ตื่นแก้ปัญหาราคายาง 'ครม.'เล็งถก'ชาวสวน'


เพิ่มเพื่อน    

"บิ๊กตู่" ย้ำเร่งแก้ราคายางตกต่ำ ผลักดันใช้ยางในประเทศ ควบคู่เจรจามาเลย์-อินโดฯ ถก ครม.พร้อมหารือแกนนำชาวสวนยางหาข้อสรุปสัปดาห์นี้ คยปท.ชงนำเงินสะสมท้องถิ่นทำถนน ปชป.แนะ "กฤษฎา" ใช้ประกันรายได้ช่วยเกษตรกร

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาราคายางพาราตกต่ำและข้อเสนอการแก้ไขปัญหาของนักการเมืองที่ต้องการให้รัฐบาลพูดคุยกับผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก ทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย ว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการแล้ว และทำมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด ภายใต้กรอบการทำงานของสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) ล่าสุดได้ร่วมกันวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ความต้องการใช้ยางและปริมาณยางในตลาด ปัจจัยที่มีผลต่อราคา และทั้ง 3 ประเทศตกลงใจร่วมกันที่จะเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งจะทำทุกวิถีทางเพื่อผลักดันให้ราคายางกลับเข้าสู่สภาวะที่ควรจะเป็น

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า นายกฯ เน้นย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่การทำงานให้เกิดผลสำเร็จต้องใช้เวลา เพราะเรื่องราคายางมีความเกี่ยวพันกับตลาดโลกด้วย ขณะนี้ได้เร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐใช้ยางในประเทศมากขึ้น พร้อมกับพูดคุยกับทั้ง 2 ประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ รมช.เกษตรฯ คนใหม่ไปพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ โดยมีแนวทางเบื้องต้นว่าจะดูแลที่ตัวเกษตรกรเป็นหลัก เพื่อไม่ให้กระทบกลไกตลาด เช่น ส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นสถาบันหรือองค์กร แปรรูปยางขั้นต้น ชะลอการขายน้ำยาง การจัดโซนนิงการปลูกยางและลดพื้นที่ปลูก เป็นต้น

“ในสัปดาห์นี้จะมีการพูดคุยถึงสถานการณ์ราคายางและแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งในการประชุมคณะรัฐมนตรีและการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ จึงเชื่อว่าหากทุกฝ่ายเปิดใจรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มองปัญหาร่วมกันอย่างเข้าใจ ก็จะสามารถหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาวได้อย่างราบรื่น” โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ

ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การรับตำแหน่งใหม่ของรัฐมนตรีเกษตรฯ ทั้ง 3 คน น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี โดยนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ ประกาศว่าจะเน้นแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรใน 3 เดือน โดยเฉพาะยางพาราและข้าว ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์อยากฝากให้รัฐบาลนำโครงการประกันรายได้เกษตรกรมาใช้แก้ไขเรื่องข้าวในฤดูกาลผลิตนี้ โดยให้จ่ายเงินส่วนต่างแก่เกษตรกรโดยตรง เข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะช่วยทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ต้องแบกภาระขาดทุนจากการทำนา ซึ่งขณะนี้เป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าว จะทำให้มีข้าวออกสู่ตลาดพร้อมกันมาก อาจทำให้ข้าวที่มีราคาต่ำอยู่แล้วต้องตกต่ำลงไปอีก

"ขอเสนอให้ รมว.เกษตรฯ ส่งเสริมให้ชาวนาเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางของตนเองหรือยุ้งฉางของชุมชน พร้อมออกมาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าว โดยมอบสินเชื่อในสัดส่วนร้อยละ 90 ของราคาประกันรายได้ โดยภาครัฐเป็นผู้ชดเชยดอกเบี้ยให้ชาวนาทดแทน พรรคเชื่อมั่นว่าถ้า รมว.เกษตรฯ ใช้นโยบายประกันรายได้ จ่ายสมทบ เงินส่วนต่างและรณรงค์ให้เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางชะลอการขาย จ่ายดอกเบี้ยให้ชาวนาทดแทน จะเป็นการช่วยชาวนาให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งตามไปด้วย" นายองอาจ กล่าว

ส่วนสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ อาจใช้วิธีประกันรายได้ จ่ายสมทบเงินส่วนต่างเพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรกรตกต่ำได้เช่นเดียวกัน โดยอาจปรับมาตรการให้เป็นไปตามสภาพความเป็นจริงของสินค้าเกษตรกรแต่ละตัว จะเป็นการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นตามสมควร ไม่ต้องตกอยู่ในสภาพรายได้ไม่พอรายจ่าย จนต้องไปกู้หนี้ยืมสินจนกลายเป็นดินพอกหางหมูแบกหนี้หลังแอ่นหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ พรรคประชาธิปัตย์เชื่อมั่นว่านโยบายประกันรายได้ จ่ายสมทบเงินส่วนต่างนี้ จะช่วยสร้างเม็ดเงินให้เกษตรกรแต่ละครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ขณะที่นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางและสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย (คยปท.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทาง คยปท.และสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) ได้ร่วมกับสมาพันธ์องค์การบริหารส่วนจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ ได้ทำการผลักดันนำโครงการยางพารามาผสมกับยางมะตอยทำถนน และเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่รัฐบาลจะนำเงินสะสมขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.), องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.), เทศบาล (ทบ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มาพัฒนาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ทางหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม คือการนำยางพารามาผสมยางมะตอยในการสร้างถนนของ อปท. และนำมาทำถนนลูกรังหรือถนนดินพาราซอยล์ซีเมนต์ ซึ่งสามารถสร้างได้ทุกซอยในหมู่บ้าน โดยสร้างหมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร (กม.) ต่อปี จากจำนวน 84,000 หมู่บ้าน ซึ่งจะทำให้มีการใช้ยางทั้งประเทศประมาณกว่า 1.7 ล้านตันต่อปี จากยางภาพรวมกว่า 4 ล้านตันต่อปี.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"