ใครจะล้มคสช.ได้! การเมือง-สื่อฉะ'ประยุทธ์'ใส่ความ/ดักคอยื้อเลือกตั้ง90วัน


เพิ่มเพื่อน    

รัฐมนตรีเรียงหน้าตีมึนไม่รู้ “ประยุทธ์”  ร่อนสารบอก “สื่อ-นักการเมือง” จ้องล้ม “วิษณุ” บอกไม่ได้รับ ส่วนสุวพันธุ์อ้างลายมืออ่านยาก แต่ สมช.ระบุมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นเพราะใกล้เลือกตั้ง “พท.-ปชป.” พาเหรดสับใครจะทำได้เพราะอำนาจรัฐมหาศาลอยู่ในมือลุงตู่ “เนติบริกร” ชี้ขยายเวลากฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส.อีก 90 วันทำได้ เผยไม่มีการกำหนด กม.ต้องบังคับใช้วันรุ่งขึ้น แต่ต้องแจงเหตุผลให้ชัด “2 พรรคการเมืองใหญ่” รุมประณามแนวคิด “นิพิฏฐ์” ประชดให้นั่งยาวไปถึง 2569 เพื่อให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ไปเลย
    เมื่อวันพฤหัสบดี มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แจกเอกสารเขียนด้วยลายมือจำนวน 12 หน้า ชี้แจงหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นสื่อและนักการเมืองพยายามล้มรัฐบาล โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ยืนยันว่าไม่ได้รับ ปกติเวลาประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เอกสารเหล่านี้ หากนายกฯ ต้องการส่งถึงใคร ก็จะส่งข้อความเป็นกระดาษให้เฉพาะคนที่ต้องการส่งให้ ไม่ได้ส่งให้ทุกคน จึงไม่รู้ว่าเรื่องอะไร เพราะไม่ได้อ่าน และรัฐมนตรีหลายคนก็ไม่ได้รับ ซึ่งได้สอบถามนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ก็ไม่ได้รับเช่นกัน 
    นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า เอกสารดังกล่าวมี 2 ส่วน คือการขับเคลื่อนงานของรัฐบาลในเวลาที่เหลืออยู่ในปี 2561 ว่าต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง และส่วนที่ 2 เป็นการพูดถึงภาพรวมของประเทศ ส่วนที่ระบุว่าสื่อและนักการเมืองจ้องโจมตีรัฐบาลและ คสช.หรือไม่นั้น ยังอ่านเอกสารไม่ครบ เพราะลายมือของนายกฯ ค่อนข้างอ่านยาก แต่นายกฯ มีความตั้งใจที่ดี 
    ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร โดย นายกฯ แจกประเด็นต่างๆ ที่อยากให้มีการขับเคลื่อน เพราะนายกฯ จดข้อมูลด้วยมือตัวเองทุกครั้งในการประชุม ครม. และจะอ่านให้ ครม.ฟังในวาระของนายกฯ โดยจะระบุว่าอยากให้เน้นในเรื่องอะไร โครงการไหนเป็นโครงการที่สำคัญที่อยากให้มีการขับเคลื่อน ซึ่งจะทำให้ ครม.และข้าราชการเดินไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีพลัง จากนั้นนายกฯ ก็จะส่งให้รัฐมนตรีเพื่อนำกลับไปอ่าน 
    ส่วน พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า สถานการณ์ช่วงนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้ง จึงพบมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นจากหลายๆ ทาง ทั้งนักการเมืองปัจจุบัน และคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมือง เพื่อเป็นการเตรียมตัว ส่วนจะถึงขั้นล้มรัฐบาลและ คสช.หรือไม่นั้น ยังระบุไม่ได้ แต่พบรายงานการเคลื่อนไหวมากขึ้นเท่านั้น และถือเป็นหน้าที่ของ สมช.ต้องติดตามเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคง แต่นายกฯ ไม่ได้สั่งให้จับตาอะไรเป็นพิเศษ และจากภาพรวมไม่เชื่อว่าจะล้มรัฐบาลและ คสช.ได้
    ขณะเดียวกัน พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ประกาศแนวคิดประชาธิปไตยไทยนิยม ว่าในส่วนของเหล่าทัพจะเน้นสร้างความเข้าใจให้พี่น้องประชาชนแต่ละพื้นที่ แต่ละกลุ่มเกี่ยวกับการบริหารจัดการภาครัฐ สร้างความร่วมมือ และสร้างความปรองดอง ซึ่งเป็นก้อนรวมทั้งหมด หากเราดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในช่วงนี้เราจะเน้นแต่ละเรื่องให้มากขึ้น พร้อมทั้งลงไปถึงประชาชนทุกระดับชั้น
    ส่วนความเห็นจากซีกนักการเมืองนั้น นายปลอดประสพ สุรัสวดี รักษาการรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า เป็นการมองคนละมุม พรรคทำหน้าที่คือติดตามการทำงานของรัฐบาล ตั้งแต่นายกฯ ครม. รวมไปถึงแม่น้ำ 5 สาย ซึ่งอะไรที่ไม่ถูกก็ติติง และทวงสิ่งที่เป็นสิทธิของเราคืน เช่น การปลดล็อกพรรคการเมือง ซึ่งนายกฯ จะเหมาเอาความเคยชินจากทหารที่ผู้บังคับบัญชาถูกถามไม่ได้ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศเป็นนักการเมือง จะเอานิสัยทหารมาอธิบายการทำงานฝ่ายการเมืองอื่นๆ คงไม่ถูกนัก
ชี้ต่างคนต่างทำหน้าที่
    “ท่านเป็นรัฐบาลตอนไหน ไปยึดอำนาจมา ประกาศจะคืนอำนาจ เราก็ทวงถามตามสัญญา บอกขอเวลาอีกไม่นาน ตั้งแต่เพลงที่แต่ง ไม่ใช่การไปล้มรัฐบาล เพียงแค่ทวงสัญญา” นายปลอดประสพกล่าว และว่า ไม่จำเป็นต้องไว้ใจนักการเมือง ท่านทำหน้าที่ของท่าน เราก็ทำหน้าที่ของเรา เท่านั้นก็จบ
    นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรค พท.กล่าวถึงกรณี พล.อ.ธารไชยยันต์ขานรับไอเดีย พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องประชาธิปไตยไทยนิยม ว่า ข้าราชการต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง มีกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องวางหลักเกณฑ์นี้ไว้มาช้านาน ผู้ใดฝ่าฝืนต้องถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย นายกฯ ระบุเป็นนักการการเมืองที่เคยเป็นทหาร ดังนั้นการส่งกำลังทหารลงพื้นที่ไปให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งอาจถูกครหาว่าไม่เป็นกลางทางการเมืองได้ และจะทำความอึดอัดใจให้กับข้าราชการที่ได้รับคำสั่งให้ลงพื้นที่
    “หน้าที่ดังกล่าวควรให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการ ส่วนทหารก็ควรทำหน้าที่ทหาร จะช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศของเราว่าการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย”นายชวลิตกล่าว
    นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์  (ปชป.) ตั้งข้อสงสัยว่า พล.อ.ประยุทธ์และ คสช.มีอำนาจสูงสุด มีมาตรา 44 อยู่ในมือ สื่อหรือนักการเมืองที่ไหนจะมาล้ม คสช.ได้ การพูดของ พล.อ.ประยุทธ์จึงเป็นการใส่ความและโยนบาปให้สื่อและนักการเมือง ถือเป็นการสร้างความเข้าใจผิดในสังคม บิดเบือนข้อเท็จจริง แล้วจะปรองดองสมานฉันท์หรือปฏิรูปการเมืองได้อย่างไร 
“นักการเมืองที่ดีคือนักการเมืองที่ยินยอมหรือจำใจสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไปใช่หรือไม่ ส่วนนักการเมืองที่ไม่ยอมก้มหัวให้ก็ว่านักการเมืองฝ่ายนี้ว่าคิดล้ม คสช.ใช่หรือไม่ หากคิดเห็นแก่ตัวเช่นนี้ แล้วจะปกครองประเทศได้อย่างไร” นายวัชระกล่าว และว่า แม้จะวิพากษ์วิจารณ์ คสช.หรือรัฐบาล แต่ไม่เคยคิดล้ม คสช. เพราะเราให้เกียรติและให้โอกาสมาแก้ไขปัญหาของประเทศ แต่เมื่อท่านสะดุดขาตัวเอง ไม่มีฝีมือบริหารประเทศ ทั้งที่ไม่มีฝ่ายค้านตรวจสอบ จะมาโทษสื่อและนักการเมือง มันชอบธรรมแล้วหรือ คณะ คสช.ไม่ต้องมีใครไปคิดล้มล้าง ท่านก็หมดอายุตามรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่แล้ว
    นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีสาระควรนำมาเป็นประเด็นข่าว เพราะนายกฯ ก็มีธรรมชาติพูดจาและแสดงออกลักษณะนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในยุคนี้ก็ไม่มีสื่อมวลชนที่ตั้งตนมีอิทธิพลที่จะทำอย่างที่นายกฯ ระบุได้ เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง สื่อต้องดิ้นรนให้อยู่รอด จึงอยากถามว่าจะมีสื่อที่ไหนที่จะล้มรัฐบาลที่มีอำนาจมาตรา 44 ได้ จึงไม่แน่ใจว่านายกฯ นั้นเข้าใจบริบทสื่อมวลชนและสภาพของสังคมหรือไม่
    วันเดียวกัน ยังคงมีประเด็นกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีการประชุมลับแก้ไขร่างดังกล่าวเพื่อให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายหลังประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็น 90 วัน และทำให้โรดแมปการเลือกตั้งเลื่อนออกไปนั้น
    นายเสรี สุวรรณภานนท์ ในฐานะ กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค. กมธ.มีประชุมร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ไม่มีประชุมลับ และไม่ได้พูดถึงประเด็นดังกล่าว ไม่ทราบว่าข่าวออกมาได้อย่างไร รวมทั้งยังเขียนข่าวเป็นตุเป็นตะเหมือนนั่งอยู่ในที่ประชุม ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเป็นการปล่อยข่าวหรือไม่อย่างไร แต่เมื่อตกเป็นข่าวก็จะนำเรื่องไปประชุมหารือในวันที่ 19 ม.ค.อีกครั้ง ว่าจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป
     ทั้งนี้ เมื่อสอบถาม กมธ.รายอื่น อาทิ นายวิทยา ผิวผ่อง ประธาน กมธ., นายทวีศักด์ สูทกวาทิน โฆษก กมธ. และ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ รองประธาน กมธ. ต่างก็ยืนยันไม่มีการแก้ไขประเด็นดังกล่าว 
เนติบริกรบอกทำได้
     แหล่งข่าวจาก กมธ.กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวถือเป็นแค่แนวทางเท่านั้นที่จะช่วยให้พรรคการเมืองสามารถเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งได้ทันการณ์ โดยเฉพาะการทำไพรมารีโหวต ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะเดิมที่พรรคการเมืองต่างๆ จะทำกิจกรรมพรรคการเมืองได้ในเดือนนี้ แต่เนื่องจาก คสช.ยังไม่ยอมปลดล็อกให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ และให้เริ่มดำเนินการได้ภายในเดือน มี.ค.-เม.ย. จึงมีแนวคิดให้ขยายกฎหมายดังกล่าวออกไปอีก 90 วัน ภายหลังประกาศลงในราชกิจจาฯ 
นายวิษณุปฏิเสธในเรื่องนี้ว่า ไม่ทราบ หากจะแก้ไขก็ต้องชี้แจงเหตุผล จึงต้องรอฟังว่าเขาจะพูดอย่างไร คาดว่าภายใน 1-2 วันนี้คงออกมาชี้แจง ทั้งนี้ หากขยายเวลาบังคับใช้จริง สนช.จะถามรัฐบาลก็ได้หรือจะพูดคุยกันเองภายในก็ได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าเมื่อออก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญแล้วต้องให้มีผลบังคับใช้ในวันรุ่งขึ้นเท่านั้น แต่เขียนกำหนดว่าจะให้มีผลใช้บังคับเมื่อใด เช่น 30, 60, 90 หรือ 120 วันก็ได้ 
    นายสุวพันธุ์กล่าวเช่นกันว่า ไม่ทราบเรื่อง และในที่ประชุมวิปรัฐบาลเมื่อวันที่ 15 ม.ค. ก็ไม่มีเรื่องดังกล่าว โดยหากจะทำอะไรต้องชี้แจงให้สังคมเข้าใจได้ 
    นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ถ้า สนช.จะทำก็ต้องอธิบายเหตุผล ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่าเกี่ยวข้องกับคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการแก้ไขกฎหมายลูกพรรคการเมืองนั้น ไม่ทราบ ส่วนที่มองว่าหากแก้ไขแบบนี้แล้วจะกระทบโรดแมปเลือกตั้งหรือไม่นั้น อย่างเพิ่งคาดการณ์ รอดูก่อนจะแก้หรือไม่ แล้วค่อยมาถาม
    นายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. กล่าวว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านมา เคยมีการกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในระยะเวลาหนึ่งหลังจากลงประกาศราชกิจจาฯ โดยต้องกำหนดระยะเวลาให้มีผลบังคับใช้เพื่อไม่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อม ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่าหลังจากที่กฎหมายเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว ให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หากกฎหมายฉบับใดเขียนให้มีผลบังคับใช้แบบมีระยะเวลา อาจทำให้เวลา 150 วันตามรัฐธรรมนูญต้องบวกเพิ่มไปตามด้วย ดังนั้นประเด็นที่อาจเกิดขึ้น ควรพิจารณาในแง่ตอบโจทย์ของเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญด้วย
    ส่วนนายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค ปชป.มองว่า ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงๆ จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือต่อรัฐบาลและ คสช.มาก เพราะเคยสัญญาอะไรไว้แล้วก็ทำตามไม่ได้ คนทั่วไปไม่สนใจว่าเพราะกฎหมายอะไร และเมื่อบวกกับปัญหาเรื่องอื่นๆ อย่างกรณีแหวนเพชร นาฬิกาหรูของคนใกล้ชิด รวมถึงมีพฤติการณ์สืบทอดอำนาจ ก็ทำให้หมดความน่าเชื่อถือ ซึ่งรัฐบาลจะทำงานได้ยากขึ้น
รุมสับยืดเวลา 90 วัน
      “ถ้าโรดแมปยืดออกไป แล้วประชาชนอยู่ดีกินดี ไม่ลำบาก ก็คงไม่เป็นไร แต่ทุกวันนี้ปัญหาเศรษฐกิจมีมากมาย ผมเชื่อว่าเป็นไปได้สูงที่จะยืดเวลา เว้นแต่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะออกมาบอกว่าไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้ อาจทำให้ กมธ.ของ สนช.เปลี่ยนใจได้” นายสาธิตกล่าว
    นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ปชป.โพสต์เฟซบุ๊ก ในหัวข้อ “ยืด หรือเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้อย่างไร?” ว่า ปกติกฎหมาย หรือ พ.ร.บ.เกือบทุกฉบับ ในมาตราที่ 2 จะเขียนหรือบัญญัติไว้ว่า มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป แต่หาก คสช. หรือรัฐบาลยังไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง สนช.ก็เขียนมาตรา 2 ให้ต่างไปจากเดิม จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปกี่วันก็เขียนลงไปตามใจชอบ และอย่าลืมต้องบวกอีก 150 วัน 
“ความคิดอย่างนี้ ระดับเซียนทางกฎหมายเท่านั้นที่จะทำได้ ซึ่ง คสช.มีเซียนกฎหมายอยู่หลายคน การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปสามารถทำได้สบายมาก แบบเนียนๆ  ใครที่คิดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นใน พ.ย.2561 ตามที่ผู้มีอำนาจประกาศไว้ ก็ขอให้ไปเปิดฟังเพลงลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง ของรวงทอง ทองลั่นทม ฟังไปก่อน” นายนิพิฏฐ์กล่าว
นายนิพิฏฐ์กล่าวเพิ่มเติมว่า เคยวิเคราะห์มานานแล้วว่า ปี 2561 ไม่มีเลือกตั้ง ส.ส. เพราะ คสช.ลากยาวแน่ วันนี้ภาพยิ่งชัดขึ้นเรื่อยๆ การออกกฎหมายอย่างนี้เปรียบเหมือนการเขียนแบงก์เช็คหรือตีเช็คเปล่า ลงชื่อแล้วให้ไปกรอกตัวเลขเองว่าจะเบิกเงินเท่าไหร่ เหมือนกันคือจะไปใส่ว่าให้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้เมื่อไหร่หลังลงในราชกิจจานุเบกษาจะอีก 1-2 ปี หรือกี่ปีก็ได้ แล้วแต่ผู้มีอำนาจจะอยู่ต่อนานแค่ไหน 
“ถ้าถามผม ก็จะแนะนำไปว่าขอให้ร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจาฯไปแล้วอีก 8 ปี คือให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ในปี 2569 ไปเลยจะได้สอดคล้องกับการให้ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกฯด้วย อยู่ยาวๆ กันไปเลย” นายนิพิฏฐ์กล่าว
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีต ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากเป็นไปตามกระแสข่าวขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปอีก 3 เดือน เท่ากับว่ากว่าจะเลือกตั้งต้องใช้เวลาอีกราวๆ 8 เดือน ซึ่งส่อเจตนาอะไร มีวัตถุประสงค์เฉพาะอะไรหรือไม่ ถ้าไม่มีวัตถุประสงค์ที่จำเป็น ก็ไม่ควรทำ แต่ถ้าเพื่อเตรียมการให้พร้อมสำหรับบางคน บางพรรคการเมืองหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นคนรักประชาธิปไตย พี่น้องประชาชนที่อยากเห็นมีการเลือกตั้งควรต้องถามกลับไปยัง กมธ.
    “ถ้าทำเพื่อหวังเลี่ยงบาลีก็เลี่ยงได้ โดยไปยืดเวลา แม้ไม่ผิดถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญ แต่น่าไม่ชอบธรรมตามเจตนารมณ์ คืนอำนาจให้ประชาชน ฝากให้ช่วยกันทวงถามถึงเหตุผล มีความจำเป็นอะไร ได้รับคำสั่งอะไรจากใครหรือไม่ ถ้ามีเหตุผลชัดเจน ก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าทำเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ต้องดูว่าชอบด้วยเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่” นพ.ชลน่านกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"