อุดช่องว่างแผนยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี


เพิ่มเพื่อน    

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ 

 

     แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระยะ 12 ปี (พ.ศ.2558-2569) ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ปรับปรุงใหม่เป็นแผนยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เพื่อให้สอดรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มียุทธศาสตร์สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลงลึกไปเป็นประเด็นพัฒนาความมั่นคงน้ำ พลังงาน และเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มไว้ในแผนจัดการน้ำปี 2558 รวมถึงมีการวางกรอบให้คณะทำงานปรับปรุงและนำแผนยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ได้ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้  

      การรื้อแผนยุทธศาสตร์น้ำเพื่อปรับปรุงใหม่จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ ข้อมูล และงานวิจัยที่สามารถสนับสนุนนโยบายการบริหารจัดการน้ำ เหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอแนวทางการบริการจัดการน้ำของประเทศ พร้อมชูงานวิจัยเด่นๆ ช่วยรับมือสถานการณ์น้ำขาด น้ำท่วม น้ำแล้ง ที่ห้องประชุม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เมื่อวันก่อน

      รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การกำหนดแผนยุทธศาสตร์น้ำจำเป็นต้องเข้าใจความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ เพราะจากงานวิจัยสถานการณ์น้ำย้อนหลังของประเทศช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เห็นชัดว่า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจเกิดน้ำท่วมและน้ำแล้งภายในปีเดียวกัน เช่น ในปีนี้ที่คาดว่าอาจน้ำท่วม เพราะฝนมาเร็วและตกมาก แต่พอปลายฝนสถานการณ์เปลี่ยนเป็นแล้งได้ เพราะสภาพภูมิอากาศแปรปรวนที่รวดเร็วมากขึ้น เปลี่ยนจาก 2-3 ปีครั้ง มาเป็นแบบฉับพลัน ปริมาณน้ำในเขื่อนปีนี้จะน้อยกว่าปีที่แล้ว ปี 2562 จะเจอแล้งระดับปานกลาง ซึ่งความแปรปรวนมีความสัมพันธ์กับความต้องการน้ำในอนาคต ต้องเฝ้าระวัง ถ้าจัดการน้ำไม่ดี มีปัญหาฉุดเศรษฐกิจและสังคม   

      รศ.ดร.สุจริตกล่าวว่า ประเด็นยุทธศาสตร์จะต้องเป็นการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศอย่างยั่งยืนให้คนรุ่นต่อไปใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ยุทธศาสตร์เพื่อการเมือง ต้องกำหนดการฟื้นฟูและพัฒนาฐานทรัพยากรธรรมชาติเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศบนเส้นทางสีเขียว และบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสมให้ไม่เกินขีดความสามารถในการรองรับระบบนิเวศ ลดผลกระทบลบจากการพัฒนา

 

 

      " เดิมแนวคิดการวางแผนโตก่อน เสียแล้วมาซ่อม ส่งผลปัจจุบันเจอปัญหาน้ำขาด น้ำเสีย ขยะเยอะ น้ำบาดาลเสื่อมโทรม กรณีน้ำเสียต้องใช้เวลาฟื้นฟูไม่ต่ำกว่า 20 ปี จากนี้ไปต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน ข้าวอาจไม่ใช่อนาคตของประเทศไทย เพราะเวียดนามปลูกข้าวราคาถูกกว่า พม่าเปิดประเทศกำลังตามมา และแนวโน้มถ้าไทยยังใช้ทรัพยากรน้ำที่ราคาแพงมาปลูกข้าวราคาถูก ชาวนาขายไม่ออก แล้วรัฐบาลเอาเงินมาอุ้ม ก็ไม่หลุดจากวงจรอุบาทว์ เป้าหมายพัฒนาแล้วต้องมีคุณภาพชีวิตและรายได้ดีขึ้น ต้องปรับกระบวนทัศน์เพื่อกำหนดอนาคตของประเทศด้วยกัน น้ำมีจำกัด น้ำใช้ให้คุ้มค่า และน้ำมีให้คนรุ่นต่อไปใช้ " รศ.ดร.สุจริตย้ำหลักวางยุทธศาสตร์น้ำ

      ในการปรับยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี มีการนำแนวคิดความมั่นคงด้านน้ำของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เข้ามาประยุกต์ใช้ ช่วยในการวางแผนยุทธศาสตร์ เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในงานวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ได้ทุน สกว.

      รศ.ดร.สุจริตกล่าวว่า ประเทศไทยต้องยกระดับการจัดการแหล่งน้ำให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล มีน้ำสะอาดใช้พอ และลดความเสียหายจากน้ำท่วม ปัจจุบันตามดัชนีความมั่นคงด้านน้ำของ ADB ประเมินไทยอยู่ในระดับที่ 2 (50 คะแนน) เพราะคะแนนด้านน้ำเพื่อชุมชนเมืองต่ำมาก มีปัญหาคุณภาพน้ำ ถัดมาน้ำท่วม น้ำขาด รวมถึงคะแนนน้ำเพื่อเศรษฐกิจ ในยุทธศาสตร์ต้องมีแผนงานสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อให้ไทยพัฒนาเป็นระดับที่ 4 (80 คะแนน)  จาก 5 ระดับ

 

สกว.และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เสนอแนวทางการบริการจัดการน้ำของประเทศ

      นักวิชาการด้านน้ำบอกว่า จากนี้ไป 20 ปี ทุกครัวเรือนในชุมชนที่ลงทะเบียนไว้กับกรมการปกครองต้องมีน้ำสะอาดใช้ แนวทางต้องมีระบบเชื่อมจากแหล่งน้ำขนาดใหญ่ให้กระจายไปตามหมู่บ้าน สู่แหล่งน้ำขนาดเล็ก เรื่องนี้รัฐบาลก็เตรียมรองรับแล้ว มีการขุดสระหรือบ่อที่เรียกว่า หลุมขนมครก เพื่อกักเก็บน้ำช่วงหน้าฝนไว้ใช้ในช่วงฝนแล้งที่กำลังจะมาถึง ตามแผนงานมีเกือบ 4,000 แห่งทั่วพื้นที่ของประเทศ ทำไปแล้วกว่า 2,000 แห่ง เดิมฝนตกลงมาไหลทิ้งลงทะเลหมด

      อีกโจทย์ใหญ่ รศ.ดร.สุจริตกล่าวว่า ไทยต้องเพิ่มผลผลิตการใช้น้ำเป็น 10 เท่าตัวจากค่าเฉลี่ยปัจจุบัน ปัจจุบันน้ำ 1 คิว ทำรายได้ 60-80 บาท ขาดความสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้น้ำ มีการใช้น้ำเรี่ยราด ยุทธศาสตร์น้ำต้องรวมถึงรองรับการพัฒนาตามแผน ทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่างเชียงใหม่ พิษณุโลก และหลายจังหวัดในอีสาน รวมถึงระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ต้องกำหนดสัดส่วนการใช้น้ำในแต่ละภาครองรับเติบโตในอนาคต

      ภัยพิบัติเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญ นักวิชาการคนเดิมเสนอด้วยว่า ยุทธศาสตร์ต้องมีการปรับตัวเพื่อลดความสูญเสียจากน้ำท่วม น้ำแล้ง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ทั่วโลกแข่งขันกันเรื่องนี้ แนวทางที่ต้องใส่ในแผน มีทั้งพัฒนาระบบฐานข้อมูล การคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ และระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่รวดเร็ว แม่นยำ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันทั้งเชิงโครงสร้างและไม่ใช้โครงสร้าง รับมือภัยพิบัติ และใช้มาตรการผังเมืองอย่างจริงจัง นอกจากนี้ เพิ่มขีดความสามารถของชุมชนและเมืองรับมือผลกระทบ หากระบบเตือนภัยดี ชุมชนจะปรับตัวได้

      " ไทยเผชิญความแปรปรวนและความต้องการใช้น้ำมีมากขึ้นทุกภาคส่วน การเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลต่อการใช้น้ำ บริหารจัดการน้ำชาติต้องการยุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายระยะยาวเพื่อดูแลน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ ปลายกันยายนนี้ร่างแผนแม่บทจัดการน้ำจะเสนอให้ ครม.พิจารณา " รศ.ดร.สุจริตสรุปในท้าย

      ด้าน รศ.ทวนทัน กิจไพศาลสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะนักวิจัยโครงการรายงานวิเคราะห์สถานการณ์น้ำของประเทศ ทุน สกว. กล่าวว่า       "ภาพรวมของไทยในช่วง 10 ปี พบปริมาณการใช้น้ำภาคเกษตรมากขึ้น ลุ่มน้ำที่ใช้น้ำต่อปีในภาคเกษตรมากสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ลุ่มน้ำมูล 18,800 ล้าน ลบ.ม. ลุ่มน้ำชี 13,300 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำเจ้าพระยา 10,200 ล้าน ลบ.ม. ยังพบว่า การใช้น้ำทุกภาคตั้งแต่ปี 2557-2570 จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

