ไพรมารีโหวตรายภาค ส่อเอื้อ 'พรรคพลังดูด'


เพิ่มเพื่อน    

  มีความคืบหน้าออกมาเล็กๆ น้อยๆ เมื่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ออกมายอมรับถึงกระแสข่าวที่ว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้จัดทำร่างแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2560 ให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมใหญ่เพื่อทำไพรมารีโหวต และให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถแบ่งเขตการเลือกตั้งว่าเป็นความจริง

  ล่าสุด กกต.ได้มีการประชุมพิจารณากันไปเมื่อวันที่ 9 ก.ค. และได้ข้อสรุปคือ 1.ให้พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรคหาสมาชิกพรรคให้ความเห็นต่อ กกต.ในเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้ง และจัดทำไพรมารีโหวต 2.ให้อำนาจ กกต.ในการออกหลักเกณฑ์และระเบียบให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่มีการประกาศใช้และให้ดำเนินการเรื่องของการแบ่งเขตได้

  แต่ กกต.ปฏิเสธให้ความเห็นเรื่องไพรมารีโหวตว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งขณะนี้มีความเห็น 4 แนวทางคือ ข้อ 1 ทำไพรมารีโหวตแบบจังหวัด ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 145 ข้อ 2  ยังไม่เริ่มใช้ไพรมารีโหวต ข้อ 3 การทำไพรมารีโหวตแบบภาค ข้อ 4 หากไม่ใช้การทำไพรมารีโหวตจะใช้รูปแบบใดมารองรับแทน เพื่อให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัครเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 สุดท้ายผู้ที่จะให้คำตอบก็คือ คสช.ที่จะต้องเป็นคนปลดล็อก

  แต่หากประเมินจากกระแสที่มีการโยนเหรียญถามทางและพูดกันมากคือ ข้อเสนอให้ทำไพรมารีโหวตเป็นรายภาค เมื่อมองผิวเผินอาจเห็นข้อดีเพราะช่วยให้พรรคการเมืองใหม่ พรรคขนาดกลาง และขนาดเล็กที่ยังไม่มีความพร้อมจัดตั้งสาขาพรรคเป็นรายภาคจำนวน 4 ภาค หรือภาคละ 500 คน และส่งผู้สมัคร ส.ส.จำนวน 350 เขตได้ทั่วประเทศ แทนที่จะต้องมีสมาชิกพรรคจังหวัดละ 100 คน ทั่วประเทศ ใน 77 จังหวัด จึงจะสามารถส่งได้ครบทุกเขต

  แต่ข้อเสียก็มีมากเช่นกัน โดยเฉพาะอาจขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส.ต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่ตัวเองลงสมัคร แต่อนุญาตให้ลงเขตไหนก็ได้ในจังหวัดนั้น  

  แต่หากเปิดโอกาสให้ทำไพรมารีรายภาค ถามว่าสมาชิกพรรคในจังหวัดหนึ่งจะไปรู้จักผู้สมัครในอีกจังหวัดห่างไกลได้อย่างไร เช่นพรรคการเมืองหนึ่งตั้งสาขาพรรคจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อคัดเลือกผู้สมัครส.ส.ในรายภาค ถามว่าจะไปรู้จักและเชื่อมโยงผู้สมัครในจังหวัดอุดรธานีหรือจังหวัดเลยได้หรือไม่ 

  สอดคล้องกับความเห็นของ อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษา คสช. ให้เหตุผลว่าให้ทำไพรมารีโหวตระดับภาคแทนนั้น เหมือนนำคนกลุ่มเดียวมาทำไพรมารีโหวตซึ่งไม่ได้บอกอะไรเพราะมี 4 ภาค แต่ต้องครอบคลุมถึง 77 จังหวัด    

เมื่อฟังจาก อ.มีชัยก็สามารถตีความว่า ไพรมารีโหวตเป็นรายภาคเปรียบเสมือนการยกเลิกไพรมารีโหวตไปในตัวนั่นเอง   

  ดังนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบแบบสุดๆ ก็หนีไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. หากจะแก้ไขเพราะต้องอาศัยคำสั่งหัวหน้า คสช.มาตรา 44 เพราะนอกจากถูกมองว่าสิ่งที่ สนช.ในฐานะแม่น้ำ 5 สายคิดค้นออกมาไม่เวิร์กแล้ว ยังถูกโจมตีว่าปฏิรูปการเมืองล้มเหลวกลับไปสู่วงจรอุบาทว์ ต่อวีซ่าให้บุคคลทรงอิทธิพลภายในพรรคคัดเลือกผู้สมัครได้เช่นเดิม    

  อาจถูกแปลความได้ว่าเอาใจพรรคพลังดูด หรือพรรคพลังประชารัฐที่เชื่อมโยงกับ คสช.ภายใต้การนำของกลุ่มสามมิตร คือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน หัวหน้ากลุ่มมัชฌิมา และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ในรัฐบาล คสช.ที่ยังไม่มีจุดยืนใดๆ  ต่อเรื่องไพรมารีโหวต ซึ่งในทางการเมืองสันนิษฐานได้ว่าไม่เห็นด้วยกับระบบดังกล่าวเช่นกัน

  นอกจากนี้ยังตั้งคำถามอีกได้ว่า ทำไม คสช.เลือกคลายปมเฉพาะไพรมารีโหวตเท่านั้น ขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ เรียกร้องให้ปลดล็อกคำสั่งต่างๆ เพื่อให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้, กำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจน หรือเลื่อนเลือกตั้งให้ได้ภายในปีนี้ ฯลฯ กลับไม่ยอมฟังเสียงเหล่านี้บ้าง

การยืนบนหลักการไพรมารีโหวตตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา145 บิ๊กตู่ น่าจะถูกด่าน้อยที่สุด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"