ่ายยาหลายขนาน กลับไม่ตอบสนอง ชี้ต้องเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะเป็นเหมือนระเบิดเวลา พัฒนาเน้นปริมาณอย่างหยาบๆ ที่เน้นแค่จีดีพี โดยไม่ดูคุณภาพ 

    เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ กล่าวระหว่างปาฐกถาวาระ 45 ปี 14 ตุลาคม ในหัวข้อ ประชาธิปไตยกับความท้าทายทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ระบุว่า ช่วง 45 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวเกือบ 10 เท่า ความสำเร็จนี้ ในด้านหนึ่งทำให้พอใจได้ว่าไทยเดินหน้ามาพอสมควร แต่อีกด้านหนึ่ง ถ้าพิจารณาโดยไม่เข้าข้างตนเองมากนัก ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจเผชิญกับความท้าทาย ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก
    "ความท้าทายดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือความท้าทายจากบริบทโลกที่ไม่เหมือนเดิม ส่วนที่สองคือความท้าทายจากปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศ กรณีส่วนที่สองนี้ หลายปีที่ผ่านมา อาการของประเทศไทยเหมือนกับผู้ป่วยเรื้อรัง ที่รัฐบาลพยายามจ่ายยาหลายขนาน แต่อาการกลับไม่ตอบสนอง"
    อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติกล่าวว่า สาเหตุจากประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ซึ่งปัญหาเชิงโครงสร้างที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจเห็นว่าต้องเร่งแก้ไข เพราะเหมือนระเบิดเวลา พร้อมจะเหนี่ยวรั้งการพัฒนาเศรษฐกิจได้ทุกเมื่อ มีอย่างน้อย 3 เรื่อง
        เรื่องแรกคือปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยตัวเลขและผลการศึกษาหลายหน่วยงานชี้ว่าประเทศไทยติดอยู่ในกลุ่มที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำในระดับต้นๆ ของโลก โดยคนไทย 10% ประมาณ 7 ล้านคน มีชีวิตใต้เส้นความยากจน, คนไทย 10% ที่มีรายได้สูงสุดและต่ำสุด มีรายได้ห่างกันถึง 22 เท่า, คนไทยมากกว่า 75% ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ขณะที่โฉนดกว่า 61% อยู่ในมือคนแค่เพียง 10% และเด็กไทยกว่า 6 แสนคน ต้องหลุดจากระบบการศึกษา เพียงเพราะผู้ปกครองไม่มีเวลาและเงินไม่พอส่งลูกเรียน
    นายประสารระบุว่า สาเหตุของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ส่วนหนึ่งมาจากทิศทางการพัฒนาที่เน้นปริมาณอย่างหยาบๆ ที่แน้นแค่จีดีพี โตปีละมากๆ โดยไม่ดูคุณภาพ อีกด้านหนึ่ง การค้าเสรีที่ไร้กติกา ที่แต่ละคนมีทุนและโอกาสไม่เท่ากัน ทำให้การพัฒนาออกมาในลักษณะเศรษฐกิจยิ่งโต ผู้มีทุนมากกว่ายิ่งได้เปรียบ คล้ายกับถนนการค้าที่ขาดกฎจราจร สุดท้ายพื้นผิวถนนถูกยึดครองโดยรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ที่คอยเบียดรถขนาดเล็กให้ต้องวิ่งตามไหล่ทาง
        เขาบอกว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ ถือเป็นต้นตอของความขัดแย้งในโลกและไทย ช่วงที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นอยู่บ่อยๆ ว่า เมื่อความเป็นอยู่ของคนในสังคมแตกต่างกันมาก ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการปะทะกัน เพื่อแย่งทรัพยากรในทุกระดับ สำหรับทิศทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำคือ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้น การพัฒนาหัวเมืองในภูมิภาค เพื่อไม่ให้เกิดการพัฒนากระจุกตัวในแค่กรุงเทพฯ ในระดับชุมชน ก็ต้องเพิ่มความแข็งในทุกมิติต่างๆ ระดับบุคคลก็ต้องเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร แรงงานยากจน และ ฐานราก เพื่อให้ยืนอยู่บนขาของตัวเองได้
        เรื่องที่สองนั้น ในช่วงทศวรรษก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 9% ต่อปี แต่ช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตวนเวียนอยู่ในระดับ 4% สะท้อนที่ลดลงชัดเจน ขณะที่คู่แข่งในภูมิภาคพัฒนาตัวเองขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และถ้าไม่เร่งพัฒนา เป็นไปได้ว่าไทยอาจไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ มองอนาคตยิ่งท้าทาย เพราะไทยเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย 
    "สภาพัฒน์ชี้ว่า ภายในปี 2583 คนไทย 1 ใน 3 จะมีอายุมากกว่า 60 ปี และธนาคารโลกมองว่าค่ากลางของอายุคนไทยจะเพิ่มจาก 38 เป็น 49 ปี หมายความว่า ฐานกำลังคนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะน้อยลง ขณะที่ประเทศในภูมิภาคประชากรส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ในเชิงเศรษฐกิจจึงเปรียบเอาคนแก่ไปสู้แรงกับคนหนุ่มสาว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ที่น่าห่วงคือโอกาสที่คนไทยจะแก่ก่อนรวยและจนตอนแก่จะมีมากขึ้น”
         อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติกล่าวว่า เรื่องที่สามคือกลไกและบทบาทของภารรัฐไม่เอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กรณีคงปฏิเสธไม่ได้ว่าบริบทเศรษฐกิจในปัจจุบันต่างจากอดีตมาก และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดนิ่ง สถาบันด้านเศรษฐกิจหลายส่วนที่เคยออกแบบไว้ในอดีต อาจไม่สามารถตอบโจกท์ประเทศภายใต้บริบทใหม่ ให้สอดคล้องกับจังหวะการเดินหน้าของประเทศ
        สำหรับความท้าทายในส่วนแรก คือความท้าทายจากบริบทโลกที่ไม่เหมือนเดิมนั้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ทำให้รู้สึกว่าโลกที่เราอยู่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของคนในสังคม รวมทั้งรูปแบบการทำธุรกิจ ด้านหนึ่งได้ทำให้ธุรกิจและงานหลายประเภทหายไป
        นายประสารกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงศูนย์อำนาจเศรษฐกิจและการเมืองโลก นับตั้งแต่สงครามเย็นจบลง คาดกันว่า ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกจะทยอยย้ายมาที่เอเชีย โดยภายในปี ค.ศ.2030 คาดขนาดเศรษฐกิจจีนและอินเดียรวมกันจะประมาณ 1 ใน 4 ของโลก และ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลต่อทิศทางการค้าโลก สหรัฐอเมริกาที่เคยสนับสนุนการค้าเสรี กลับตั้งกำแพงภาษีกีดกันการนำเข้า จนบรรยากาศการค้าโลกอึมครึม และสร้างความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนโลก
          นอกจากนี้ แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่สนับสนุนกระบวนการ Globalization ทำให้ตลาดการค้า การลงทุนและตลาดการเงินระหว่างประเทศมีความเชื่อมโยงและซับซ้อนขึ้น การรับและส่งผลกระทบระหว่างกันเป็นไปอย่างรวดเร็วและง่ายขึ้น เหมือนเราอยู่ในที่แออัด ย่อมติดเชื้อหวัดได้ง่าย และอีกด้านก็ทำให้เศรษฐกิจและการค้าขยายตัวมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่า ภายใต้การเติบโต ผลประโยชน์ของการพัฒนากระจายไม่ทั่วถึง ซึ่งส่วนหนึ่งทำให้เกิด Brexit และการชนะการเลือกตั้งของนักการเมืองที่ใช้นโยบายประชานิยมในหลายประเทศ
        “ผมคิดว่าความท้าทายส่วนแรกที่ประเทศไทยต้องเผชิญในระยะต่อไป คือบริบทโลกที่ไม่เหมือนเดิม โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าสปีดเดิมที่เราคุ้นชินมาก เป็นโลกที่ซับซ้อน ผันผวน และยากที่จะคาดเดาอนาคตได้ชัดเจน”
         เขากล่าวด้วยว่า มองย้อนกลับไปอาจกล่าวได้ว่า ในช่วงหลังตุลาคม 2516 จนถึงเหตุการณ์พฤษภา 2535 เป็นช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งเป็นรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับประเทศไทย นำมาสู่การผลักดันรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากที่สุด
         อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติระบุว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ฉันทามติร่วมกันของคนในสังคมที่ว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองที่นำพาประเทศไปสู่สังคมที่พึงปรารถนานั้น เริ่มไม่ชัดเจน โดยท่ามกลางปัญหาการเมืองในประเทศกว่าสิบปี คนไทยจำนวนไม่น้อยอาจรู้สึกกังวลใจและหดหู่กับสภาวะบ้านเมืองที่แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย และคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยก็อาจรู้สึกอึดอัดที่เหมือนถูกบังคับให้ต้องเลือกข้าง ระหว่างที่ข้างหนึ่งที่ยังเชื่อว่าประชาธิปไตยยังเป็นคำตอบของประเทศ และอีกข้างเริ่มเสื่อมศรัทธากับประชาธิปไตย เพราะเห็นว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา เปิดโอกาสให้นักการเมืองที่ขาดความรับผิดชอบเข้ามากุมอำนาจรัฐ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"