“หมูป่าติดถ้ำ”...บทเรียนสอนเด็กเรื่องความสามัคคี
นอกจากเห็นปรากฏการณ์แห่งความร่วมมือร่วมใจในการค้นหาน้องๆ ทีมหมูป่า อะคาเดมี ทั้ง 13 คน โดยจิตอาสาทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ตั้งใจมาช่วยเหลือเพื่อนำเด็กออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย กันแบบไม่หลับไม่นอนตลอดระยะเวลา 17 วัน จนกลายเป็นข่าวใหญ่ ทอล์กออฟเดอะทาวน์ไปทั่วโลกนั้น
ต้องยอมรับว่ามีบางมุมในสังคมไทยยังคงมีความกังวลว่า สถานการณ์สร้างวีรบุรุษในรูปแบบต่างๆ จากกรณีอันเหลือเชื่อที่เรียกว่า Mission Impossible นี้ จะทำให้เยาวชนบางกลุ่ม บางคน "เลียนแบบ" เพราะคิดง่ายๆ ว่า ..อยากดัง อยากเป็นฮีโร่ อยากเป็นที่สนใจ และอยากได้...อะไรอื่นๆ อีกมากมาย เพราะท่ามกลางชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้ายของ 13 หมูป่านั้น มีผู้ใหญ่ใจดีมากมายอยากปลอบขวัญ รับขวัญเด็กๆ ด้วยของขวัญ หรือมอบความปรารถนาดีเป็นกำลังใจต่างๆ เยอะแยะจนน่าอัศจรรย์ใจเช่นกัน
ผู้ใหญ่คิดเองเออเอง และมโนไปไกล ด้วยความกังวล หรือด้วยความรักก็ตาม หรืออาจจะอ่านจากข่าวที่ผู้ติดถ้ำในชิลีได้เปิดใจเตือนเด็กๆ ว่า ให้เตรียมตัวรับกับ "ความโด่งดัง" มีชื่อเสียงอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อนด้วย ...ทั้งหมดคงจะให้คำตอบได้ไม่ดีเท่ากับเด็กๆ ที่เสพข่าวนี้ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ พร้อมกับจะจดจำตลอดไป
เพราะเด็กคือสิ่งที่ผู้ใหญ่ประเมินไปไกลแล้วอย่างต่างๆ นานา
จากเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น มีมุมมองจากน้องๆ วัยทีน เรียนดี วินัยเด่น ในความดูแลของ อ.ชำนาญ รักดี ครูชำนาญการพิเศษ รร.วัดหนองเสือ จ.ราชบุรี และนักเรียนจาก รร.สายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ โดยการดูแลของ อ.โบว์-ธนภรณ์ มาให้ข้อมูลถึงประเด็นดังกล่าว รวมถึงการที่ผู้ปกครองหลายคนมองว่าอาจจะเกิดการเลียนแบบการท่องเที่ยวอันตรายหรือไม่???
(วิระศักดิ์ อัศพิมพ์)
เริ่มกันที่เด็กเรียนดีอย่าง น้องบอล-วิระศักดิ์ อัศพิมพ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/2 รร.วัดหนองเสือ วัย 13 ปี ที่สอบได้ที่ 1 เป็นประจำทุกปี บอกว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นได้เห็นความมีน้ำใจและรักใคร่กันของทุกคนที่มาช่วยเหลือ แม้ว่าแต่ละคนจะไม่รู้จักกัน โดยส่วนตัวบอลมีโอกาสได้ติดตามข่าวหมูป่าทั้ง 13 รายเกือบทุกวันหลังเลิกเรียน ก็รู้สึกลุ้นไปกับการช่วยเหลือ และก็จะเห็นพ่อแม่แอบเศร้าไปกับข่าวด้วยครับ บอลก็คิดว่าถ้าตัวเองเข้าไปติดในถ้ำก็คงรู้สึกกลัวมากๆ ครับ บอลคิดว่าเด็กๆ คงไม่กล้าไปเลียนแบบการติดในถ้ำครับ เพราะเด็กๆ คงกลัวความมืด กลัวหิวครับ แต่ถ้าจะเลียนแบบทีมหมูป่าก็คงเป็นเรื่องของการเล่นกีฬาฟุตบอลครับ เพราะทำให้ร่างกายแข็งแรงและห่างไกลจากยาเสพติด”
(อภิรักษ์ เขียวญวน)
ถัดมาที่น้อง ฟิล์ม-อภิรักษ์ เขียวญวน วัย 13 ปี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1 รร.วัดหนองเสือ ที่สอบได้ที่ 1 เป็นประจำทุกปีเช่นกัน และได้เข้าแข่งขันประกวดวาดภาพระบายสีต่อหน้าพระพักตร์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และได้รับรางวัลชมเชย บอกคล้ายกันว่า “ฟิล์มเห็นความอดทนของทีมหมูป่าทั้ง 13 คน และยังได้เห็นความรักใคร่กลมเกลียว ปรองดองระหว่างโค้ชเอกกับเด็กๆ อีก 12 ราย จากการที่โค้ชเอกบอกให้เด็กๆ นั่งสมาธิ ก็เป็นเรื่องน่าชื่นชมครับ สำหรับการเลียนแบบพฤติกรรมเข้าไปติดถ้ำ ฟิล์มว่าเด็กๆ ทุกคนรวมถึงตัวฟิล์มเอง ก็คงไม่กล้าเล่นผจญภัยแบบนั้นครับ เพราะกลัวเกิดอุบัติเหตุ และกลัวออกมาข้างนอกไม่ได้ ซึ่งการเล่นอันตรายที่สุดสำหรับฟิล์ม คือการเล่นรถไฟตีลังกาในสวนสนุกครับ”
(กิติศักดิ์ ซุ่ยลา)
ด้าน น้องบิ๊ก-กิติศักดิ์ ซุ่ยลา วัย 12 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/2 รร.วัดหนองเสือ ที่เรียนดี สอบได้ระดับท็อป 5 เป็นประจำทุกปี และได้เข้าประกวดแข่งขันวาดภาพ ได้รับรางวัลชมเชยจากสโมสรไลออน บ้านโป่ง อธิบายว่า “ข่าวที่เกิดขึ้นทำให้บิ๊กรู้สึกสงสารพ่อแม่ที่ลูกๆ ของเขาไปติดในถ้ำ และก็ยังได้เห็นความรักจากคนทั่วโลกที่ส่งแรงเชียร์และจิตอาสามาช่วยเพื่อนทีมหมูป่า โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ที่มีภาพคนสวดมนต์เพื่อให้การช่วยเหลือสำเร็จไปด้วยด้วยตา ส่วนตัวบิ๊กเองก็รู้สึกสงสารเพื่อนๆ เช่นเดียวกันครับ แต่ถ้าถามว่าตัวบิ๊กเอง หรือเพื่อนในวัยเดียวกับบิ๊ก จะกล้าเข้าไปเที่ยวเล่นในที่อันตรายหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่กล้าครับ ส่วนหนึ่งกลัวอันตรายจากสัตว์ และก็กลัวพ่อแม่เสียใจครับ แค่ป่าข้างบ้านบิ๊กก็ยังไม่กล้าเข้าไปเล่นครับ”
(ณัฐชัย ไกรวิจิตร)
ขณะที่ น้องโหน่ง-ณัฐชัย ไกรวิจิตร วัย 13 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 รร.วัดหนองเสือ ที่ได้เหรียญทองจากการเข้าประกวดแข่งขันวาดภาพระบายสีจากสโมสรไลออน บ้านโป่ง ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา บอกว่า “รู้สึกสงสารพ่อแม่ที่ต้องคอยลุ้นระทึกเพื่อให้ลูกกลับออกมาจากถ้ำ ขณะเดียวกันก็เห็นความรักของหมู่คณะตอนที่ติดอยู่ในถ้ำ อย่างการเสียสละอาหารของโค้ชเอก ตลอดจนทีมจิตอาสาที่เก่งมากๆ ได้มาช่วยเหลือเพื่อนๆ ทีมหมูป่า แม้ว่าจะไม่รู้จักกัน ทุกๆ วันหลังเลิกเรียน โหน่งก็จะดูข่าวการช่วยเหลือ และก็แอบมีน้ำตาลซึม เพราะสงสารเช่นเดียวกัน เนื่องจากคิดว่าถ้าลองเป็นตัวเองไปติดในถ้ำบ้างก็คงจะกลัวไม่น้อยครับ ส่วนการเลียนแบบการเที่ยวถ้ำนั้น คิดว่าเด็กยุคใหม่คงไม่กล้าเลียนแบบ แต่น่าจะนำมาเป็นบทเรียนในการเลือกท่องเที่ยวในสถานที่ปลอดภัยมากกว่าครับ”
(อนุชา เจียวห้วยขวาง)
ไม่ต่างจาก น้องแป๊ะ-อนุชา เจียวห้วยขวาง วัย 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 รร.วัดหนองเสือ ที่เรียนดี สอบได้ระดับท็อป 5 เป็นประจำทุกปี และก็ชอบเล่นกีฬาฟุตบอลเป็นประจำ บอกว่า “แป๊ะได้เห็นความรัก ความสามัคคีของคนในประเทศและคนทั่วโลกที่มาช่วยเหลือ ที่สำคัญได้เห็นผู้ใหญ่ รวมถึงเด็กต่างประเทศ ที่ได้ส่งกำลังใจเพื่อให้การค้นหาและช่วยเหลือทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำได้สำเร็จ และก็ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้ว คนทั่วโลกเป็นพี่น้อง พร้อมช่วยเหลือกันทุกเมื่อยามเกิดภัยพิบัติต่างๆ และการที่ผู้ใหญ่เป็นห่วงว่าลูกหลานจะไปเลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าว แป๊ะคิดว่าเด็กๆ เองคงไม่กล้าทำอย่างนั้นครับ เพราะมันเสี่ยงต่อชีวิต ถ้าหากเราเข้าไปติดถ้ำจริงๆ อาจจะทั้งหิว ร้อน หรือถูกสัตว์มีพิษกัดได้รับบาดเจ็บ และอาจทำให้พ่อแม่เกิดความทุกข์ใจครับ”
ขยับมาที่ น้องอะตอม-วริศราภรณ์ ไชยกิจ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จาก รร.สายน้ำผึ้งฯ บอกว่า “สิ่งที่ได้เห็นจากข่าวการช่วยเหลือทีมหมูป่า คือการทำหน้าที่เป็นจิตอาสาของทุกคนที่เข้ามาช่วยด้วยความเต็มใจและเต็มกำลัง ส่วนตัวก็สงสารและคอยลุ้นอยู่ตลอดเวลาว่าน้องๆ และเพื่อนที่ติดอยู่ในถ้ำจะเป็นอย่างไร สุดท้ายทุกคนก็ออกมาอย่างปลอดภัย ก็รู้สึกดีใจมากๆ ค่ะ นอกจากนี้ ก็คิดว่าน้องๆ คงไม่กล้าเลียนแบบการเข้าไปติดถ้ำค่ะ เพราะข้างในมันค่อนข้างลำบาก แค่จะเดินเข้าไปก็ว่ายากแล้ว เพราะมีทั้งทางแคบและโขดหินจำนวนมาก และถ้าเข้าไปติดแล้วก็จะทำให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบากเช่นเดียวกันค่ะ”
(อาทิตยา หาระวงศ์)
