เคาะ5กกต.เขี่ย'สมชาย-พีระศักดิ์'


เพิ่มเพื่อน    

     สนช.ประชุมลับเลือก 5 กกต. เขี่ย "สมชาย-พีระศักดิ์" ทิ้ง หลังวิจารณ์คุณสมบัติอย่างหนักกรณีโดนคดี-ไม่เป็นกลาง "พรเพชร" เผยเตรียมสรรหาต่ออีก 2 คน "นิพิฏฐ์” แฉเป็นไปตามแผน “มีชัย” อีก 2 คนทาบทาม แต่เหมือนล็อกสเปก "ป้อม" ลั่นดูดอดีต ส.ส.แลกล้มคดีทำไม่ได้ วงเสวนาเชื่อประเดิมไพรมารีโหวต ปชช.-ขรก.ร่วมน้อย ชี้กระบวนการมีส่วนร่วมเชิงหลอกลวง ท้า "สมเจตน์" เปิดหน้าเล่น ให้ "ประยุทธ์" หนุนทหารสมัครสมาชิกพรรค 
    ที่รัฐสภา วันที่ 12 กรกฎาคม ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม มีการประชุมลับเพื่อพิจารณาตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 7 คน ตามรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญฯ 
    ได้แก่ 1.นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2.นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร 3.นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย 4.นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด และ 5.นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน 2 คน ได้แก่ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และนายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา 
    ต่อมาเวลา 13.10 น. ได้กลับมาเปิดประชุมอย่างเปิดเผย และให้สมาชิก สนช.ลงคะแนนโดยกาบัตรเข้าคูหา จากนั้นประธานที่ประชุมแจ้งผลการนับคะแนน ดังนี้ สำหรับผู้ได้รับการเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง กกต. จำนวน 5 คน ได้แก่ 1.นายสันทัด ได้คะแนน 178 ต่อ 20 งดออกเสียง 3 เสียง 2.นายอิทธิพร ได้คะแนน 186 ต่อ 10 งดออกเสียง 5 เสียง  3.นายธวัชชัย ได้คะแนน 184 ต่อ 12 งดออกเสียง 5 เสียง 4.นายฉัตรไชย ได้คะแนน 184 ต่อ 11 งดออกเสียง 6 เสียง และ 5.นายปกรณ์ ได้คะแนน 185 ต่อ 10 งดออกเสียง 6 เสียง
    สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับการเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง กกต. จำนวน 2 คน ได้แก่ 1.นายพีระศักดิ์ ได้คะแนน 28 ต่อ 168 งดออกเสียง 5 เสียง และ 2.นายสมชาย ได้คะแนน 3 ต่อ 193 งดออกเสียง 5 เสียง
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมลับ พบว่านายสมชายและนายพีระศักดิ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากนายสมชายมีคดีในศาลและ ป.ป.ช. กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด สมัยที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ขณะที่นายพีระศักดิ์ นั้น สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่กังวลถึงความเป็นกลางทางการเมือง
    ต่อมา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. แถลง ว่า เมื่อที่ประชุม สนช.ได้มีมติให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่ง กกต. จำนวน 5 คนแล้ว ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.พ.ศ.2560 ทั้ง 5 คนจะต้องลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ภายใน 15  วันนับแต่วันที่ สนช.ให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 26 ก.ค. ภายหลังพ้นวันที่ 26 ก.ค.ไปแล้ว หากบุคคลทั้ง 5 คนได้ดำเนินการลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ตามกฎหมาย กกต. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะดำเนินการให้ผู้ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช.ดังกล่าว ประชุมร่วมกันเพื่อเลือกประธาน กกต.จำนวน 1 คน ก่อนจะนำรายชื่อทั้ง 5 คนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป เนื่องจากแม้ สนช.จะไม่ได้ให้ความเห็นชอบ กกต.ครบทั้ง 7 คน แต่กฎหมาย กกต.กำหนดให้ผู้ที่ผ่านความเห็นชอบเป็น กกต.จำนวน  5 คน ก็สามารถทำหน้าที่และเป็นองค์ประชุมได้
    "ถ้ามีบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.กำหนด จะมีผลให้ผู้ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช.ที่เหลือไม่สามารถเป็นองค์ประชุมเพื่อเลือกประธาน กกต.ได้ เพราะจะเหลือองค์ประชุมแค่ 4 คน และไม่อาจนำรายชื่อดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้ เพียงแต่บุคคลที่ได้ลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ครบแล้วนั้นยังคงมีสถานะเป็นผู้ได้รับความเห็นชอบจาก สนช.ตามเดิมต่อไป ทั้งนี้หากมีการโปรดเกล้าฯ กกต.ชุดใหม่แล้ว กกต.ชุดปัจจุบันจะพ้นจากตำแหน่งทันที"
หวั่นล็อกสเปก 2 ว่าที่ กกต.