รศ.ทวนทัน กิจไพศาลสกุล วิเคราะห์สถานการณ์น้ำของประเทศไทย

     

    สำหรับพื้นที่มีปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ขาดน้ำรุนแรงขึ้นทุกปี เช่น จ.แพร่ สุโขทัย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ศรีษะเกษ เป็นต้น เพราะฝนตกน้อยกว่าปีละ 1,000 มิลลิเมตร และขาดพื้นที่เก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ส่วนลุ่มน้ำยมเจอทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วม เพราะไม่มีอ่างเก็บน้ำ ดังนั้นควรมีการพัฒนาแหล่งน้ำ ทำระบบแก้มลิง ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยจากงานวิจัยนี้ควรใช้กำหนดในแผนจัดการน้ำชาติ

      นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาชี้วิกฤติน้ำเสีย รศ.ทวนทัน ระบุว่า คุณภาพน้ำของไทยมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงจากการระบายน้ำเสียจากชุมชน และการชะหน้าดินที่มีปุ๋ยประเภทสารเคมีตกค้างจากเกษตรและปศุสัตว์ อีกทั้งพบว่า แหล่งน้ำทั่วประเทศมีคุณภาพน้ำเกณฑ์ดีเพียง 29%  พอใช้ 49% และเสื่อมโทรม 22% ภาคกลางเสื่อมโทรมมากกว่าภาคอื่นๆ ขณะที่กรุงเทพฯ คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมากที่สุด จังหวัดตรังคุณภาพน้ำดีที่สุด   

      " การปรับปรุงยุทธศาสตร์ด้วยงานวิจัยเป็นเรื่องสำคัญ หากเราประเมินความเสี่ยงวิกฤติน้ำได้ล่วงหน้าจะช่วยลดความเสียหายลงมาก การศึกษาสถานการณ์น้ำและบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้องเหมาะสม เป็นงานวิจัยที่จำเป็น ช่วยปิดจุดอ่อน ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือกระจายงบประมาณแบบไม่มีเป้าหมาย เพราะสถานการณ์น้ำเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง อดีต ปัจจุบัน และอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะแตกต่างกันมาก ต้องติดตามสถานการณ์ทุก 3-5 ปี เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงแผนบริหารจัดการน้ำที่จะใช้กับแต่ละพื้นที่ต่อไป " รศ.ทวนทัน กล่าว

      ด้าน ดร.ปิยธิดา เรืองรัศมี หนึ่งในคณะนักวิจัย กล่าวว่า ปัญหาน้ำที่ความรุนแรงขึ้นและปริมาณน้ำต้นทุนมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น การวิจัยพบว่า เทคโนโลยีดาวเทียมช่วยวางแผนยุทธศาสตร์เพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศได้ ทั้งติดตามพื้นที่น้ำท่วม คาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว และการประมาณปริมาณฝนจากข้อมูลดาวเทียม

ดร.ปิยธิดา เรืองรัศมี เสนอเทคโนโลยีดาวเทียมช่วยวางแผนยุทธศาสตร์น้ำ

 

      " จุดเด่นของข้อมูลดาวเทียม คือ ครอบคลุมพื้นที่กว้าง มีความต่อเนื่อง เป็นระบบ มีความละเอียดเชิงพื้นที่ และเป็นข้อมูลเรียลไทม์ ถ้าใช้เสริมข้อมูลจากสถานีตรวจวัดที่ตั้งเป็นจุดๆ จะทำให้ข้อมูลครอบคลุมมากขึ้น ลดคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะพื้นที่ไม่มีสถานี เช่น ภูเขา ทะเล หรือพื้นที่เข้าถึงยาก กรณีน้ำท่วม ข้อมูลปริมาณฝนในพื้นที่ต้นน้ำมีจำกัด ถ้านำเทคโนโลยีดาวเทียมมาช่วยจะทำให้ประเมินสถานการณ์และคาดการณ์ปริมาณน้ำในแต่ละจุดสำคัญๆ ได้ดีขึ้น ลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติ " นักวิจัยหญิงจุฬาฯ เสนอเพิ่มเติมในยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"