สั่งสอบรพ.ประจันตคาม"ติดฉลากยา"ประจาน"แม่คนไข้"


เพิ่มเพื่อน    

 

ปลัด สธ.สั่งสอบข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่ รพ.ประจันตคาม ติด "ฉลากยา" คล้ายประจาน "แม่คนไข้" โพสต์ด่าเจ้าหน้าที่ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว มีการติดฉลากยาข้างขวดยาว่า "มารดาเด็กโพสต์ด่าเจ้าหน้าที่"

12ก.ค.61-  นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ รพ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี มีการติดฉลากยาข้างขวดยาว่า "มารดาเด็กโพสต์ด่าเจ้าหน้าที่" หลังจากแม่คนไข้ไปใช้บริการที่โรงพยาบาลแล้วโพสต์ด่าลงเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ตนรับทราบข่าวดังกล่าวแล้ว จึงมีคำสั่งให้ลงไปตรวจสอบ ข้อเท็จจริงถึงสาเหตุ คงต้องขอเวลาในการดูข้อเท็จจริงก่อนว่า จะเข้าข่ายผิดวินัยหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว นพ.พงศธร สร้อยคีรี ผอ.รพ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ได้ทำหนังสือขอโทษสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า เกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเจ้าหน้าที่ ที่ระบุข้อความเพื่อจะเฝ้าระวังในการให้บริการครั้งต่อไปให้ดีที่สุด ไม่มีเจตนาอื่นใด โรงพยาบาลจึงขอรับผิดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและจะปรับปรุงบริการในครั้งต่อไปในด้านพฤติกรรมบริการและกระบวนการจ่ายยาแก่ผู้ป่วย ด้าน 
ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า หลักเกณฑ์ในการจ่ายยาแก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลนั้น ฉลากยาจะต้องระบุชื่อของผู้ป่วย ชื่อยา เลขทะเบียน วิธีในการกินหรือใช้ ส่วนที่มีรายละเอียดว่าจะต้องรับประทานมากน้อยเท่าไรเวลาไหน หรือใช้อย่างไร ก็จะมีการเรียกคนไข้มารับยา จากนั้นจะต้องมีการถามชื่อว่าตรงกันหรือไม่ แล้วจึงอธิบายว่ายาดังกล่าวมีวิธีในการใช้หรือรับประทานอย่างไร จากนั้นจึงถามว่าเข้าใจหรือไม่ ส่วนกระบวนการในการพิมพ์ฉลากยานั้น ที่จะต้องระบุชื่อคนไข้ ชื่อยาต่างๆ นั้น จะพิมพ์ออกมาจากเครื่องอัตโนมัติ โดยดึงจากประวัติของคนไข้ ซึ่งจากการที่โรงพยาบาลออกมายอมรับว่า เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเจ้าหน้าที่ ก็ต้องมาดูว่าใครเป็นคนเขียน ซึ่งในห้องยามีทั้งเภสัชกรในการควบุคมดูแล อย่างน้อย 2 คน คนนึงตรวจสอบชื่อยา และข้อมูลคนไข้ให้ถูกต้อง โดยอีกคนต้องตรวจข้อมูลอีกครั้งก่อนจ่ายยา และเจ้าหน้าที่ หากเป็นเภสัชกรเป็นผู้เขียนแล้วปล่อยให้หลุดออกมา ตรงนี้ถือว่าผิดวินัยชัดเจน แต่หากเป็นผู้อื่นเขียน เภสัชกรในวันนั้นก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบเพราะมีฐานะเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องต่างๆ ทั้งหมด ซึ่งหากไม่ได้ตรวจสอบให้ดีก็ถือว่าเป็นความผิดของเภสัชกรเช่นกัน 


นพ.พงศธร สร้อยคีรี ผู้อำนวยการ รพ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบ แต่ความผิดพลาดได้เกิดขึ้นไปแล้ว ซึ่งทางรพ.ได้ส่งทีมเข้าไปขอโทษและพูดคุยกับมารดาของเด็กแล้ว ซึ่งมีท่าทีเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนการติดตามการรักษาของผู้ป่วยเด็กคนดังกล่าว ก็พบว่า อาการดีขึ้น มีอาการหอบน้อยลง น้ำมูกลดน้อยลง และแนะนำมารดาอยู่ว่า หากยาหมดแล้วอาการไม่ดีขึ้นก็ให้มาดำเนินการตรวจซ้ำใหม่ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 3-4 เดือนที่แล้ว ซึ่งเผอิญว่าผู้รับบริการไม่ได้เขียนใบร้องเรียนขึ้นมาหา รพ.ว่าการบริการของ รพ.มีปัญหาอะไร ขณะที่เจ้าหน้าที่มีความหวังดีในการวงเล็บไว้ท้ายชื่อผู้ป่วยในระบบเวชระเบียน เพื่อระวังเฝ้าระวังในการบริการครั้งต่อไป ดังนั้น เมื่อมารับบริการอีกครั้งในครั้งที่ 2 ก็เลยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ซึ่งยอมรับว่ามีความไม่เหมาะสม โดยปัญหาเกิดจากการตรวจสอบที่อาจจะไม่เข้มงวดจริงๆ แล้ว ชื่อตามเวชระเบียนจะผ่านหลายจุด แต่จุดสุดท้ายคือห้องยา  จึงถือเป็นความผิดพลาดของโรงพยาบาลที่ปล่อยหลุดออกมาซึ่งจากกรณีนี้ รพ.จะต้องมาปรับปรุงระบบเวชระเบียนทั้งหมดเลยว่า การที่มีวงเล็บข้างหลังชื่อ มีความจำเป็นหรือไม่ จำเป็นขนาดไหน ซึ่งต่อไปนี้อะไรที่ไม่เกี่ยวกับโรคประจำตัวหรืออาการผู้ป่วยที่จำเป็น จะต้องเอาออกทั้งหมด โดยอาจคงไว้เฉพาะกรณีที่จำเป็น เช่น การแพ้ยาของคนไข้ การมีโรคประจำตัวที่รุนแรง เป็นต้น ซึ่งต่อไปจะไม่มีปัญหาเช่นนี้อีก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการไล่ปรับปรุงเวชระเบียนของโรงพยาบาลที่มีอยู่ประมาณ 4 แสนกว่าคน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงไม่ได้เอาผิดหรือเอาโทษกับผู้ใดผู้หนึ่ง หรือเภสัชกรที่เป็นผู้ตรวจสอบคนสุดท้าย แต่เป็นเรื่องของการต้องมาปรับปรุงทั้งระบบอย่างที่กล่าว.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"