สพฐ. แจงการประกาศสาขาขาดแคลนสอบครูผู้ช่วย ปี 61 ในบางเฉพาะพื้นที่ ไม่ได้เป็นการประกาศแบบทั่วไป มีการสำรวจจาก สพท. และผ่านการกลั่นกรองของ ศธจ.แล้ว ย้ำ นาคต จะวางแผนร่วม ส.ค.ศ.ท. หวัง ร่วมแก้ปัญหาการเปิดสอบครู
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่ทางสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) บางแห่งได้มีการประกาศรับสมัครสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทาวการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พ.ศ.2561 โดยในการประกาศสาขาแต่เปิดรับสมัครสอบแข่งขันครั้งนี้ จะมีขั้นตอนที่เริ่มจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นผู้สำรวจว่ามีครูกลุ่มสาขาใดที่ขาดบ้างและจะรายงานข้อมูลให้กับ ศธจ.พิจารณาและประกาศว่าความต้องการครูในสาขาวิชาใดบ้าง อีกทั้งการดำเนินการปีนี้ ในส่วนของสาขาที่ขาดแคลน สพฐ.ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สพท. ศธจ. หรือแม้แต่หน่วยผลิตครู ได้มีการร่วมประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกันว่าสาขาวิชาไหนขาดแคลนครูบ้าง และสาขาวิชาไหนใช่หรือไม่ใช่ที่จะอยู่ในกลุ่มขาดแคลนอัตรากำลังครู ซึ่งเป็นการเปิดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการรับสมัครสอบแข่งขันฯ ครูผู้ช่วยด้วย
นายบุญรักษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในส่วนของกรณีที่สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการผลิตครูและการสอบบรรจุครูผู้ช่วย ในประเด็นเห็นด้วยการเปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่ได้เรียนครูมาสอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วยได้ในสาขาขาดแคลน แต่การกำหนดข้อมูล จำนวนครูสาขาขาดแคลนต้องสอบถามข้อมูลจากส.ค.ศ.ท.ด้วย เนื่องจากเป็นสถาบันผู้ผลิตที่มีข้อมูลจำนวนตัวเลขการผลิตแน่นอนนั้น เรื่องนี้ตนคาดว่าในอนาคตจะมีการวางแผนร่วมกัน เพื่อร่วมแก้ปัญหาด้วยกันอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การประกาศสาขาวิชาที่ขาดแคลนไม่ได้เป็นการประกาศแบบทั่วไปแต่เป็นการประกาศในพื้นที่เฉพาะ เช่น วิชาเอกคณิตศาสตร์ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลมีอัตราขาดแคลนครูบ่อย เพราะไม่มีผู้บรรจุ หรือในบางพื้นที่ไม่มีการผลิตครูนาฎศิลป์ เป็นต้น ซึ่งในประเด็นเหล่านี้ สพฐ. จะยืนยันข้อมูลการสำรวจ และ ศธจ.จะประกาศบัญชีสาขาวิชาที่ขาดแคลนเฉพาะพื้นที่ไม่ใช่บัญชีรวมแต่อย่างใด