    ประธาน สนช.กล่าวว่า ส่วนการสรรหา กกต.อีก 2 คนนั้น จะทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานกรรมการสรรหา เพื่อประชุมคณะกรรมการสรรหาอีกครั้ง ซึ่งกระบวนการสรรหาใหม่จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 90 วัน อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าการสรรหา กกต.ใหม่อีก 2 คน จะใช้กระบวนการเชิญบุคคลที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญเข้ามารับการสรรหา ตามมาตรา 12 ของกฎหมาย กกต.หรือไม่ เพราะต้องรอให้มีการประชุมคณะกรรมการสรรหาก่อน
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการประชุม สนช.พิจารณารายชื่อว่าที่ กกต. ไม่ครบ 7 คน เนื่องจากอาจมีบางคนคุณสมบัติไม่เหมาะสม และจะมีการเสนอให้ใช้วิธีการทาบทามตัวบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนว่า ในกฎหมายเปิดโอกาสไว้ แต่จะใช้หรือไม่ก็แล้วแต่ ซึ่งสังคมอาจจะยังใหม่กับเรื่องนี้ และไม่ยอมรับวิธีนี้ ดังนั้นจึงไม่ควร เพราะดุลพินิจที่จะบอกว่า ให้ใช้วิธีทาบทามตัวถือว่าล่อแหลมมาก แต่กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามอะไร ทั้งนี้ ก็ต้องทำการสรรหาใหม่ในจำนวนที่ขาดอยู่ ซึ่งหากการพิจารณาของ สนช.ครั้งนี้ได้ กกต. ใหม่ 5 คน ก็สามารถทำงานได้ ส่วนการสรรหาให้ครบ 7 คน ก็อาจจะทำได้เร็วขึ้น 
    เมื่อถามอีกว่า หากมี กกต. 5 คน จะสามารถเดินหน้าจัดการเลือกตั้งได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ทำได้
    นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังทราบชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นกกต.ทั้ง 5 คนว่า เป็นไปตามญาณวิเศษและความศักดิ์สิทธิ์ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่เคยพูดก่อนหน้านี้ว่า ถ้าได้ กกต.ไม่ครบ ก็อาจจะต้องใช้วิธีการทาบทามบุคคลในส่วนที่ขาด ดังนั้น ทุกอย่างเป็นไปตามความคาดหมายของนายมีชัย คือได้ กกต.ไม่ครบ 7 คน ตามที่กฎหมายกำหนด แม้ 5 คนก็สามารถทำงานได้ แต่ต้องมีการทาบทามเพิ่มอีก 2 คน ให้ครบตามที่กฎหมายระบุ แต่ 2 คนที่จะทาบทามภายหลังนี้อาจมีปัญหา เมื่อสังคมเคลือบแคลงในการทำหน้าที่ความไว้วางใจที่จะมีน้อยกว่า 5 คนแรกที่ได้มาจากการสรรหา เปรียบเหมือนการแข่งกีฬา เมื่อนักกีฬาไม่เชื่อถือในกรรมการ เกมแข่งขันอาจไม่ราบรื่น เพราะใช้การทาบทาม ซึ่งภาษาชาวบ้านคือการเชิญคนมาเป็นก็เหมือนการล็อกสเปกว่าอยากให้ใครเป็นกรรมการ แม้จะทำหน้าที่ได้ดี มันก็ดีน้อยลง เพราะความเชื่อถือเชื่อมั่นในความเป็นกลางลดน้อยลง 
    “ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักที่สำคัญว่าผู้มีอำนาจจะลงมาเป็นผู้แข่งขันในเกมเสียเองหรือไม่ อย่างไร เพราะถ้าหากลงมาแข่งขันเสียเอง ก็จะเท่ากับว่ามีกรรมการอยู่ในมือแล้วสองคน เกมการแข่งขันก็ไม่ชอบธรรม ทั้งที่หากเปรียบถึงการเลือกตั้ง ผู้มีอำนาจเขาก็มีสมาชิกรัฐสภาอยู่ในมือแล้ว 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้ง คือเขาเริ่มต้นที่ 250 คน แต่พรรคการเมืองที่แข่งขันเริ่มต้นที่ศูนย์ ถามว่าเช่นนี้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นหรือไม่ ยิ่งมีกรรมการในมือเพิ่มขึ้นอีก ก็ขอให้สังคมคิดเอาเองว่าเกมแข่งขันนี้จะเป็นอย่างไร” นายนิพิฏฐ์กล่าว
    พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ​กล่าวถึงความพร้อมของสำนักงานภายหลังที่ประชุม สนช.มีมติเห็นชอบ 5 รายชื่อว่าที่ กกต.ว่า สำนักงานได้เตรียมความพร้อมทุกอย่างไว้เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการเลือกตั้ง ระเบียบต่างๆ การเตรียมบุคลากรเพื่อรองรับการทำงานในอนาคต ซึ่งขณะนี้กฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการต่างๆ เยอะมาก จึงถือเป็นภาระค่อนข้างหนัก แต่เราก็ได้มีการเตรียมการทุกอย่างไว้รองรับ ไม่ว่าจะทั้งกับ กกต.ชุดเก่าหรือชุดใหม่ โดยพร้อมจะดำเนินการในการจัดการเลือกตั้งได้ทันที  
    "ส่วนที่ สนช.เห็นชอบว่าที่ กกต.เพียง 5 คน ตามกฎหมายก็ถือว่าสามารถมาปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยตาม พ.ร.ป.กกต.กำหนดให้องค์ประชุมของ กกต.ชุดใหม่ต้องมีไม่ต่ำกว่า 5 คน ดังนั้นในการประชุมก็จะต้องเข้าประชุมครบทั้ง 5 คน" พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าว 
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีฝ่ายการเมืองตั้งข้อสังเกตการลงพื้นที่ประชุม ครม.สัญจร จ.อำนาจเจริญและอุบลราชธานี วันที่ 23-24 ก.ค.นี้ มีนัยทางการเมืองว่า ลงพื้นที่มาทั้งปีตลอดทุกเดือนอยู่แล้ว เพิ่งนึกขึ้นได้หรือ ส่วนที่มีกระแสดูดนั้น ไม่มีหรอก นายกฯ ก็บอกแล้วว่าไม่มี
"ป้อม"ปัดดูดแลกล้มคดี
     ส่วนที่มีกระแสข่าวนายกฯ ไม่ได้เป็นผู้ดูดเอง แต่ให้นายทหารพื้นที่ภาคอีสานเป็นผู้ดำเนินการ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า กระแสข่าวก็พูดไปเรื่อย พร้อมถามกลับว่าวิธีดูดเป็นอย่างไร ผู้สื่อข่าวตอบว่า ใช้การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เช่น เรื่องคดีความ รองนายกฯ จึงกล่าวว่า “โอ๊ย คดีอะไร ผมยังไม่รู้เรื่อง ใครเป็นคดีกับใครผมไม่รู้ และในเรื่องกระบวนการยุติธรรมไปแตะต้องไม่ได้ ใครก็ทำอะไรไม่ได้ นายกฯ ก็ทำไม่ได้ ถามว่าจะไปแลกเปลี่ยนไปสั่งให้เขายกเลิกทำได้หรือไม่ ใครทำได้บ้าง มันทำไม่ได้” 
    เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่ามีการเสนอผลประโยชน์เรื่องเงินด้วย พล.อ.ประวิตรตอบว่า เงินที่ไหน ส่วนที่อ้างกันถึงรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจนั้น เขาไม่ได้หาเงินเอง เขาเป็นคนคิดที่จะหาเงินเข้ารัฐ ไม่ได้หาเงินเข้ากระเป๋าเพื่อเอาไปให้ใคร ไม่มีหรอก 
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตถึงการลงพื้นที่และ ครม.สัญจรที่จ.อำนาจเจริญ และ จ.อุบลราชธานี ว่าไม่มี ถ้าจะตั้งข้อสังเกต ก็ทำได้ทุกครั้งที่เคยไป และในทุกรัฐบาล แต่รัฐบาลนี้ได้ประกาศล่วงหน้าว่าจะทำแบบนี้มาเกือบปีแล้ว และลงพื้นที่ไปหลายครั้งแล้ว เดิมทีจะเป็นที่ จ.พะเยาและ จ.เชียงราย แต่ว่าเกิดเหตุการณ์การช่วยเหลือเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมี ซึ่งคนในพื้นที่เขาก็ยุ่งกันอยู่ ถ้าหากไปประชุมก็คงจะไปรบกวน นายกรัฐมนตรีจึงตัดสินใจเปลี่ยนไปประชุมที่ จ.อำนาจเจริญ และ จ.อุบลราชธานีก่อน และครั้งหน้าก็อาจจะไปลงพื้นที่และประชุม ครม.สัญจรที่ จ.พะเยา และ จ.เชียงราย
    เมื่อถามถึงกระแสการดูดอดีต ส.ส.ที่พุ่งเป้าไปที่ภาคอีสาน นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ในสายตาคนทั้งประเทศอยู่แล้ว ว่าดูดหรือไม่ดูด ทำไมจะต้องไปดูดกันถึงที่เกิดเหตุ จะไปดูดก็ไปดูดกันที่อื่น เขาไปทำภารกิจทางราชการ ซึ่งมีหัวข้อชัดเจน ไม่ได้ดูดอะไรทั้งนั้น แต่อาจจะไปคลายก็ได้
    ส่วนกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไลฟ์สดเชิญชวนประชาชน สมัครเป็นสมาชิกพรรค จะผิดกฎหมายหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ที่จริงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะในวันที่มีการหารือกันระหว่าง กกต.และพรรคการเมืองที่ผ่านมา ได้มีคนถามประเด็นนี้ ซึ่งตนได้ตอบไปว่าการติดต่อกันโดยสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่าง กกต.กับพรรคการเมืองนั้นทำได้ ได้สอบถาม กกต.แล้ว ทาง กกต.ระบุว่าสามารถทำได้ แต่พรรคการเมืองกลับลังเลเสียเอง ซึ่งอยากให้ใช้วิธีนี้มากกว่า เพราะวิธีนี้เปิดเผย ไม่ใช่เรื่องลับๆ ล่อๆ และไม่ถือว่าขัดคำสั่ง คสช. เรื่องการรวมตัวทางการเมืองเกิน 5 คนด้วย
      ที่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดการสัมมนาวิชาการเรื่อง “การเลือกตั้งขั้นต้น : ทางออกการเลือกตั้งหรือทางตันประชาธิปไตย?” โดยนายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ไพรมารีโหวต : จุดเปลี่ยนการเมืองไทย?” ตอนหนึ่งว่า เชื่อว่าหากกฎหมายบังคับใช้แล้วข้าราชการส่วนใหญ่ ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร จะไม่สมัครเป็นสมาชิกพรรค จะไม่เปิดหน้าไปทำไพรมารีโหวต เพราะกลัวว่าหากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วอยู่พรรคตรงข้ามของพรรคที่ตนเป็นสมาชิก อาจจะมีปัญหาเรื่องงาน ขณะที่ประชาชนบางกลุ่มที่อาจจะได้รับผลเสียจากการเปิดหน้าเป็นสมาชิกพรรค อาทิ ดีเจสถานีวิทยุ อาจจะไม่กล้าไปสมัครเป็นสมาชิกพรรค เพราะกลัวจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และอาชีพการงานของตัวเอง ซึ่งนี่คือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในการทำไพรมารีโหวตครั้งแรก เพราะประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมน้อยลง จะเหลือแค่กลุ่มคนวงในกลุ่มญาติพี่น้องของผู้สมัคร
ท้า"บิ๊กตู่"ทำไพรมารีโหวต
     “ปรากฏการณ์พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมพลังประชาชาติไทยนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้เป็นรัฐบาล ซึ่งจะทำให้ข้าราชการจำนวนมากเปิดหน้าเชียร์พรรคพลังประชารัฐ เพื่อหวังผลพลอยได้หลังการเลือกตั้ง ทั้งนี้ หากอยากให้กฎหมายใช้ได้ผลจริงๆ คนที่ร่างกฎหมายฉบับนี้คือ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ควรจะต้องเปิดหน้า ประกาศตัวทำตามกฎหมายโดยการสมัครเป็นสมาชิกพรรคใดพรรคหนึ่ง และไปทำตามกระบวนการไพรมารีโหวต และอีกคนหนึ่งที่ควรไปทำไพรมารีโหวตก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะต้องเปิดหน้าและควรประกาศให้ทหารทุกเหล่าทัพมีโอกาสเปิดหน้าสมัครสมาชิกพรรคได้อย่างเสรี หากไม่ทำแบบนี้ โอกาสที่กฎหมายนี้จะดึงดูดใจให้ประชาชนเข้าไปสมาชิกพรรคอย่ากว้างขวางก็จะยาก แต่ก็เชื่อว่าในช่วงแรกการใช้ปัญหาจะเยอะ แต่หากใช้ไปเรื่อยๆ จะทำให้ปัญหาลดลง” นายไชยันต์กล่าว