สำหรับ น้องแจง-อาทิตยา หาระวงศ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อายุ 15 ปี จาก รร.สายน้ำผึ้งฯ เล่าว่า “จากการติดตามข่าว แจงเห็นถึงเรื่องความสามัคคีในการช่วยเหลือกันของคนไทยและคนต่างชาติ และก็ได้เห็นความอดทนอดกลั้น ตลอดจนความหวังในการรอดชีวิตของทีมหมูป่าค่ะ รวมถึงการเชื่อฟังคำแนะนำของโค้ชเอก ส่วนการเลียนแบบการเที่ยวถ้ำที่ผู้ใหญ่เป็นกังวล มุมมองส่วนตัวคิดว่าเพื่อนๆ หรือน้องๆ คงไม่กล้าค่ะ เพราะทุกคนย่อมกลัวอันตรายจากการหลงถ้ำ และกลัวอาการหายไม่ออกหากต้องติดอยู่ในถ้ำ เพราะกว่าที่คนจะรู้และเข้ามาช่วยอาจกินเวลานานหลายวัน จึงไม่คุ้มที่จะต้องไปเสี่ยงอันตรายค่ะ”
(บุณยาพร ไทรท้วม)
ส่วน น้องเนย-บุณยาพร ไทรท้วม อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จาก รร.สายน้ำผึ้งฯ บอกคล้ายกันว่า “นอกจากความสามัคคีในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันแล้ว ยังได้เห็นความอดทน การเสียสละอาหารให้กับเด็กๆ ของโค้ชเอก และก็ยังได้เห็นความร่วมมือของผู้ปกครองทุกคน ตลอดจนความเสียสละอันใหญ่หลวงของจิตอาสาที่เสียชีวิตระหว่างช่วยเหลือ อย่าง จ่าแซม-จ่าเอกสมาน กุนัน รวมถึงโรงพยาบาลที่ให้การช่วยเหลือทีมหมูป่าอย่างพร้อมเพียงค่ะ ส่วนการเลียนแบบเที่ยวถ้ำนั้น คิดว่าเด็กบางคนอาจจะกล้าไปเที่ยวหากว่ามีคนนำทาง แต่ถ้าไม่มีคนนำทาง เด็กก็อาจจะกลัวค่ะ ส่วนตัวหนูมีประสบการณ์ไปเข้าค่ายลูกเสือที่ติดอยู่กับภูเขา ก็รู้สึกว่าเป็นอะไรที่ค่อนข้างเงียบ และสามารถหลงทางได้ง่ายๆ ค่ะ”
(กรรธิฌาศ์ สดคมขำ)
สำหรับ น้องกิ่ง-กรรธิฌาศ์ สดคมขำ อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สะท้อนความคิดเห็นว่า “เห็นถึงน้ำใจของการช่วยเหลือทีมหมูป่าของพี่ๆ หน่วยซีล และทีมงานด้านอื่นๆ ที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือ อีกทั้งได้เห็นความแข็งแรงของโค้ชเอกและน้องๆ ทั้ง 12 คน ที่มาจากการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นที่มาของความสามัคคีในหมู่คณะและการอดทน ส่วนการเลียนแบบการเข้าไปท่องเที่ยวในถ้ำ คิดว่าถ้ามีคนนำทาง เด็กอาจจะอยากไปเที่ยว แต่ถ้าไม่มีผู้นำทาง ประกอบกับอากาศในถ้ำที่น้อย และมืด ไม่มีแสงแดด เด็กก็อาจจะไม่กล้าเข้าไป”
(อุษณีย์ ก่ำเสริฐ)
ปิดท้ายกันที่ น้องอุ้ย-อุษณีย์ ก่ำเสริฐ อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รร.สายน้ำผึ้งฯ กล่าวว่า “สิ่งที่ได้เห็นจากการตามข่าวคือการตั้งใจมาช่วยเหลือของทีมจิตอาสาทุกคนค่ะ แม้ว่าจะไม่รู้จักกัน แต่พี่ๆ ทุกคนก็ทำงานประสานกันได้เป็นอย่างดี ส่วนตัวจากการติดตามข่าวในโลกออนไลน์ ก็รู้สึกดีใจและมีความหวังว่าจะช่วยน้องๆ ออกมาได้อย่างปลอดภัย และความหวังก็เป็นจริงค่ะ จากการร่วมมือของคนทุกฝ่าย นอกจากนี้ก็คิดว่าน้องที่ได้ติดตามข่าวอาจจะกลัวและไม่กล้าเข้าไปเที่ยวในสถานที่ลำบาก ดังนั้นจึงอยากฝากเตือนเด็กที่คิดว่าจะลองนั้น อย่าดีกว่า เพราะถ้าเข้าไปติดแล้วจะทำให้ลำบากทุกฝ่ายค่ะ”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |