ก้าวแรกสู่ “นครดอยเต่าโมเดล” การพัฒนาทั้งเมืองและทุกมิติ


เพิ่มเพื่อน    

อำเภอดอยเต่า  ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่  ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 125 กิโลเมตร  มีทั้งหมด 6 ตำบล  43  หมู่บ้าน  ประชากรมีทั้งคนเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์  เช่น กะเหรี่ยง  ยอง  ลัวะ  รวมทั้งหมดประมาณ 27,500 คน  มีพื้นที่  803 ตารางกิโลเมตร  ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  ทำสวนลำไย  มะนาว  ปลูกข้าว  ประมงพื้นบ้านในทะเลสาบดอยเต่า  รับจ้างทั่วไป  ฯลฯ 

พืชเศรษฐกิจที่สำคัญคือลำไยและมะนาว  ดังคำขวัญของอำเภอดอยเต่าว่า “มะนาวลูกใหญ่  ลำไยเนื้อหนา  ดอยเกิ้งสูงสง่า  ชิมรสปลาดอยเต่า”  ส่วนแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของที่นี่คือ ‘ทะเลสาบดอยเต่า’  ซึ่งเป็นผลพวงจากการก่อสร้างเขื่อนภูมิพลปิดกั้นลำน้ำแม่ปิง  ทำให้ลำน้ำปิงที่ไหลผ่านดอยเต่ากลายเป็นทะเลสาบ  มีเรือแพ  เรือท่องเที่ยว  ที่พัก  และร้านอาหาร  มากมายหลายสิบแห่งเปิดบริหารนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี

 

‘เขื่อน’ และผลกระทบกับคนดอยเต่า

 

เขื่อนภูมิพล  เป็นเขื่อนเอนกประสงค์  สร้างเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและเพื่อการชลประทาน  เริ่มก่อสร้างในปี 2504  แล้วเสร็จในปี 2507  ตัวเขื่อนตั้งอยู่ที่อำเภอสามเงา  จังหวัดตาก  ปิดกั้นลำน้ำปิงที่ไหลลงมาจากจังหวัดเชียงใหม่  มีพื้นที่เก็บน้ำเหนือเขื่อนความยาวจากตัวเขื่อนถึงอำเภอฮอด  จ.เชียงใหม่  ประมาณ 207 กิโลเมตร

แผนที่เส้นทางแม่น้ำปิงจากดอยเต่าไหลลงสู่เขื่อนภูมิพล)

 

ย้อนเวลากลับไปก่อนปี 2500  ช่วงนั้นดอยเต่ายังเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอฮอด  เส้นทางการคมนาคมทางบกระหว่างดอยเต่ากับฮอดยังทุรกันดาร  ชาวบ้านยังใช้วัวเทียมเกวียนไปมาหาสู่กัน  ลำน้ำแม่ปิงที่ไหลมาจากทางเหนือของเชียงใหม่ผ่านดอยเต่าถือเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่สำคัญ  ข้อมูลจากหนังสือ ‘ดอยเต่าในอดีต’ ของ วิทยา พัฒนเมธาดา  ผู้อำนวยการโรงเรียนดอยเต่าวิทยาคม  เล่าถึงวิถีชีวิตของคนดอยเต่าก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนว่า...

“เดิมคนดอยเต่า  จะอาศัยอยู่เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน  คือ  กลุ่มลุ่มน้ำแม่หาด ซึ่งจะอยู่บนพื้นที่ราบสูงริมน้ำแม่หาด  ได้แก่  บ้านดอยเต่าเก่า  บ้านไร่  โปงทุ่ง  อีกกลุ่มหนึ่งได้แก่  ผู้ที่อยู่อาศัยอยู่แถบที่ราบลุ่มแม่ปิง  นับเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมากกว่ากลุ่มแรก  กลุ่มนี้ได้แก่  บ้านแม่กา  บ้านชั่ง  ท่าเดื่อ บ้านน้อย จนถึงบ้านแอ่น  มีหมู่บ้านทั้งเล็กและใหญ่รวมกันถึง 21 หมู่บ้าน  ครอบคลุมพื้นที่ถึง 54 ตารางกิโลเมตร อาชีพเดิมได้แก่  การเพาะปลูกข้าว  ถั่ว  ยาสูบ  ครั่ง  และค้าขาย  โดยนำสินค้าใส่เรือแพล่องไปขายทางตอนล่าง  แถบเมืองตาก ปากน้ำโพ