    ต่อมาในการเสวนาหัวข้อ “การเมืองไทยกับระบบไพรมารีโหวต : ทางออกการเลือกตั้งหรือทางตันประชาธิปไตย โดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. กล่าวตอนหนึ่งว่า ระบบไพรมารีโหวตในครั้งนี้ อาจเกิดจากการออกแบบ 2 แบบ คือ 1.ออกแบบโดยปัญญาเพื่อแก้ปัญหา มีการเอารูปแบบจากต่างประเทศมาปรับใช้ให้เหมาะสม และ 2.ออกแบบโดยอคติ เพื่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ หรือเป็นประโยช์ต่อพวกพ้องตัวเอง ซึ่งตนมองว่าเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง ทั้งนี้ กระบวนการทำไพรมารีโหวตนั้น ได้มีความรู้สึกว่าเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกผู้สมัคร แต่เป็นกระบวนการในเชิงหลอกลวง ให้เห็นเหมือนว่าเรามีการเลือกตั้งแล้ว มีการทำไพรมารีโหวตแล้ว เป็นประชาธิปไตยแล้ว ทั้งที่ไม่ใช่ 
    "แม้หลักการดังกล่าวจะดี แต่จะต้องช่วยกันทำให้ระบบเข้มแข็งมากขึ้น เพราะการทำไพรมารีโหวตในครั้งแรกอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แต่ไม่ควรยกเลิก แม้จะดูเป็นพิธีกรรม ไม่ควรลดทอนรูปแบบ แต่ควรลองทำกันไปเพื่อให้รู้ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น ซึ่งไม่มั่นใจว่าการทำไพรมารีโหวตผลที่ออกมาจะดีหรือไม่ หากคนที่ถอยมาจากรัฐบาล กรธ. หรือ สนช.เอง ก็เท่ากับว่าขาดวุฒิภาวะอย่างแท้จริง เพราะทำประเทศเหมือนการขายของเด็กเล่น อยากเขียนกฎหมายอะไรก็เขียน พอวันหนึ่งก็เปลี่ยนทั้งที่ยังไม่ได้เริ่ม" นายสมชัย กล่าว 
    นายสมชัยกล่าวอีกว่า ขณะนี้เหมือนกับว่าไพรมารีโหวตเปิดตัวแบบพระเอก แต่ตอนจบเป็นผู้ร้าย คือเริ่มต้นจากหลักการที่ดี แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่เกิดขึ้นตามหลักการดังกล่าว เพราะพรรคจะไปคิดถึงคนที่ชนะเลือกตั้ง คนมีอิทธิพลในพื้นที่ ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์อะไร โดยผู้ร้ายตัวจริงเป็นการเขียนกติกาแบบเกรงใจ จนทำให้ไพรมารีโหวตกลายเป็นผู้ร้าย เพราะกลัวพรรคเล็กจะทำไม่ไหว กลัวพรรคใหญ่จะได้รับเลือกตั้ง 
     ด้านนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า โดยหลักการที่ต้องการเลือกผู้สมัครจากระดับล่างขึ้นบน ซึ่งคิดว่าทำไม่ได้ เพราะความจริงทางการเมืองไทยพฤติกรรมการเลือกตั้งของไทยยังมีปัญหา ขณะที่จำนวนสมาชิกแต่ละพรรคเหลือรวมกันมีแค่ 200,000 คน แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมี 55 ล้านคน ดังนั้นการทำไพรมารีโหวตจึงไม่ได้มาจากประชาชนส่วนใหญ่ นอกจากนั้นบทเฉพาะกาลที่อนุโลมให้ใช้ตัวแทนประจำจังหวัดมาเลือกผู้สมัครในทุกเขตของจังหวัด จึงกังวลว่าจะกลายเป็นการที่ผู้ที่ต้องการเป็นผู้สมัครไปไล่หาสมาชิกเพื่อมาเลือกตัวเอง ซึ่งจะไม่ใช่การเลือกจากสมาชิกพรรคอย่างแท้จริง เป็นการเขียนกฎหมายโดยไม่เข้าใจบริบทสังคม ถือเป็นบาปบริสุทธิ์ครั้งใหญ่ จึงอยากให้ทำไพรมารีโหวตแบบเป็นภาคแทนประจำจังหวัดแบบพอไปได้ก่อน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"