ในยุคที่ใครก็สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจความงามกันได้อย่างง่ายดาย ทำให้แบรนด์ต่างๆ เกิดขึ้นเยอะ แต่จะหาตัวคนที่ประสบความสำเร็จและอยู่ได้อย่างยั่งยืนก็ค่อนข้างยาก หากไม่ใช่ผู้ประกอบการที่ทำตลาดมายาวนาน ผู้บริโภคเชื่อมั่นในคุณภาพและการผลิต เดี๋ยวนี้แบรนด์ยิบย่อยมาเร็วไปเร็วเหลือเกิน จนมีคำถามกันเสมอว่าเหตุใดในตลาดเครื่องสำอางจึงมีแบรนด์ที่ล้มหายตายจากจำนวนมาก
แม้ว่าหลายผลสำรวจจะชี้ชัดกันว่าธุรกิจเครื่องสำอาง เป็นธุรกิจที่ติดอันดับดาวรุ่ง โดยเมืองไทยยังถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางธุรกิจความงามในอาเซียน เนื่องจากมีการขยายตัวของตลาดสูงมาก ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำยันปลายน้ำ ได้แก่ ธุรกิจผลิตเครื่องสำอาง ธุรกิจนำเข้า จำหน่าย และค้าปลีกเครื่องสำอาง หรือรวมๆ แล้วอุตสาหกรรมความงามของไทยมีมูลค่าสูงกว่า 1.8 แสนล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 7.8% ต่อปีกันเลยทีเดียว
จากความเนื้อหอมของตลาดย่อมมีผู้เล่นเข้ามามากตามเป็นปกติ แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องความสวยความงาม แต่พอเข้ามาแล้วจะเรียนรู้กันได้เองว่า แท้จริงแล้วไม่ได้สวยงามอย่างที่คิดเลยแม้แต่น้อย เห็นได้จากมีผู้ประกอบการหน้าใหม่ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีผุดขึ้นราวดอกเห็ด ยิ่งในยุค 4.0 ช่องทางการทำตลาดง่ายๆ ผ่านระบบออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องลงทุนมีหน้าร้าน การเริ่มต้นไม่ต้องใช้เงินลงทุนก้อนโต ประตูแห่งโอกาสดูเหมือนเปิดกว้างสำหรับเถ้าแก่หน้าใหม่ แต่ใช่ว่าจะคว้าความสำเร็จมาได้ง่ายๆ และแม้บางรายเริ่มต้นเหมือนจะไปได้สวย แต่การมีชื่อเสียงแค่ระยะสั้นๆ ไม่ได้แปลว่าจะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
ศลิษา พิบูลย์สวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมเม็ทส์ อินเตอร์เทรด จำกัด ให้ความเห็นว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็ก โดยเฉพาะที่ขายเครื่องสำอางผ่านออนไลน์ล้มเหลว หรือเติบโตแบบไม่ยั่งยืน คือ สินค้าไม่มีคุณภาพ เพราะไปจ้างโรงงานผลิตหรือโออีเอ็มไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดปัญหาแบบเมจิกสกิน เนื่องจากโรงงานที่ดีในเมืองไทยมีน้อย และงานเต็มมือไม่รับออเดอร์น้อยๆ ทำให้ต้องไปจ้างโรงงานที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน
ขณะเดียวกัน คนที่ประสบความสำเร็จต้องกระตือรือร้น มีวิสัยทัศน์ มีความมุ่งมั่น ต้องเจอคู่ค้าที่ทำงานจริง รู้จักเครื่องสำอางจริงๆ เพราะเมื่อซื้อบรรจุภัณฑ์ไปแล้ว ยังต้องผ่านโรงงานผลิตเครื่องสำอางอีกหลายขั้นตอน ซึ่งใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะได้สินค้าคุณภาพ แต่น้องๆ ที่เข้ามาใหม่จะไม่เข้าใจ ผ่านไปอาทิตย์เดียวร้อนใจว่าทำไมยังไม่ได้สินค้า อยากได้เร็วโดยไม่มีคุณภาพ อันนี้จะโตไม่ยั่งยืน
สำหรับใครที่อยากก้าวสู่ธุรกิจเครื่องสำอางนั้น หากเป็นคนที่มีความพร้อม คือ มีไอเดียว่าจะผลิตอะไรมีสูตรอยู่แล้ว ขายลูกค้ากลุ่มไหน ตั้งราคาเท่าไหร่ ต้องการแค่คำแนะนำเพิ่มเติม เช่น การแก้ปัญหาเมื่อเจอข้อจำกัดของสินค้า เมื่อนำไปพัฒนาต่อยอดสามารถพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน ก็จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก แต่หากเป็นคนที่อยากทำธุรกิจแล้วมาถามว่าผลิตอะไรดี ไม่มีไอเดียเลย คนกลุ่มนี้ก็จะพัฒนายาก ดังนั้นคงต้องทบทวนเหมือนกันว่าเราเหมาะจะเข้ามาทำธุรกิจนี้หรือไม่
นับว่าสอดคล้องกับ “พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) ที่ระบุว่า ผู้ประกอบการเครื่องสำอางในออนไลน์ ยุคเริ่มแรกนั้นยังถือว่าไปได้อยู่ แต่หลังๆ มาต้องยอมรับว่าไม่ค่อยยั่งยืนสักเท่าไหร่ บวกกับตอนนี้วงจรของสินค้าสั้นลงกว่าแต่ก่อนเยอะ คือจากเดิมคิดสินค้าออกมากันอยู่ในตลาดได้ 5 ปี ตอนนี้แค่ 5 เดือนก็หายแล้ว จะเห็นได้ว่าสินค้าที่มาจากผู้ประกอบการรายย่อยมีเยอะ แต่อัตราที่ประสบความสำเร็จมีน้อย หรือแค่หลักเดียว ส่วนโจทย์ยากของการทำธุรกิจเครื่องสำอางในยุคปัจจุบัน คงเป็นเรื่องของการคาดเดาพฤติกรรมคนที่ยากกว่าในอดีต
การจะเป็นเจ้าของธุรกิจเครื่องสำอางคงต้องเลือกโรงงานที่มีมาตรฐานการรับรองที่น่าเชื่อถือ รวมถึงการวางแผนสร้างธุรกิจของตัวเองแบบยั่งยืน ไม่ใช่เข้ามาเพียงกระแสแบบฉาบฉวย เพราะตอนนี้มีทั้งการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาใช้กับผลิตภัณฑ์ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น.
รุ่งนภา สารพิน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |