'ทรงพระเจริญ' ร.10เสด็จฯเปิด เขื่อนห้วยโสมง


เพิ่มเพื่อน    

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงเปิดโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการชลประทานขนาดใหญ่แห่งสุดท้ายในรัชกาลที่ 9 มีพระราชปฏิสันถารกับจิตอาสาและทรงโบกพระหัตถ์ให้แก่พสกนิกรที่มาเข้าเฝ้าฯ กว่า 30,000 คนรอบเขื่อน ท่ามกลางเสียง “ทรงพระเจริญ” กึกก้อง

เมื่อเวลา 17.01 น. วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในฉลองพระองค์เหล่าทหารบก เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เขื่อนห้วยโสมง) ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี

ในการนี้ เมื่อเสด็จฯ ถึงสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี, นายสาโรจน์ เอี่ยมองค์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดปราจีนบุรี, พล.ท.กู้เกียรติ ศรีนาคา แม่ทัพภาคที่ 1, พล.ต.ท.จิตติ รอดบางยาง ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 พร้อมข้าราชการ เฝ้าฯ รับเสด็จ

จากนั้น เสด็จฯ ออกจากสนามเฮลิคอปเตอร์ไปยังบริเวณพิธีเปิดโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, นายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, นายทองเปลว กองจันทร์ ช่วยราชการอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมข้าราชการและประชาชน เฝ้าฯ รับเสด็จ เสด็จฯ เข้าสู่พลับพลาพิธี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธนวราชบพิตร ทรงกราบ ประทับพระราชอาสน์ ทรงศีล

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร, นายทองเปลวเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก พล.อ.ประยุทธ์กราบบังคมทูลถวายรายงานความเป็นมาและผลการดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เขื่อนห้วยโสมง) พร้อมทั้งกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดป้ายอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เขื่อนห้วยโสมง)
จากนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เขื่อนห้วยโสมง) และเสด็จฯ ไปทรงตัดแถบแพรตู้ปลา เพื่อทรงปล่อยพันธุ์ปลาลงในอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เขื่อนห้วยโสมง) และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จิตอาสาทำความดีด้วยหัวใจ และราษฎรชาว จ.ปราจีนบุรี ร่วมปล่อยพันธุ์ปลาลงในอ่างเก็บน้ำฯ ทั้งหมด 9 ชนิด รวม 1,000,000 ตัวด้วย

ต่อจากนั้นทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ เสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ เสด็จฯ ออกจากพลับพลาพิธีไปยังบริเวณที่ปลูกต้นไม้ ทรงปลูกต้นรวงผึ้งจำนวน 1 ต้น โดยต้นรวงผึ้งเป็นไม้หอมไทยแท้ ถือเป็นพรรณไม้ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 10 ดอกรวงผึ้งมีสีเหลือง ซึ่งเป็นสีวันเสด็จพระราชสมภพ และดอกรวงผึ้งจะผลิดอกสีเหลืองบานสะพรั่งในราวเดือน ก.ค.-ส.ค. ซึ่งตรงกับช่วงวันพระราชสมภพพอดี

ต่อมาทอดพระเนตรนิทรรศการงานชลประทาน และงานโครงการต่างๆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ปราจีนบุรี และภายหลังที่ทรงเปิดอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาฯ เสร็จแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระดำเนินเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จอย่างใกล้ชิด ระหว่างเส้นทางพระดำเนิน พสกนิกรกว่า 30,000 คน ต่างโบกสะบัดธงสีเหลืองพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. และธงชาติไทยพลิ้วไหว เป็นภาพอันสวยงาม พร้อมเปล่งเสียงทรงพระเจริญดังกึกก้อง

โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกระปุกออมสินแก่เด็กๆ ที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ นอกจากนี้ ยังมีพระราชปฏิสันถารกับจิตอาสาร่วมทำความดี รวมทั้งยังทรงโบกพระหัตถ์ให้ราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ สร้างความปลาบปลื้มใจแก่พสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้

สำหรับความเป็นมาของอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น ถือเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่แห่งสุดท้ายในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งโปรดให้สร้างเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และปัญหาน้ำเค็มหนุนลุ่มน้ำแม่น้ำปราจีนบุรีในหน้าแล้ง เกิดจากสายพระเนตรอันกว้างไกลที่ช่วยพลิกฟื้นชีวิตพสกนิกรใน จ.ปราจีนบุรี ให้พ้นจากภัยน้ำท่วมภัยน้ำเค็มหนุน จนไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรกรรม และนำมาอุปโภคบริโภคได้ ส่งผลต่ออาชีพเกษตรกรรมไปยังลูกหลาน

โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น ชื่อเดิมว่าโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 โดยกรมชลประทานได้เริ่มทำการศึกษา สำรวจ ออกแบบ และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 อุทยานแห่งชาติปางสีดาและอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งมีอาณาเขตบางส่วนติดกับพื้นที่โครงการได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ กรมชลประทานจึงชะลอการดำเนินการโครงการเพื่อจัดทำรายงานการศึกษาเพิ่มเติม โดยผนวกการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมรดกโลกทางธรรมชาติเข้าไปด้วย จนกระทั่งวันที่ 27 ตุลาคม 2552 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติอนุมัติให้เริ่มดำเนินการโครงการ ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานชื่ออ่างเก็บน้ำว่า “อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา” มีความหมายว่า “อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นเขื่อนดินสูง 32.75 เมตร กว้าง 9 เมตร ยาว 3,967.51 เมตร เก็บกักน้ำได้ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี 2563 ทำให้สามารถขยายพื้นที่ชลประทานได้ 111,300 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 5 หมู่บ้านในเขต อ.นาดี และ 32 หมู่บ้านในเขต อ.กบินทร์บุรี

ทั้งนี้ โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา นอกจากช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง รวมทั้งช่วยรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม น้ำเน่าเสียในแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำบางปะกง ซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตรและระบบน้ำประปาในช่วงฤดูแล้งเป็นประจำเกือบทุกปี ที่สำคัญยังทำหน้าที่เป็นแนวกันชนป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดา ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าไม้ได้อีกประการหนึ่ง ตลอดจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.ปราจีนบุรีได้อีกด้วย

ที่ผ่านมา แม้งานก่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่หลังจากก่อสร้างตัวเขื่อนแล้วเสร็จในปี 2559 ก็สามารถเก็บกักน้ำได้ตั้งแต่เดือน ส.ค. ทำให้สามารถช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยใน จ.ปราจีนบุรีได้ทันที และไม่เกิดน้ำท่วมดังเช่นทุกปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้เริ่มทำการระบายน้ำลงลำน้ำเดิมเพื่อรักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำปราจีนบุรีตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.-3 มิ.ย.2560 ทำให้ไม่เกิดปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำปราจีนบุรีเหมือนดังเช่นทุกปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนอาชีพให้แก่ราษฎรบริเวณโดยรอบโครงการ เช่น การมอบปัจจัยการผลิตทั้งด้านพืช ด้านปศุสัตว์ และประมง การฝึกอบรมอาชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงเรื่องการเพาะเห็ดเศรษฐกิจและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มอาชีพและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ พัฒนาระบบเกษตรแบบบูรณาการ การพัฒนาอาชีพประมงน้ำจืด โดยปล่อยพันธุ์ปลาลงในอ่างเก็บน้ำ 1 ล้านตัว พร้อมทั้งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เพื่อกำหนดกติกาหมู่บ้านและข้อบังคับในทำการประมงเป็นการควบคุมและจัดระเบียบการทำการประมงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเขตพื้นที่อุทยานโดยรอบ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนควบคู่ไปกับการอนุรักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้เกิดความสมบูรณ์อย่างยั่งยืน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"