ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่ฯ นำผู้เสียหายยื่นศาลค้านประกันคดีแชร์โอดี แคปปิตอล หลังมีข่าวตำรวจให้ประกันผู้ต้องหาบางราย ชี้ความเสียหายหลายพันล้านและเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ
ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก วันที่ 12 กรกฎาคมนี้ นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย พร้อมผู้เสียหาย เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาคดีแชร์โอดี แคปปิตอล มูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาท ต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
นายสามารถเปิดเผยว่า จากการแถลงข่าวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า ได้จับกุมนายชินวัตร น้อยวัน ผู้ต้องหา ซึ่งเป็นผู้บริหารคดีแชร์ลูกโซ่โอดี แคปปิตอล กับพวกแล้ว และจากการตรวจสอบพบว่าบริษัทไม่มีอยู่จริง เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน กระทำผิดตาม พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และยังสามารถยึดอาวุธปืนได้หลายกระบอก โดยมีสมาชิกผู้เสียหายประมาณ 5 แสนคน ความเสียหายหลายพันล้านบาท พฤติการณ์ของแชร์ลูกโซ่คดีนี้จะมีการจัดประชุมผู้เสียหายหลายครั้ง ในหลายพื้นที่ รวมทั้งต่างจังหวัด โดยมีชาวมาเลเซียเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ
"เราคิดว่าหลังการจับกุมจะครบกำหนดควบคุมตัว 48 ชั่วโมงแล้ว พนักงานสอบสวนต้องนำตัวผู้ต้องหามาขออนุญาตฝากขังต่อศาลอาญา ผู้เสียหายก็ได้มายื่นคำร้องคัดค้านการประกันตัวไว้ เพราะเกรงว่าถ้าผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวจะไปยุ่งเหยิงกับพยาน เพราะตำรวจสามารถยึดอาวุธปืนได้ด้วย อีกทั้งตำรวจยังไม่ได้ดำเนินการปิดเซิร์ฟเวอร์ของเครือข่าย ทำให้ขบวนการแชร์โอดี แคปปิตอล ยังหลอกลวงประชาชนได้อยู่"
นายสามารถกล่าวต่อไปว่า กลุ่มผู้เสียหายยังกังวลกับเงินที่โดนหลอกให้ลงทุนแชร์ลูกโซ่ นอกจากนี้ยังมีผู้เสียหายที่ยังไม่ได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน ซึ่งเขาไม่ทราบว่าจะต้องแจ้งความกับหน่วยงานใด ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรจะตั้งคณะทำงาน หรือชุดเฉพาะกิจมาช่วยเหลือรับแจ้งความจากผู้เสียหายที่มีอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ คดีดังกล่าวแม้จะจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว แต่ทรัพย์สินอื่น เช่น รถยนต์ ยังไม่ได้มีการยึดอายัด ผู้เสียหายเกรงว่าจะได้ทรัพย์สินคืนครบถ้วนหรือไม่ จึงจำเป็นต้องขุดรากถอนโคนขบวนการแชร์ลูกโซ่คดีนี้ โดยติดตามตรวจสอบทรัพย์สินอื่น ทั้งตู้เซฟ ทองคำ และเงินสด เพื่อป้องกันการโยกย้ายถ่ายโอน เพราะคดีนี้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อายัดเงินในบัญชีธนาคารของเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ได้เพียงกว่า 100 ล้านบาทเท่านั้น
ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า คดีนี้ที่อ้างว่าเป็นอาญากรรมข้ามชาติ มีอัยการสูงสุดมาร่วมสอบสวนด้วย พนักงานสอบสวนได้ใช้ดุลพินิจอย่างไรในการให้ประกันตัว เพราะว่าจับกุมผู้ต้องหาแชร์โอดี แคปปิตอล ได้ถึง 22 คน จากที่ศาลอาญาออกหมายจับทั้งหมด 32 คน ถือเป็นเครือข่ายใหญ่ อย่างคดีแชร์ลูกโซ่โชกุน ผู้ต้องหามีประมาณ 10 คน ยังต้องมาฝากขังต่อศาลอาญา หรือคดีแชร์ลูกโซ่ยูฟันก็ต้องนำตัวมาฝากขัง เพื่อที่จะสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้ปัญหาแชร์ลูกโซ่ให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่มีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นผู้รับผิดชอบ จึงควรมีแนวทางว่าคดีใหญ่แบบนี้ควรจะให้ประกันตัวหรือไม่
ด้านนายพุทธินัย บุณนาค หนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า ตนได้หลงเชื่อขบวนการแชร์ลูกโซ่ โดยเมื่อปี 2556 ได้นำเงินมาลงทุนซื้อคอนโดมิเนียมประมาณ 600,000 บาท ตามคำชักชวนและอ้างว่าจะนำเงินไปลงทุนหุ้นด้วย หลังจากนั้นประมาณ 6-7 เดือน ถึงจะจ่ายผลประโยชน์ให้ แต่ภายหลังกลับไม่สามารถจ่ายเงินให้ตามที่กล่าวอ้าง ทำให้ตนไม่มีเงินไปผ่อนคอนโดฯ ซึ่งผู้ที่ชักชวนให้มาลงทุนก็คือเพื่อนของเพื่อน โดยพฤติการณ์ของเครือข่ายนี้มีลักษณะชักชวนคนมาลงทุน โดยบอกต่อๆ กัน อ้างว่าจะได้ผลตอบแทนมาก 10-15 เปอร์เซ็นต์ และมีธุรกิจของเครือข่ายที่น่าเชื่อถือ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ในที่สุด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |