การสื่อสารในภาวะวิกฤติ


เพิ่มเพื่อน    

กรณี 13 หมูป่าติดถ้ำต้องถือว่าเป็นกรณีวิกฤติ ที่จะต้องแก้ไขตามหลักการของการจัดการวิกฤติ โดยจะต้องมีทั้งส่วนของการแก้ไขให้หลุดพ้นจากภาวะวิกฤติ (operation) และส่วนของการสื่อสาร (communication) สำหรับในส่วนของการแก้ไขนั้นทำกันได้ดีมาก เริ่มต้นด้วยการมีฝ่ายบัญชาการทำหน้าที่ในการควบคุมและพิจารณาแนวทางที่จะแก้ไขสภาวะวิกฤติ ให้เหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติหลุดพ้นจากอันตราย หรือได้รับการช่วยเหลือด้วยวิธีการที่ดีที่สุด ซึ่งในกรณีนี้ต้องแสดงความชื่นชมการทำงานของทุกภาคส่วนที่ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยมภายใต้การกำกับของอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ที่ทำหน้าที่ได้ดีมาก ประสานงานภาคส่วนต่างๆ ในการทำหน้าที่ช่วยเด็กๆ ด้วยการรวมพลังกันอย่างสอดประสานกลมกลืน ปราศจากความขัดแย้ง อีกทั้งยังมีการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ ท่านมีความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกภาคส่วนการใช้ความรู้ความสามารถด้วยความเต็มใจและเต็มศักยภาพ ด้วยพันธกิจที่เป็นเป้าหมายเดียวกัน คือ คนออกจากถ้ำอย่างปลอดภัย เราจึงได้เห็นความตั้งใจที่มีความมุ่งมั่นและทุ่มเท ทุกภาคส่วน ทุกหน้าที่ คนที่ติดตามปฏิบัติการครั้งนี้เฝ้าดูอยู่ด้วยความชื่นชมไปทั่วโลก และคนที่มาช่วย ทั้งฝ่ายช่วยเด็กออกจากถ้ำและฝ่ายเสริมอื่นๆ ไม่ว่าทางทหาร ฝ่ายซักเสื้อผ้า และฝ่ายอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการช่วยเด็กๆ ออกจากถ้ำโดยตรง ทุกฝ่ายมีค่าควรแก่การยกย่องด้วยกันทั้งนั้น ทั่วโลกรู้จักประเทศไทย

ในทางดี เป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี และเชื่อว่าถ้ำแห่งนี้จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของเชียงรายในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในด้านของการสื่อสารในภาวะวิกฤติเรายังทำกันได้ไม่ดีนัก ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งไม่พอใจการทำงานของสื่อมวลชน และมีการก่นด่าอย่างสาดเสียเทเสีย เพราะสิ่งที่เห็นก็คือ มีสื่อมวลชนบางรายพยายามที่จะให้ได้ข่าวพิเศษที่แตกต่างจากคนอื่น (exclusive news) ที่มีลักษณะ “ลึกและเร็ว” เมื่อมีความต้องการเช่นนี้ พวกเขาก็จะใช้ความพยายามเกินงาม จนทำให้เกิดเสียงก่นด่าอย่างที่เห็น พวกเขาเข้าไปในพื้นที่ซึ่งพวกเขาไม่ควรจะเข้าไป พวกเขาพยายามจะได้ภาพบางภาพที่ไม่น่าเผยแพร่ พวกเขาพยายามถามคนที่กำลังวุ่นกับการทำงานโดยไม่พิจารณาว่าการที่จะถามบุคคลเหล่านั้นเป็นการไม่เหมาะสม บางเรื่องพวกเขาก็พยายามหาข่าวที่คนทำงานเขายังไม่ต้องการให้เผยแพร่ แทนที่จะรู้สึกผิดว่าพวกเขาไปเอาข้อมูลที่ไม่ควรเผยแพร่มานำเสนอ พวกเขากลับรู้สึกว่าเขาทำงานได้ดีในการหาข้อมูลที่หาได้ยาก พวกเขาสาธยายสิ่งที่เขาได้พบเห็นปานประหนึ่งว่าพวกเขารู้ไปทุกเรื่อง ดังนั้นรายงานของพวกเขาจึงมีถูกบ้าง ผิดบ้าง (ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายถึงผู้สื่อข่าวทุกราย แต่เป็นเพียงบางราย แต่ก็มีจำนวนมากพอที่จะทำให้เกิดเสียงก่นด่าอย่างที่เราได้เห็นกัน) ในบางครั้งพวกเขาก็อยู่ในพื้นที่อันเป็นเส้นทางการเดินรถ ทำให้พวกเขากลายเป็นคนที่ขัดขวางการขับเคลื่อนต่างๆ ทำให้เกิดความล่าช้า

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้จะโทษผู้สื่อข่าวทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะผู้สื่อข่าวอาจจะทำงานตามนโยบายของผู้บริหารองค์กรที่แข่งขันกันเสนอข่าวเพื่อเรียกคะแนนนิยม (rating) ทำให้ผู้สื่อข่าวที่พยายามจะทำตามนโยบายของผู้บริหารจะต้องทำงานอย่างที่เราเห็น หากผู้บริหารมีการเตือนผู้สื่อข่าวทั้งหลายว่าในการหาข่าวนั้นให้เคารพสิทธิ์ของผู้อื่น ให้ทำตามระเบียบ กระบวนการและขั้นตอนที่ฝ่ายปฏิบัติการกำหนด การทำงานของผู้สื่อข่าวก็อาจจะดีกว่าที่เราเห็น แต่จากการสังเกตดูการเสนอข่าวแต่ละช่อง ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า เด็กๆ ที่เป็นผู้สื่อข่าวน่าจะทำงานตามนโยบายของผู้บริหารที่ต้องการข่าวพิเศษที่เร็วและลึกกว่าสื่ออื่นๆ สังเกตจากบรรดาผู้ที่อ่านข่าวอยู่ในสถานีที่พยายามโยนไปที่ผู้สื่อข่าวที่อยู่ ณ บริเวณถ้ำ ให้เล่าสิ่งที่ได้พบเห็น โดยหวังว่าผู้สื่อข่าวของตนจะมีข่าวบางอย่างที่ลึกและเร็วกว่าคนอื่น การกระทำดังกล่าวนั้นจะไม่มีปัญหาอะไร

ถ้าหากการไปหาข่าวนั้นไม่ได้ไปกีดขวางการทำงานของคนที่กำลังกอบกู้สถานการณ์

ถ้าหากไม่ไปรบกวนสัมภาษณ์คนที่กำลังทำงานแข่งกับเวลา

ถ้าหากการหาข่าวนั้นไม่เป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้ใด

ถ้าหากการหาข่าวนั้นไม่ขัดกับนโยบายการเสนอข่าวที่กองบัญชาการกำหนด

ถ้าหากการนำเสนอข่าวนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องที่เห็นแล้วตีความเอาเอง

นอกเหนือจากพฤติกรรมของผู้สื่อข่าวและนโยบายจากผู้บริหารองค์กรสื่อทั้งหลายแล้ว การจัดการของฝ่ายปฏิบัติการก็ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขจากบทเรียนครั้งนี้

ทันทีที่เกิดวิกฤติ นอกเหนือจากการตั้งกองบัญชาการในการแก้ไขสถานการณ์แล้ว ยังจะต้องตั้งศูนย์การข่าว (media center) ขึ้นมาทันที กำหนดพื้นที่สำหรับสื่อมวลชนในการจะทำข่าว และจะต้องกำหนดโฆษก (spokesperson) ทันที คำว่าโฆษกในกรณีนี้ไม่ได้หมายความเป็นผู้แถลงแต่ผู้เดียว แต่คนที่เป็นโฆษกคือคนที่เป็นผู้ควบคุมกระแสข่าว (flow of information) คือเป็นผู้กำหนดว่าเรื่องอะไรพูดได้ อะไรพูดไม่ได้ และแต่ละเรื่องจะให้ใครเป็นผู้พูด และต้องกำหนดด้วยว่าจะให้พูดได้แค่ไหน ให้พูดตอนไหน และจัดให้มีการแถลงข่าวเป็นระยะๆ แบบ Breaking news เพื่อให้ผู้สื่อข่าวได้เนื้อข่าวที่ถูกต้อง นำไปเผยแพร่ แทนที่จะให้ผู้สื่อข่าววิ่งหาข่าวไปตามจุดต่างๆ อย่างไร้ขอบเขตอย่างที่ผ่านมา และแทนที่จะเป็นข่าวในลักษณะ Breaking news เรากลับได้เห็นข่าวครั้งนี้มีลักษณะเป็น Reality shows ที่เราได้เห็นความเคลื่อนไหวตามจุดต่างๆ ตลอดเวลา และถ้าหากเราตามข่าวหลายช่องก็ไม่แน่ใจว่าจะได้ข้อมูลตรงกัน อย่างวันแรกพวกเราก็สับสนว่าเด็กๆ ออกมาได้ 4 คนหรือ 6 คนกันแน่ เพราะข่าวบางสำนักก็บอกว่า 4 บางสำนักก็บอกว่า 6 ถ้าหากเรามีศูนย์ข่าวตั้งแต่ต้น และบอกให้ผู้สื่อข่าวนำเสนอข่าวที่ได้รับรู้จากการแถลงอย่างเป็นทางการไปนำเสนอ ประชาชนก็จะได้รับข่าวที่ถูกต้อง ไม่สับสน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอยู่ก็จะทำงานได้โดยไม่มีการถูกรบกวนขอสัมภาษณ์จากสื่อมวลชน เหมือนที่มีต่างชาติคนหนึ่งที่ตอบนักข่าวที่ขอสัมภาษณ์ว่าเขามาทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็ก ไม่ใช่มาคุยกับนักข่าว เป็นการบอกเป็นนัยว่าการสัมภาษณ์เขาตอนนั้นไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เราช่วยเด็กออกมาแล้ว เรากำลังจะถอดบทเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานเพื่อช่วยเด็กออกจากถ้ำ ก็ขอให้ถอดบทเรียนเรื่องการสื่อสารในภาวะวิกฤติด้วย เพื่อการทำงานที่ดีขึ้นในอนาคต เพราะโอกาสที่จะเกิดวิกฤติไม่ได้เป็นศูนย์ อาจจะเกิดวิกฤติอื่นๆ อีกได้.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"