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2506 เมื่อสร้างเขื่อนภูมิพลเสร็จเริ่มปิดกั้นน้ำ  น้ำได้เอ่อขึ้นมาท่วมพื้นที่ราบสองฝั่งแม่น้ำปิง ชาวบ้านต้องอพยพขึ้นมาอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการจัดไว้ให้  โดยจะแบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลงๆ เรียกกันว่า  บ้านอพยพแปลงที่เท่านั้นเท่านี้  โดยจัดหมวดหมู่ว่า  หมู่บ้านแปลง 1, หมู่บ้านแปลง 2 … แปลงที่เป็นเลขคี่จะตั้งด้านซ้ายมือของถนนแม่ตืน – ดอยเต่า– ฮอด ส่วนด้านขวาเป็นเลขคู่

ในการอพยพราษฎรจะได้ค่าชดเชยที่ดินเดิมไร่ละ 400 บาท  ในขณะนั้น  แต่ไม่ได้มีการพูดถึงว่า  ส่วนใหญ่จะได้ไม่ครบ  เพราะเนื่องจากการรับเงินชดเชยจะต้องไปรับที่อำเภอจอมทอง  ซึ่งการเดินทางในสมัยนั้นลำบาก  ทุรกันดารมาก  การจ่ายก็เป็นอย่างไม่มีระบบ  ราษฎรจึงต้องใช้วิธีให้ผู้อื่นไปรับแทน  โดยให้ค่าตอบแทน  ทำให้ได้รับเพียงไร่ละ 350 บาทบ้าง 375 บาทบ้าง  บางรายได้น้อยกว่านี้ก็มี...”

ข้อมูลจากหนังสือ ‘ดอยเต่าในอดีต’  ยังบอกเล่าถึงปัญหาสำคัญในการอพยพชาวบ้านครั้งนั้นว่า... “ในการจัดพื้นที่ ให้กับราษฎรที่อพยพขึ้นมาจากเขตน้ำท่วม  เข้าใจว่าด้วยความที่ไม่เคยพบปัญหา  บวกกับมีปัจจัยทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์และงบประมาณที่ไม่เพียงพอ  ทำให้การจัดพื้นที่  การจัดสาธารณูปโภคให้กับผู้อพยพเป็นไปอย่างขลุกขลัก  หลายหมู่บ้านไม่มีน้ำ  น้ำใช้  จนหลายหมู่บ้านตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในพื้นที่อื่น  เช่น  บ้านหนองบัวคำเดิม ได้อพยพไปอยู่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

ในขณะนั้นราษฎรที่อพยพขึ้นมาในสภาพที่เรียกได้ว่า  บ้านแตกสาแหรกขาด  มองไม่เห็นอนาคต  ที่ดินที่รับจัดสรรก็ไม่สามารถจะทำการเพาะปลูกได้  เหตุเพราะสภาพดินขาดความสมบูรณ์  น้ำที่จะใช้ในการเพาะปลูกไม่มี ผนวกกับพื้นที่ที่เป็นที่สูงลุ่มๆ ดอนๆ ไม่สามารถจะทำคลองส่งน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก รัฐทำได้เพียงนำเครื่องอุปโภคบริโภคมาแจกกันเป็นครั้งคราว...”

ไม่มีน้ำกินน้ำใช้  ชาวบ้านและพระสงฆ์ช่วยกันขุดบ่อน้ำ

“ดอยเต่าบ้านเฮากันดาร  หมู่เฮาจากบ้านไปหางานทำ”                                                                                                                

ชาวบ้านดอยเต่าที่ต้องอพยพบ้านเรือนออกจากที่ทำกินเดิมมีประมาณ 2,400 ครอบครัว  นอกจากนี้ผลพวงที่ตามมาก็คือ  เมื่อชาวบ้านไม่มีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จึงต้องลักโค่นต้นสักที่เคยมีอุดมสมบูรณ์แปรรูปขายให้แก่นายทุน  จนดอยเต่าที่เคยมีป่าสักหนาแน่นกลายเป็นป่าราบ  เมื่อป่าหมดชาวบ้านก็หันไปทำงานรับจ้างสารพัด  จนได้ชื่อว่าดอยเต่ามีแรงงานอพยพมากที่สุดแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ บ้างก็ต้องขายที่ดินให้กับนายทุนและคนต่างถิ่น  ไปหากินยังถิ่นใหม่  เพราะที่ดินทำกินไม่เห็นผล  ส่วนคนที่ยังอยู่ก็ไม่ค่อยสนใจต่อการแนะนำหรือเสนอแนะของเจ้าหน้าที่รัฐในการประกอบอาชีพการเกษตร  

“เกิดความรู้สึกทางลบแก่เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น  หลายคนเกิดความท้อแท้ละเลยไป จนมองว่าราษฎรดอยเต่าเกียจคร้าน  ไม่เอาจริงกับการประกอบอาชีพ และในความรู้สึกนึกคิดลึกๆ ของจิตใจคนดอยเต่ามีความรู้สึกว่ารัฐบาลและข้าราชการทอดทิ้งละเลย  หลอกลวง  ขาดการดูแลที่ดีพอ  ทั้งๆ ที่ชาวดอยเต่าได้สละที่ดินเดิมอันอุดมสมบูรณ์  อยู่อาศัยกันมาหลายชั่วอายุคน  เพื่อเก็บกักน้ำสร้างคุณประโยชน์แก่ส่วนรวม”

นั่นเป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบที่คนดอยเต่าได้รับจากการสร้างเขื่อนในช่วงนั้นจากมุมมองของผู้อำนวยการโรงเรียนดอยเต่าวิทยาคม  ขณะที่บทเพลง “หนุ่มดอยเต่า” ที่โด่งดังในช่วงปี 30 ปีที่ผ่านมา  สะท้อนปัญหาต่างๆ ในอดีตออกมาได้อย่างแจ่มชัด  ดังเนื้อหาตอนหนึ่งว่า...

“ดอยเต่าบ้านเฮากันดาร  หมู่เฮาจากบ้านไปหางานทำ                                                                                              ทำงานเซาะเบี้ยหาเงิน   ลำบากเหลือเกิน   ตากแดดหน้าดำ
ทนเอาหนักเบาเช้าค่ำ  ทนเอาหนักเบาเช้าค่ำ  มันแสนชอกช้ำ  ทำงานหาเงิน                                                                                                        

ไอ้หนุ่มดอยเต่า  มันเศร้าหัวใจ๋  กิ๊ดมากิ๊ดไป  มันน้อยใจ๋แต๊เล่า
แต่ก่อนบ้านเฮา   ดอยเต่าเมินมา  ลำบากหนักหนา   น้ำตาเฮาไหล
พอถึงหน้าฝน  เหมือนคนมีกรรม  ไฮ่นาที่ทำน้ำท่วมทั่วไป
อดอยากแต๊เล่า  ดอยเต่าเฮานี้  เอ็นดูน้องปี้จะไปพึ่งไผ
พอถึงหน้าหนาว  ก็หนาวก็เหน็ด  เดือนหกเดือนเจ็ด  ก็ฮ้อนเหลือใจ๋
หน้าแล้งแห้งน้ำ  จะทำจะใด จะไปตี้ไหน  น้ำกินบ่มี...”

สารพันปัญหาที่ดินในอำเภอดอยเต่า                                                                                                                

ปัจจุบันสภาพปัญหาต่างๆ ในอำเภอดอยเต่าคลี่คลายลงไปมาก  ผืนดินในอดีตที่เคยแห้งแล้ง  ปลูกพืชไม่เคยเห็นผล  เดี๋ยวนี้เขียวชะอุ่มไปด้วยต้นลำไย  ลูกดก  เนื้อแน่นหวานกรอบ  มะม่วง  มะนาวลูกโตน้ำเยอะ  เมื่อเหลือกิน  เหลือขาย  ยังเอามาทำน้ำมะนาวแช่เย็นหรือเติมน้ำแข็ง  รสชาติเข้มข้น  หวานอมเปรี้ยว  ดื่มแล้วชื่นใจ 

 ชาวบ้านดอยเต่า

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าสภาพความเป็นอยู่ของคนดอยเต่าจะดีขึ้นกว่าเดิม  แต่ปัญหาพื้นฐานที่สำคัญของคนดอยเต่ายังไม่ได้รับการแก้ไข  นั่นคือ ‘ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย’  เนื่องจากคนดอยเต่าส่วนใหญ่อยู่อาศัยในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่หาด, ป่าสงวนฯ แม่ตูบ  อุทยานแห่งชาติแม่ปิง  ฯลฯ  และที่ดินนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล (นค.) ที่ทับซ้อนกับป่าสงวนฯ  อีกทั้งชาวบ้านจำนวนไม่น้อยยังขาดแคลนที่ดินทำกิน  บางตำบล  บางหมู่บ้าน  มีที่ดินเพียงครอบครัวละ 1 งาน หรือ 100 ตารางวา  แค่พอได้ปลูกบ้านอยู่อาศัย  และปลูกลำไยได้ไม่กี่ต้น  ไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง  จึงต้องดิ้นรนไปขายแรงงานต่างถิ่น

สยาม  นนท์คำจันทร์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  สำนักงานภาคเหนือ  เล่าถึงปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของคนดอยเต่าว่า  อำเภอดอยเต่ามีทั้งหมด 6  ตำบล  รวม 43  หมู่บ้าน  มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด  8,818  ครัวเรือน  แต่มีปัญหาความไม่มั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยจำนวน  4,460 ครัวเรือน  หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของครัวเรือนทั้งอำเภอ 

“เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ในอำเภอดอยเต่าเป็นเทือกเขา  และเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล  ชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพมาจากเขตน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนภูมิพลตั้งแต่ปี 2507   บางส่วนได้รับการจัดสรรที่ดินจากนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล  ครอบครัวละ 5 ไร่  (จำนวน  1,711  ครอบครัว)  แต่ส่วนมากถอยร่นขึ้นมาจากพื้นที่ที่น้ำในอ่างท่วมถึงและไม่มีที่ดินทำกิน  จึงต้องอยู่รวมกับชุมชนอื่นๆ ทำให้มีปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย  นอกจากนี้พื้นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ   และยังทับซ้อนกับที่ดินของนิคมฯ  ทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากกว่าพื้นที่อื่นๆ”  สยามกล่าว

สำหรับปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในอำเภอดอยเต่า  แยกเป็นปัญหาต่างๆ  เช่น  1.ที่อยู่อาศัยที่ชาวบ้านมี โฉนด   ส่วนมากจะเป็นชุมชนดั้งเดิม   แต่มีความแออัด   ไม่มีที่ดินทำกินใกล้บ้าน  ทำให้ต้องไปหาที่ดินทำกินในเขตป่าสงวนฯ และเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง   ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมาโดยตลอด  2.ที่อยู่อาศัยที่ชาวบ้านมีเอกสาร นส. 3 และ นส. 3 ก.  ที่พร้อมจะออกเอกสารสิทธิ์ได้ แต่ทางราชออกให้ได้เป็นบางราย  บางหมู่บ้านโฉนดออกเป็นฟันหลอ  ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ  และยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหามาถึงทุกวันนี้

3.ที่อยู่อาศัยที่มีเอกสาร นส. 3 และ นส.  3ทับซ้อนเขตป่าสงวนแห่งชาติในหลายพื้นที่  4.ที่อยู่อาศัยในเขตนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล  ที่มีเอกสาร นค. 1 และ นค. 3  ซึ่งสามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้   แต่ยังไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้เนื่องจากทับซ้อนกับเขตป่าสงวนแห่งชาติ  5.ที่อยู่อาศัยในเขต สปก.  ส่วนใหญ่ทับซ้อนกับเขตป่าสงวนแห่งชาติ ปรากฏในหลายพื้นที่ของอำเภอดอยเต่า  

6.ที่อยู่อาศัยในเขตการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)  มีบางส่วนที่อยู่ในเขตน้ำท่วมที่ กฟผ.ได้ปักเขตเอาไว้  แต่น้ำไม่เคยท่วม  ชาวบ้านจึงเข้าปลูกบ้านอยู่ในพื้นที่ กฟผ. ทำให้เป็นประเด็นขัดแย้งกันมาโดยตลอด  7.ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง  ประกาศเป็นอุทยานฯ ในปี 2524  แต่ชาวบ้านอยู่อาศัยมาก่อนนานหลายสิบปี  ชาวบ้านจึงกลายเป็นผู้บุกรุก ฯลฯ

น้ำปิงไหลคดเคี้ยวผ่านพื้นที่ราบในอำเภอดอยเต่า  แต่เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก  น้ำจะท่วมพื้นที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของทะเลสาบดอยเต่า

ก้าวย่างของ “นครดอยเต่าโมเดล”                                                                                                                

สยาม   นนท์คำจันทร์  กล่าวว่า  จากปัญหาต่างๆ ดังกล่าว  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สำนักงานภาคเหนือ  จึงได้จัดทำโครงการบ้านมั่นคงชนบท  เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ‘นครดอยเต่าโมเดล’  โดยส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปประสานงานกับทางอำเภอดอยเต่าตั้งแต่เมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา  มีการจัดประชุมเพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจกับผู้นำชุมชน  กำนัน  ใหญ่บ้าน  อบต.  ฯลฯ

หลังจากนั้นในเดือนมีนาคม-มิถุนายน  ผู้นำและชาวบ้านในแต่ละตำบล  แต่ละหมู่บ้าน  จึงร่วมกันสำรวจข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนทั้งเรื่องที่ดินทำกิน  ที่อยู่อาศัย  อาชีพ  ปัญหาความยากจน  การขาดแคลนสาธารณูปโภค  จัดทำผังชุมชน  ฯลฯ  เพื่อนำปัญหาต่างๆ เหล่านี้มาจัดทำเป็นแผนแก้ไขปัญหาและพัฒนาตำบล-หมู่บ้านตามโครงการ ‘นครดอยเต่าโมเดล’  รวมทั้งหมด  43 หมู่บ้าน  และมีการจัดประชาคมเพื่อรับรองแผนดังกล่าว

ล่าสุดในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา  มีการจัดเวทีเพื่อนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาตำบล-หมู่บ้านในอำเภอดอยเต่า  มีตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมกว่า 500 คน  มีคณะผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  คณะอนุกรรมการบ้านมั่นคง  นักวิชาการ  สถาปนิก  ฯลฯ  เข้าร่วมเพื่อรับฟังข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  นอกจากนี้คณะฯ ยังได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูลจากชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆ ด้วย

ประชุม

ณัฐรัฐ  ชัยบาล  นายก อบต.ท่าเดื่อ  ยกตัวอย่างปัญหาของชาวบ้านโป่งแพ่ง  ต.มืดกา  ว่า  บ้านโป่งแพ่งมีทั้งหมด 42 ครัวเรือน  ประชากรประมาณ 120 คน  ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง  มีฐานะยากจน  เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนฯ  แต่เดิมอยู่อาศัยบนดอยหลวง-ดอยแก้ว  ไม่มีเส้นทางคมนาคม  ในช่วงฤดูฝนการเดินทางลำบาก  โดยเฉพาะในยามเจ็บไข้ได้ป่วย  จึงพากันอพยพครอบครัวลงมาอาศัยอยู่ที่บ้านโป่งแพ่งเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว  มาอยู่ในที่ดินของนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล  แต่ที่ดินมีเนื้อที่ไม่มากเพราะอยู่ติดกับเขตป่าสงวนฯ  นิคมฯ ให้ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินครอบครัวละ 1 งาน  หรือ 100 ตารางวา  แต่ไม่พอที่จะปลูกพืชผลเพื่อทำมาหากิน

“ชาวบ้านเหมือนผงเข้าตาตัวเอง  ไม่รู้จะเอาออกได้อย่างไร  เพราะไม่มีที่ดินทำกิน  ปลูกลำไยได้เพียงครอบครัวละ 2-3 ต้น  ไม่พอจะเก็บไปขาย  ต้องออกไปรับจ้างนอกหมู่บ้าน  รับจ้างทำไร่  ทำสวน  หากินเป็นรายวัน  ได้เงินมาก็ซื้อข้าวกินไปวันๆ  เพราะไม่มีพื้นที่ทำนา  บางคนไปจับปลาในทะเลสาบดอยเต่าฯ แต่ก็ไม่ได้จับปลาตลอดทั้งปี  เพราะมีการห้ามจับในช่วงฤดูปลาวางไข่”  นายก อบต. เล่าถึงความยากลำบากของชาวบ้านโป่งแพ่ง

บุญธรรม  จันทร์หม้อ  เลขานุการสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านแอ่น  เล่าว่า ชาวบ้านตำบลบ้านแอ่นเมื่อก่อนอยู่อาศัยริมน้ำแม่ปิง  เป็นพื้นที่ราบริมน้ำที่อุดมสมบูรณ์  ปลูกข้าว  ปลูกพืชผลต่างๆ และหาปลา  ไม่อดอยาก  แต่เมื่อสร้างเขื่อนฯ แล้วเสร็จ   ในปี 2507  น้ำเริ่มท่วมพื้นที่ในดอยเต่า  ชาวบ้านแอ่นจึงต้องอพยพมาอยู่ในที่ดินปัจจุบัน  โดยนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพลจัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละ 5 ไร่  มาตอนแรกลำบากมาก  เพราะเป็นที่ดอนไม่มีน้ำกิน  น้ำใช้  ชาวบ้านต้องช่วยกันขุดบ่อน้ำ

“ปัจจุบันตำบลบ้านแอ่นมีครัวเรือนทั้งหมด 995  ครอบครัว  ส่วนใหญ่ทำสวนลำไย  สวนมะม่วง  แต่ไม่พอกิน  เพราะที่ดินมีเพียง 5 ไร่  พอมีครอบครัวขยาย   มีลูกมีหลาน  ทำสวนลำไยได้ปีละครั้งขายได้ไม่พอกิน  พอถึงช่วงน้ำแล้งชาวบ้านจะลงไปปลูกพืชล้มลุกในพื้นที่เดิมที่เคยอพยพมา  เช่น  หอมแดง  แตงโม  ฟักทอง  และปลูกข้าวได้เล็กน้อย  เพราะหากน้ำมาถ้าเก็บเกี่ยวไม่ทันก็จะเสียหายหมด” ตัวแทนชาวตำบลบ้านแอ่นกล่าวถึงปัญหา

พื้นที่ด้านล่างคือที่ตั้งหมู่บ้านเดิม  ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของทะเลสาบดอยเต่า เมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมเต็มพื้นที่

นอกจากนี้บุญธรรมยังพูดถึงแผนงานในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาในตำบลว่า  จากปัญหาที่ดินทำกินไม่เพียงพอ  และไม่สามารถขยายที่ทำกินได้  ชาวบ้านจึงมีแผนในการเพิ่มรายได้  เช่น  จากเดิมที่ปลูกลำไยพันธุ์อีดอขายผลสด  มีรายได้สูงสุดปีหนึ่งไม่เกินครัวเรือนละ 150,000 บาทในพื้นที่ปลูก 5 ไร่  ก็จะนำลำไยมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า  เช่น  ทำลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง  ส่วนคนที่ปลูกมะนาวก็นำมาแปรรูปทำน้ำมะนาวพร้อมดื่ม  และทำตลาดชุมชนบริเวณริมถนนใหญ่สายดอยเต่า-ฮอด  เพื่อให้ชาวบ้านนำผลิตผลต่างๆ มาวางขายเป็นการเพิ่มรายได้ 

เป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ  “ทำตามศาสตร์พระราชา”

                สยาม   นนท์คำจันทร์  กล่าวว่า  จากการรวบรวมข้อมูลปัญหาของชาวดอยเต่า  และนำมาจัดทำเป็นแผนพัฒนา “นครดอยเต่าโมเดล” แม้จะพบว่าปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญ  แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง  ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน  เช่น  กรมป่าไม้  กรมอุทยานแห่งชาติฯ  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  นิคมสร้างตนเอง  เขื่อนภูมิพล  กรมธนารักษ์  ฯลฯ 

ดังนั้นในส่วนของปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยนั้น  ตัวแทนชาวบ้านจะรวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนของคนดอยเต่าเสนอไปยังคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน  เพื่อให้นำประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขนำเสนอสู่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช./มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน)  นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายต่อไป

                “แต่ในระหว่างการแก้ไขปัญหาที่ดินเชิงนโยบาย  ชาวบ้านก็ไม่ได้อยู่นิ่งเฉย  เพราะตามแผนงาน ‘นครดอยเต่าโมเดล’ จะมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท  และไม่ใช่จะทำเฉพาะเรื่องบ้าน  หรือเรื่องที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว  แต่เราจะทำเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ทำเรื่องการส่งเสริมอาชีพ  เพิ่มรายได้  การท่องเที่ยวชุมชน  การทำเกษตรกรรมตามแนวทางศาสตร์พระราชา  การพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ  การฟื้นฟูภูมิปัญญา  วัฒนธรรมท้องถิ่น  เพื่อนำไปสู่การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของคนดอยเต่า”  สยามกล่าว  และว่า  การดำเนินโครงการนครดอยเต่าโมเดล  มีการจัดตั้งคณะทำงานระดับอำเภอขึ้นมา  มีที่มาจากทุกภาคส่วน  รวม 27  คน  เช่น  ตัวแทนชาวบ้านทุกตำบล  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน   อบต.  โดยมีนายอำเภอดอยเต่าเป็นประธาน

                นอกจากนี้ยังมีแผนงานต่างๆ เพื่อนำไปสู่การอยู่ดีกินดีของคนดอยเต่า  เช่น  การผลักดันให้มีสถานีไฟฟ้าในอำเภอ  เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาไฟฟ้าไม่เสถียร  ไฟฟ้าดับบ่อย  ทั้งที่ดอยเต่าเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า, การจัดสร้างระบบกรองน้ำประปาเพื่อให้ถูกสุขลักษณะ, การจัดการทรัพยากรธรรมชาติตามแนวทางพระราชดำริ  ป่าดี  น้ำดี  ตามศาสตร์พระราชา  ปลูกป่าในใจคน  สร้างป่าเปียกต้นน้ำแม่หาด  ซ่อมสร้างฝายขุนน้ำสู่ลำเขื่อน, รณรงค์ลดการใช้สารเคมีในการเกษตร  ปรับเปลี่ยนมาใช้สารอินทรีย์  ปลูกลำไยอินทรีย์   ปรับพฤติกรรมการกินการใช้ชีวิต  การออกกำลังกาย  เพื่อให้คนดอยเต่ามีสุขภาพแข็งแรง, ส่งเสริมการปลูกกาแฟบนพื้นที่สูง  เลี้ยงวัวแบบประณีต  เพื่อแก้ปัญหาความยากจน  เพิ่มรายได้  ลดต้นทุนการผลิต  ฯลฯ

ชาร์ต

 ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. สำนักงานภาคเหนือ  ขยายความว่า  ตามแผนงานดังกล่าว  จะมีการสนับสนุงบประมาณเพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภค  เช่น  ไฟฟ้า  ประปา  ถนน  ฯลฯ  ครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน  24,800 บาท,  งบอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย  เช่น  ซ่อมสร้างบ้านเรือนที่ชำรุดทรุดโทรม  หรือปลูกสร้างใหม่  เนื่องจากปลูกสร้างมานาน  ไม่เกินครัวเรือนละ  40,000 บาท  และงบบริหารจัดการ  สนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน  ครัวเรือนละ 7,200 บาท  ซึ่งงบสนับสนุนดังกล่าวนี้  พอช.จะสนับสนุนผ่านสหกรณ์เคหสถานที่ชาวบ้านแต่ละตำบลจะจัดตั้งขึ้นมาเพื่อนำไปบริหารจัดการตามแผนงานที่แต่ละชุมชน  แต่ละหมู่บ้านเสนอโครงการเข้ามา  ไม่ได้นำไปจ่ายให้ครัวเรือนโดยตรง

ทั้งนี้ตามแผนงาน  จะแบ่งการดำเนินออกเป็น  1.ระยะสั้น เริ่มดำเนินการในช่วงปลายปี 2561   โดยการพัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชนเดิม  จำนวน  19 หมู่บ้าน  รวม  2,860  ครัวเรือน  ใช้งบประมาณรวม  205.9 ล้านบาท  2.ระยะกลาง  ดำเนินการในปี 2562  จำนวน 17 หมู่บ้าน  รวม 1,000 ครัวเรือน  และ 3.ระยะยาว  ดำเนินการในปี 2563-2564  จำนวน 6  ชุมชน  รวม 600   ครัวเรือน  รวมทั้งหมด  43 ชุมชน  รวม  4,460  ครัวเรือน  โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำโครงการ  เพื่อเสนอให้คณะอนุกรรมการบ้านมั่นคง  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ พิจารณาโครงการและอนุมัติงบประมาณ 

ผอ.พอช.

สมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กล่าวว่า  คนดอยเต่าทุกครัวเรือนจะต้องออกมาร่วมแก้ไขปัญหาของตนเอง  โดยเริ่มจากปัญหาเล็กๆ หรือปัญหาที่ใกล้ตัวก่อน   และต้องดึงหน่วยงานในท้องถิ่นเข้ามาร่วมสนับสนุน  เพื่อสร้างความเชื่อมั่น  สร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้น  โดยการรวมพลังจากภาคส่วนต่างๆ  คือ   1.พลังชุมชน  2.พลังท้องถิ่น  3.ส่วนราชการ  และ 4.พลังประชาสังคม  เข้ามาร่วม

“ส่วนเรื่องปัญหาที่ดินเป็นปัญหาใหญ่เพราะเป็นที่ดินของหลายหน่วยงาน  ดังนั้นอาจจะต้องเริ่มจากการนำปัญหาเข้าสู่ คทช.จังหวัดก่อน  แล้วนำไปสู่ คทช.ชาติ  ซึ่งปัจจุบันมีหลายพื้นที่ที่ดำเนินการไปแล้ว  และรัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหา  เช่น  กลุ่ม P-Move (ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม)  และโครงการแม่แจ่มโมเดล  อ.แม่แจ่ม  จ.เชียงใหม่  ที่มีการรวมพลังจากทุกภาคส่วนมาร่วมแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ  เริ่มจากปัญหาหมอกควัน จากการเผาไร่ข้าวโพด  ไปสู่การส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน  เช่น  ปลูกไผ่ทดแทนข้าวโพด  ลดการใช้สารเคมี  ลดต้นทุนการผลิต  แก้ไขปัญหาหนี้สิน ฯลฯ   เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างหรือปัญหาที่ดินต่อไป”  ผอ.พอช.เสนอความเห็น

ตัวแทนชาวบ้านยื่นหนังสือร้องเรียนปัญหาผ่านผู้บริหาร พอช.

 

ทั้งหมดนี้เป็นก้าวแรกของ ‘นครดอยเต่าโมเดล’ ที่จะนำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาของคนดอยเต่าทั้งอำเภอและครบทุกมิติ  ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น  เสียงเพลง ‘หนุ่มดอยเต่า’ คงจะกลับมากระหึ่มก้องไปทั้งอำเภอ  ดังเนื้อร้องท่อนสุดท้ายว่า...

 

“ดอยเต่าบ้านเฮาบ่าเดี่ยว  หมู่เฮาเก็บเกี่ยว  ข้าวปลาอาหาร 

           อยู่ดีกินดี   น้องปี้สำราญ   ข้าวปลาอาหาร  สมบูรณ์พูนผล 

รัฐบาลช่วยเหลือทุกคน  บ่อับบ่จน  ทุกคนม่วนใจ๋
เปิ้นแบ่งที่ดิน ทำกินไฮ่นา  เลี้ยงปู  เลี้ยงปลา  ปลูกผัก ปลูกไม้
พี่น้องหมู่เฮา  จากดอยเต่าไป  ขอฮื้อขะใจ๋   ปิ๊กบ้านเสียเด๊อ

 

ตัวแทนชาวดอยเต่าและผู้บริหาร พอช.

 

                             


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"