ดื่มด่ำต้นไม้พันปีเมืองสองแคว เลียบถิ่นลาวเวียงลับแล


เพิ่มเพื่อน    

 

เดินเล่นตลาดวัฒนธรรมลาวเวียงหมู่บ้านหาดสองแคว จ.อุตรดิตถ์

 

    การท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลกไม่ได้มีแค่สถานที่ยอดนิยมที่หลายคนเคยรู้จัก แต่เมืองสองแควยังมีศักยภาพด้านธรรมชาติอีกมากมายที่ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถปักหมุดหมายให้กลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆ ได้อีก ที่อยากแนะนำในโอกาสนี้ก็คือ การไปชมต้นไม้ใหญ่ของจังหวัดที่มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี อย่างต้นจำปาขาว อายุกว่า 700 ปี และต้นยางนา อายุมากกว่า 1,000 ปี ที่ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ทั้งสองต้นเป็นไม้ใหญ่ในจำนวน 63 ต้นที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นต้นไม้ในโครงการ "รุกขมรดกของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 63 พรรษา 2 เมษายน 2561" ซึ่งกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก ได้เปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้
    ตามเป้าหมายของโครงการรุกขมรดกของแผ่นดิน นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ก็คือ ต้องการให้พื้นที่ที่มีต้นไม้เก่าแก่เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยว ที่ผู้คนสามารถเข้ามาสัมผัสความสวยงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ได้ รวมทั้งยังต้องการให้เป็น Destination หรือจุดหมายปลายทางใหม่ๆ ให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศด้วย

จำปาขาว 700 ปี เชื่อว่าพ่อขุนบางกลางหาวทรงปลูก

   

     ต้นไม้ทั้ง 63 ต้นที่มีอายุเก่าแก่และจัดว่าเป็นรุกขมรดก มีให้เห็นตั้งแต่เหนือจรดใต้ อย่างที่เชียงราย ถ้าไปเยือนก็จะพบต้นสมอพิเภกอายุ 150 ปี หรือถ้าไปปัตตานีก็จะพบกับต้นหยีอายุเกือบ 300 ปี
    ส่วนที่เมืองสองแคว จ.พิษณุโลก เราจะได้พบกับต้นจำปาขาวอายุตั้ง 700 ปี ตั้งตระหง่านออกดอกสีขาวสวยๆ ส่งกลิ่นหอมฟุ้งขจรขจายไปทั่วอาณาบริเวณใกล้ๆ มีการสันนิษฐานว่า จำปาขาวต้นนี้เป็นต้นเดียวกับที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ว่า 'พ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง ทรงปลูกเพื่อเป็นอนุสรณ์ที่วัดวัดหนึ่ง ปัจจุบันก็คือ วัดกลาง ที่ดูแลไม้ใหญ่ต้นนี้ แล้วยังมีตำนานชาวนครไทยเล่าขานว่า จำปาขาวต้นนี้พ่อขุนบางกลางหาวทรงปลูกก่อนออกไปสู้รบกับขอมเพื่อตีเมืองสุโขทัยคืนมา พร้อมตั้งสัตยาธิษฐาน ถ้าทำสำเร็จขอให้ต้นจำปางอกงามดี ซึ่งพระองค์ได้ชัยชนะ ตั้งราชอาณาจักรสุโขทัยขึ้น เป็นกษัตริย์นาม พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทุกวันนี้จำปาขาวก็ยังแผ่กิ่งก้านใบ ประวัติและความดีๆ ช่วยเพิ่มความรู้สึกเวลาดูต้นจำปาขึ้นมากทีเดียว ในวัดมีพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ให้กราบสักการะ

 

ต้นยางนา 1,000 ปี แหล่งท่องเที่ยวใหม่ จ.พิษณุโลก

 

    บนเส้นทางต้นไม้ใหญ่ยังมีต้นยางนาพันปี อีกจุดที่ต้องแวะ ใช้เวลาจากวัดกลางไม่ถึง 20 นาที เราได้เห็นต้นยางที่สมบูรณ์มากๆ สูงถึง 50 เมตร มีขนาดเส้นรอบวงยาว 15 เมตร ราว 20 คนโอบ วันนั้นมีทั้งพิธีบวงสรวงและห่มผ้าต้นยางนายักษ์ ชาวบ้านในท้องถิ่นมาร่วมงานกันคึกคัก เป็นอีกต้นที่โดดเด่นและมีเรื่องราวข้างเคียงมาเล่าสู่กันฟังว่า พบซากถ้วย จาน ชาม ไห พระเก่าจำนวนมากเกลื่อนกลาดบริเวณต้นยางนา สันนิษฐานว่าตรงจุดนี้อาจเคยเป็นฐานทัพของพระร่วง มีเรื่องเล่าอีกว่า ชุมชนนี้เดิมมีต้นยางนาเต็มไปหมด จึงชื่อ บ้านสวนยาง ช่วงที่มีการค้าไม้เมื่อ 50 ปีก่อน มีบริษัทกว้านซื้อไม้ใหญ่ แต่ยางนาต้นนี้กลับรอดมาได้ ชาวบ้านเชื่อกันว่ามีเจ้าที่ปิดหูปิดตาไม่ให้เห็น

 

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วธ. ห่มผ้าต้นยางนา ชวนท่องเที่ยวต้นไม้ใหญ่รุกขมรดกแห่งแผ่นดิน


    ปัจจุบัน ชาวบ้านใช้ร่มไม้ต้นยางนาพักหลบร้อนช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ทุกวันที่ 16 มกราคม จะร่วมกันห่มผ้า นิมนต์พระมาทำบุญตักบาตร บอกเลยว่าเป็นศูนย์รวมใจของชุมชน ตอนนี้มีงบประมาณทำทางเข้าให้สะดวกยิ่งขึ้น เห็นแบบนี้แล้วคงอยากเก็บกระเป๋าออกมาท่องเที่ยวต้นไม้ใหญ่กันแน่ๆ  จากพิษณุโลก ยังมีที่เที่ยวเชื่อมโยงสู่จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นชุมชนลาวเวียงหมู่บ้านหาดสองแควริมแม่น้ำน่าน ที่ยังคงรักษาวิถีวัฒนธรรมสืบทอดมาจากบรรพบุรุษลาวเวียงจันทน์ ที่อพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3

 

ขนมวงโบราณ อีกเมนูพื้นถิ่นบนถนนวัฒนธรรม


    ที่บ้านหาดสองแคว อ.ตรอน เมืองลับแล อุตรดิตถ์ เราเดินเล่นซึมซับบรรยากาศของท้องถิ่นที่มีเสน่ห์น่าจดจำ ผ่านตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรมชุมชนลาวเวียง ซึ่ง รมว.วัฒนธรรมมาเปิดตลาด พร้อมชูจุดขายทั้งที่เที่ยว พิพิธภัณฑ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และอาหารการกิน ถูกใจขาเที่ยวแน่นอน โดยตลาดวัฒนธรรมจัดทุกๆ วันศุกร์และวันเสาร์แรกของเดือน

 

หมี่พันสุดอร่อยมาชิมกันได้ 
    

     มาที่นี่จะได้ชิมเมนูเด็ดสไตล์ลาวเวียง พริกยัดไส้ คนบ้านหาดสองแควเอิ้นว่า "อั่วบักเผ็ด" ป้าบุญส่วน เรืองเดช ชาวลาวเวียง แนะวิธีทำพริกยัดไส้อย่างง่ายๆ ให้ลองทำตาม โดยนำพริกเขียวเม็ดใหญ่ควักไส้ออก แล้วเอาหมูสับผสมกับข้าวโพด ซึ่งปรุงรสด้วยการนำผสมกับหอมแดง ตะไคร้ กระชาย ใบนางสก ปลาร้า มาโขลกให้เข้ากัน เสร็จแล้วก็นำมายัดไส้ในพริกหยวก หลังจากนั้นนำมาทอดน้ำมันไฟปานกลาง จะกินเล่นหรือเสิร์ฟกับข้าวสวยร้อนๆ ก็สุดอร่อย อีกเมนูห้ามพลาดชื่อ "แกงโอ๊ะเอ๊ะ" เหมาะกับสายคลีน เป็นแกงผักพื้นบ้านตามแต่จะหาได้ ทั้งยอดฟักทอง ยอดบวบ มะเขือ ใบแมงลัก ฯลฯ ปรุงรสให้แซ่บด้วยน้ำปลาร้า อร่อยแบบลาวเวียงแท้ๆ

 

'อั่วบักเผ็ด' เมนูเด็ดสไตล์ลาวเวียง 


    ถนนสายวัฒนธรรมแห่งนี้สุดยอดจริงๆ รวมอาหารและขนมท้องถิ่นของชาวลาวเวียง บางชนิดมีขายที่นี่เท่านั้น เช่น ขนมวงโบราณ, ขนมวงลาวเวียง, ขนมเบื้องลาว, ขนมเผือก, ปลาเกลือ, แจ่วเอาะปลาแดก หรือน้ำพริกเอาะปลาร้า, หมี่พัน, ขนมลูกตุย, ขนมขี้หนูสีธรรมชาติ รวมทั้งน้ำสมุนไพรท้องถิ่น ที่ตลาดยังมีผักพื้นบ้านปลอดสารพิษ รวมถึงผลไม้ตามฤดูกาล หน้านี้ลำไยออกแล้ว มีหลายร้านให้เลือกซื้อ พ่อค้าแม่ขายก็เป็นคนในชุมชนทั้งนั้น จัดร้านสวยงาม ใช้ภาชนะบรรจุอาหารจากธรรมชาติแทนโฟม

 

เดินเล่นเจอมุมถ่ายภาพเก๋ๆ ถูกใจนักท่องเที่ยว 


    อีกเสน่ห์ของที่นี่ก็คือ หน้าตาบ้านเรือนยังคงรูปแบบเดิมๆ พอตกค่ำก็มีการฉายภาพยนตร์ย้อนยุคให้ชมกันด้วย ใครชอบบรรยากาศสงบ ไม่วุ่นวาย อยากให้มาเดินเล่นหรือลองมาพักโฮมสเตย์ชุมชนลาวเวียง เข้ามาเรียนรู้วิถีของชาวบ้าน มารู้จักประเพณีหาบจังหัน แล้วอย่าลืมมาเที่ยวพิษณุโลก-อุตรดิตถ์ ใช้เวลาดีๆ ร่วมกัน   

     


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"