"ศอร." เปิดปฏิบัติการลำเลียงทีมหมูป่าอะคาเดมีออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนสำเร็จ! เบื้องต้นช่วยเด็กออกมาแล้ว 4 คน นำส่งตรวจร่างกาย รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ทันที "ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์" ยันทุกคนปลอดภัย ระบุอีก 9 คนรอความพร้อมหลังขวดออกซิเจนวางรายทางหมดต้องนำไปวางใหม่ คาดไม่เกิน 20 ชม.เริ่มปฏิบัติการอีกครั้ง "บิ๊กตู่" เตรียมบินลงพื้นที่เชียงรายรอบ 2
เมื่อวันอาทิตย์ ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย (ศอร.) เปิดปฏิบัติการลำเลียงโค้ชและเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สายซึ่งติดอยู่ภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จากบริเวณจุดเนินนมสาวออกมาภายนอกถ้ำหลวงฯ หลังจากทั้งหมดติดอยู่ภายในถ้ำมานานกว่า 16 วัน รวมทั้งกรมอุตุนิยมวิทยายังได้พยากรณ์อากาศในช่วงตั้งแต่วันที่ 8-13 ก.ค.2561 จะมีฝนตกหนักในพื้นที่ จ.เชียงราย
โดยเวลา 10.30 น. นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย (ศอร.) แถลงถึงการลำเลียง 13 เยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สายออกจากถ้ำหลวงฯ ว่า ความพร้อมในการที่จะลำเลียงเด็กออกมาคือ สภาพอากาศ น้ำ ร่างกาย และจิตใจของเด็ก รวมถึงทุกปฏิบัติการ
"วันนี้ความพร้อมถึงขีดสุดแล้ว โดยดีเดย์ปฏิบัติการเมื่อเวลา 10.00 น. ใช้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญดำน้ำถ้ำจากต่างประเทศ 13 คน และผู้เชี่ยวชาญของไทยอีก 5 คน เข้าไปปฏิบัติการช่วยเด็กให้ออกมา โดยมีการวางแผนกันชัดเจนว่าจะเข้าไปและนำเด็กออกมาอย่างไร โดยในหน้างานจะมีผู้ปฏิบัติการและทีมแพทย์เท่านั้น" นายณรงค์ศักดิ์กล่าว
ผอ.ศอร.กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค. น้ำลงต่ำที่สุด โถง 1 ไปโถง 3 สามารถเดินได้แล้ว มีการสูบน้ำลดได้สูงสุด 30% ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในรอบกว่า 10 วัน และดูจากสภาพอากาศวันนี้เราเห็นว่าพายุลูกใหม่กำลังจะมา ถ้าเรารอจะเกิดฝนตกลงมา ความพร้อมจะลดจากร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นระดับต่ำลงมา
"สภาพร่างกายของเด็ก ขอยืนยันทั้ง 13 คนมีความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจสูงมาก เด็ดเดี่ยว มุ่งมั่น ทั้ง 13 คนรับทราบภารกิจที่เราจะปฏิบัติแล้ว เขาพร้อมที่จะออกมาด้วย ไม่ว่าจะเผชิญอะไร รวมทั้งครอบครัวทราบแล้วก่อนที่เราจะปฏิบัติภารกิจ ส่วนทีมแพทย์ เราซ้อมติดต่อกันมา 3-4 วัน ซ้อมแม้กระทั่งนำเด็กมาทดสอบความพร้อมว่าจะช่วยอย่างไร เราพร้อมปฏิบัติจริงๆ" ผอ.ศอร.กล่าว
ถามถึงการนำสแลนสีเขียวมาล้อมบริเวณหน้าถ้ำ นายณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า เพราะเราซ้อมการเข้าถึง ซ้อมภารกิจของแต่ละคน เราจะไม่ยอมให้มีความสับสนแม้แต่นิดเดียว ซึ่งขอยืนยันการปฏิบัติภารกิจครั้งนี้เราพร้อมทุกด้าน เรามีนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านถ้ำและสุขภาพชาวออสเตรเลียเข้าไปประเมินโดยตรงเมื่อวันที่ 7 ก.ค. จึงไม่มีวันใดที่เราพร้อมกว่านี้อีกแล้ว หลายจุดถ้ำสามารถเดินได้ ถ้าเราไม่เริ่มปฏิบัติการในเวลาที่เราได้เปรียบที่สุดและพร้อมที่สุด เราอาจเสียโอกาสที่จะทำปฏิบัติการไป
"การเข้า-ออกถ้ำ เราประเมินว่าอย่างเร็วที่สุดคนแรกน่าจะออกมาประมาณ 21.00 น. ซึ่งการลำเลียงเด็กออกครั้งนี้ เราจะทยอยออกทีละ 1 คน โดยเด็ก 1 คนจะมีคนดูแล 2 คน อาจจะใช้เวลาพอสมควร และไม่ใช่วันนี้จะเสร็จ แต่ภารกิจวันนี้จะต่อเนื่องตลอดจนกระทั่งคนสุดท้ายออกมา โดยผลจะเริ่มออกมาหลัง 21.00 น. และจะมีผลออกมาอย่างต่อเนื่อง" นายณรงค์ศักดิ์กล่าว
ทีมรวมดาราโลกลุย
ผอ.ศอร.กล่าวว่า เรามีการซักซ้อมในเรื่องทางออกหลายทาง ซักซ้อมทั้งทางอากาศและบนพื้นดิน เราเลือกแผนที่เหมาะสมที่สุด ณ เวลานั้น เราดูจะสถานการณ์ทุกอย่างประกอบกัน เราเตรียมเฮลิคอปเตอร์และรถพยาบาลไว้ทั้งหมด ขอให้ทุกคนเอาใจช่วยการปฏิบัติการครั้งนี้ ส่งแรงใจให้น้องๆ 13 คน และทีมปฏิบัติการของเราทุกคนประสบความสำเร็จ เพอร์เฟกต์ร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างที่พวกเราคาดหวัง
“ทีมที่เข้าปฏิบัติการครั้งนี้อยากเรียกว่าทีมรวมดาราโลกเลยละกัน เพราะมาจากแทบทุกประเทศที่เชี่ยวชาญ หลายคนพอได้รับการประสานก็แบ็กแพ็ก เอาอุปกรณ์กันมาเลย ซึ่งเขาเป็นทีมที่เจอกันประจำในระดับโลก ซ้อมกันประจำอยู่แล้ว ส่วน 5 คนของเรานั้นมีการคัดพิเศษที่เพอร์เฟกต์และเข้ากับเขาได้” ผอ.ศอร.กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าที่นายณรงค์ศักดิ์จะแถลงข่าว ตั้งแต่เวลา 06.45 น. เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย (ศอร.) ได้แจ้งในกลุ่มไลน์สื่อมวลชนที่มาปฏิบัติหน้าที่ที่ ศอร.ว่า จะไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนขึ้นไปบริเวณทางเข้าปากถ้ำหลวงฯ โดยผู้บัญชาการเหตุการณ์คือนายณรงค์ศักดิ์จะมาลงแถลงข่าวที่ อบต.โป่งผา ริมถนนพหลโยธินแทน ซึ่งอยู่ไกลจากบริเวณปากถ้ำหลวงฯ หลายกิโลเมตร
นอกจากนี้ ตั้งแต่เมื่อค่ำคืนวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้กางสแลนสีเขียวปิดทางออกจากปากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ยาวไปถึง รพ.สนาม
เวลา 07.00 น. พ.ต.อ.ทรงกริช ออนตะไคร้ ผกก.สภ.แม่สาย ประกาศในฐานะ ศอร. ขอยึดคืนพื้นที่สื่อมวลชนที่มาเกาะติดรายงานสถานการณ์ช่วยเหลือเด็กและโค้ช จำนวน 13 ชีวิต ภายในวนอุทยานถ้ำหลวงฯ โดยให้ย้ายมาอยู่องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ติดถนนพหลโยธิน ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 4 กิโลเมตร รวมทั้งยังให้จิตอาสาและเจ้าหน้าที่บางส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานออกนอกพื้นที่ไปอยู่องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งผาด้วยเช่นกัน
ขณะที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ถนนสนามบินเก่า ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่จะนำทั้ง 13 ชีวิตทีมหมูป่าอะคาเดมีมารักษาพยาบาลหลังออกจากถ้ำหลวงฯ ในเวลา 12.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองเชียงราย และ รปภ.ของโรงพยาบาลได้จัดเตรียมสถานที่ให้กับทางสื่อมวลชนให้มาอยู่ฝั่งตรงข้ามกับทางโรงพยาบาล โดยมีการนำแผงเหล็กมาตั้งเรียงรายตามแนวถนน แต่สามารถทำข่าวได้ในช่วงที่มีการนำเด็กทั้ง 13 คนส่งถึงโรงพยาบาล โดยมีการขอร้องไม่ให้ทางสื่อหรือชาวบ้านผ่านเข้า-ออกหน้าห้องฉุกเฉิน นอกจากญาติผู้ป่วยที่เข้ามารักษาเท่านั้น
สำหรับห้องชั้น 8 ที่จะใช้เป็นสถานที่รักษาและดูแลทั้ง 13 คน มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำเส้นทางขึ้นไว้ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นบันไดหรือลิฟต์ ในด้านการจราจร ในช่วงเช้ายังอนุญาตให้รถยนต์ผ่านไปมาได้ แต่มีการเตรียมปิดถนนได้ทันทีหากมีการลำเลียงเด็กเข้ามา
ทั้งนี้ ตามแผนหลังนำเด็กออกจากถ้ำหลวงฯ จะนำส่งทั้งเฮลิคอปเตอร์และทางรถยนต์ โดยเฮลิคอปเตอร์จะมาลงที่บริเวณสนามโรงเรียนสันโค้ง (เชียงรายจรูญราษฎร์) ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จากนั้น 13 ชีวิตถูกส่งตัวมาถึงโรงพยาบาลจะถูกนำตัวไปยังหอผู้ป่วยสามัญอุบัติเหตุชั้น 8 ซึ่งจะถูกปรับให้เป็นหอผู้ป่วยเฉพาะกิจทั้งชั้น ซึ่งภายในจะมีระบบควบคุมการติดเชื้อตามมาตรฐาน คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและควบคุมโรคให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ทั้งตัวผู้ป่วยเองและญาติ
4 หมูป่าออกมาสำเร็จ
ขั้นตอนต่อไปจะนำ 13 ชีวิตไปตรวจอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นการประเมินภาวะอุณหภูมิของร่างกาย การขาดน้ำ การขาดสารอาหาร ตรวจเอกซเรย์ปอด ตรวจเลือด ปัสสาวะ นำตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อค้นหาเชื้อ รวมทั้งตรวจพิเศษอื่นๆ ตามคำประเมินของแพทย์
หอผู้ป่วยยังจะถูกแบ่งเป็นสัดส่วน ห้องโถงพักญาติแยกชัดเจนจากผู้ป่วย โดยให้ญาติที่ลงทะเบียนไว้ทั้งหมดเพียง 52 คนเท่านั้นที่เข้าเยี่ยมได้ และการเยี่ยมจะเกิดขึ้นหลัง 3 ถึง 7 วันที่ได้มีการประเมินอาการของ 13 ชีวิตก่อนตามระเบียบสากล/ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าสำหรับญาติและทีมแพทย์ก่อนเข้าไปถึงห้องพักของทั้ง 13 คน เสื้อผ้าที่ฆ่าเชื้อแล้วจะถูกจัดไว้ให้เปลี่ยนเพื่อความสะอาดปลอดภัยขั้นสูงสุด
ขณะที่ระเบียบในการเยี่ยมญาติต้องห่างจาก 13 ชีวิต 2 เมตร ห้ามสัมผัสใกล้ชิด/ห้ามโดนเครื่องมือแพทย์ เนื่องจากต้องระมัดระวังการแพร่เชื้อที่ไม่มีใครรู้ว่ามีเชื้อโรคอะไรบ้างที่ 13 ชีวิตจะนำติดออกมาจากถ้ำ ขณะที่ในห้องที่ 13 ชีวิตพักรักษาตัวจะมีอุปกรณ์การแพทย์ครบครัน
เวลา 14.00 น. ได้เกิดฝนตกบริเวณถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน นานกว่า 1 ชั่วโมง
ต่อมาเวลา 16.30 น. ศูนย์ปฏิบัติการประชาสัมพันธ์ถ้ำหลวงฯ กรมประชาสัมพันธ์ เผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ได้ให้ข่าวต่อสื่อมวลชนถึงความคืบหน้า หลังจากนักดำน้ำนานาชาติและหน่วยซีลได้เริ่มปฏิบัติการเข้าไปช่วยเหลือนำทีมนักฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนว่า ทุกคนเริ่มปฏิบัติการเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำในถ้ำจากต่างประเทศ จำนวน 13 คน ได้เข้าไปดำน้ำเพื่อกู้ภัยในถ้ำ ในจำนวนนี้ 10 คนได้ไปประจำที่จุด 9 (จุดที่น้องอยู่) และจุด 6 (จุดกลางทางใกล้สามแยก) ตามแผนงาน เพื่อเริ่มกระบวนการนำเด็กออกจากถ้ำ ส่วนอีก 3 คนทำงานสนับสนุนการช่วยเหลือเด็ก โดยได้เริ่มดำน้ำตามแผนตั้งแต่เวลา 14.00 น.
เอกสารข่าวระบุว่า นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่กู้ภัยอีกจำนวนหนึ่ง นักประดาน้ำ และเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่เชี่ยวชาญการกู้ภัยจากไทย สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีนและยุโรป ประจำการอยู่ที่บริเวณโถงหมายเลข 3 จนถึงปากถ้ำ ทั้งนี้ มีการวางระบบรอก เพื่อสนับสนุนการนำเด็กออกจากถ้ำในบริเวณโถงหมายเลข 2 และ 3 ซึ่งมีสภาพพื้นที่ที่มีความยากลำบาก เนื่องจากความซับซ้อนและยากลำบากของสภาพภายในถ้ำ จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะใช้เวลาเท่าใดที่จะสามารถนำเด็กชุดแรกออกจากถ้ำได้
"โดยนักประดาน้ำจะทำงานร่วมกับแพทย์ภายในถ้ำ เพื่อประเมินสภาพร่างกายของเด็กๆ และพิจารณาความเหมาะสมว่าเด็กคนไหนจะถูกนำตัวออกมาเป็นชุดแรก เนื่องจากความซับซ้อนของถ้ำและความยากของการปฏิบัติการ จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าเด็กกี่คนจะสามารถออกจากถ้ำในการดำเนินการครั้งแรก" เอกสารข่าวศูนย์ปฏิบัติการประชาสัมพันธ์ถ้ำหลวงฯ กรมประชาสัมพันธ์ระบุ
กระทั่งเวลา 17.40 น. เจ้าหน้าที่สามารถพาน้อง 2 คนแรกทีมหมูป่าอะคาเดมีออกถ้ำหลวงฯ มาได้แล้ว คาดว่าน่าจะเป็น ด.ช.มงคล บุญเปี่ยม หรือน้องมาร์ค และ ด.ช.ประจักษ์ สุธรรม หรือน้องโน้ต และนำไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์
เวลา 19.40 น. เจ้าหน้าที่นำน้องทีมหมูป่าอะคาเดมีคนที่ 3 ออกจากถ้ำเดินทางไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อไปโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ตามด้วยเวลา 19.50 น. นำน้องคนที่ 4 ออกจากถ้ำ เดินทางด้วยรถพยาบาลไปที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เช่นเดียวกัน
ไม่เกิน 20 ชม.ลุยอีก
เวลา 21.00 น. นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย และคณะ ร่วมแถลงข่าวแห่งความสำเร็จปฏิบัติการช่วยเหลือทีมนักฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีพร้อมผู้ฝึกสอน 4 คนแรกออกมาจากถ้ำหลวงฯ ได้สำเร็จว่า เป็นเวลา 16 วันแห่งการรอคอยที่คุ้มค่าที่สุด หลังจากทุกฝ่ายได้ปฏิบัติการอย่างเต็มที่ วันนี้มีความพร้อมทั้งระดับน้ำที่ลดลงไปมาก อากาศที่เอื้ออำนวย สภาพร่างกายและจิตใจของเด็กและพ่อแม่ และทีมบุคลากรที่ทำงาน
นายณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า ภารกิจมีทั้งหมด 3 ระยะ คือ ค้นหา กู้ภัย และส่งกลับ ซึ่งสามารถกู้ภัยและส่งตัวน้องๆ 4 คนแรกถึงโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์อย่างปลอดภัยทุกคน ปฏิบัติการดังกล่าวใช้เจ้าหน้าที่เทคนิคดำน้ำ 13 คน โดย 10 คน เป็นนักดำน้ำ อีก 3 คนเป็นฝ่ายเทคนิค มีเจ้าหน้าที่หน่วยซีลไทย 5 นาย เจ้าหน้าที่ดำน้ำกว่า 90 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างประเทศกว่า 50 คน และคนไทยกว่า 40 คน โดยใช้วิธีให้เด็กเกาะอยู่ข้างใต้ตัวเทคนิค ใส่หน้ากากกันน้ำเข้า มีระบบหายใจตามปกติ ให้น้องอยู่ข้างใต้และกอดน้องออกมา
"ปฏิบัติการวันนี้ประสบความสำเร็จมากกว่าที่คาด คนแรกออกมาจากถ้ำเมื่อเวลา 17.40 น. คนที่สองออกมาหลังจากนั้น 20 นาที นำตัวส่งโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์โดยรถพยาบาลต่อด้วยเฮลิคอปเตอร์ ส่วนคนที่ 3 และ 4 ออกมาในเวลา 19.40 น.และ 19.50 น." นายณรงค์ศักดิ์กล่าว
ผอ.ศอร.กล่าวว่า สำหรับปฏิบัติการต่อไป จะทำเมื่อมีความพร้อม ทุกอย่างต้องเตรียมใหม่ โดยเฉพาะขวดออกซิเจนที่ใช้หมดแล้ว จะต้องนำไปวางใหม่ โดยปฏิบัติการถัดไปจะเริ่มอีกไม่เกิน 20 ชั่วโมงนับจากนี้ และสภาพจะต้องเหมือนวันนี้ โดยจะมีการประชุม เชิญทุกทีมมาประเมิน ทั้งระบบลำเลียง ยานพาหนะ ทีมแพทย์ ทีมขนส่ง ทีมบริหารจัดการทั้งหมด
"ทั้งนี้ระบบส่งตัวโดยรถพยาบาลไปถึงเฮลิคอปเตอร์ราบรื่นมาก ใช้เวลาเพียง 2 นาทีกว่า เร็วกว่าวันซ้อม 5 เท่า เหนือสิ่งอื่นใดคือพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยและทรงให้กำลังใจทีมงานทุกคน จนภารกิจสำเร็จลงได้ และจะมุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจที่เหลือให้สำเร็จลุล่วงเป็นของขวัญแก่ชาวไทยทั้งประเทศ" ผอ.ศอร.กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 22.00 น. ได้เกิดฝนตกหนักขึ้นอีกครั้งบริเวณถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แสดงความเป็นห่วงอย่างมาก โดยมีการสั่งให้เจ้าหน้าที่เร่งสูบน้ำเพื่อระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เขตสุขภาพที่ 1 กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนที่จะช่วยน้องๆ ออกมาได้ว่า ตามหลักการจะมีแพทย์หลัก 2 คน เป็นผู้ตรวจ 13 ชีวิต คือ อายุรแพทย์ตรวจผู้ที่มีอายุเกิน 15 ปี 1 คน และกุมารแพทย์สำหรับตรวจผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี 1 คน นอกจากนั้นจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่างๆ เช่น ด้านโรคติดเชื้อ จักษุแพทย์ ร่วมกันวินิจฉัยอาการ
"เบื้องต้นได้รับรายงานจากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ว่า มีทีมแพทย์และพยาบาลพร้อมแล้ว ไม่ต้องขอรับทีมเสริมจากที่อื่น ขณะที่มีเรื่องน่ายินดีว่าถ้าทั้ง 13 คนมีสภาพร่างกายแข็งแรง ฟื้นตัวเร็ว ผลเลือดไม่มีการติดเชื้อ และเมื่อดูอาการภายใน 24 ชั่วโมงไม่พบว่ามีไข้หรืออาการไอ ก็จะสามารถให้ญาติมาเยี่ยมได้ แต่ต้องอยู่ในระยะห่าง 2 เมตรตามหลักสากล" นพ.ธงชัยกล่าว
นายกฯ บินลงเชียงราย
ขณะที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันที่ 9 ก.ค.นี้ เวลา 15.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะ จะเดินทางไปถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เดินทางมาที่ จ.เชียงราย เพื่อติดตามภารกิจช่วยเหลือ 13 คนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับฟังจากรายงานของหน่วยงานต่างๆ และการรายงานของสื่อมวลชน ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงอยากไปติดตามเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยตัวเอง หลังเสร็จสิ้นภารกิจ นายกรัฐมนตรีจะเดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ ในเวลาประมาณ 21.30 น.
พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องติดตามปัญหา และสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรที่เสียสละพื้นที่ของตนเป็นที่รับน้ำจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย และเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรเหล่านี้อย่างเต็มที่
"กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบให้เกษตรจังหวัดเชียงรายและเกษตรอำเภอแม่สายสำรวจพื้นที่ ซึ่งพบว่ามี 3 ตำบลใน อ.แม่สาย ที่ได้รับผลกระทบ คือ ต.ศรีเมืองชุม ต.โป่งผา และ ต.บ้านด้าย รวมจำนวน 1,397 ไร่ เกษตรกรราว 100 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ของพื้นที่ที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร สำหรับอัตราการช่วยเหลือตามระเบียบทางราชการคือ ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท, พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท, พืชสวนและอื่นๆ อัตราไร่ละ 1,690 บาท โดยระหว่างนี้เกษตรกรสามารถไปแจ้งความเสียหายได้ และคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายระดับหมู่บ้านจะลงพื้นที่ตรวจสอบเป็นรายแปลงทุกแปลง คาดว่าภายในเดือนกรกฎาคมนี้ จะได้ข้อสรุปการช่วยเหลือเกษตรกรทั้งหมด" พล.ท.สรรเสริญกล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ย้ำให้ จ.เชียงราย พิจารณาให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ของการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ หากไม่เพียงพอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบที่มีอยู่ โดยจะโอนเงินผ่านบัญชีของเกษตรกรโดยตรง อีกทั้งจะมีการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว ฟื้นฟูสภาพดิน และให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคโนโลยีการปลูกข้าวที่เหมาะสมหลังน้ำลดแก่เกษตรกรด้วย ทั้งนี้ นายกฯ ขอบคุณเกษตรกรทั้งหมดที่เสียสละประโยชน์ของตัวเอง และปลาบปลื้มใจที่ทราบว่าทุกคนยินดีให้เป็นพื้นที่รับน้ำ ขอเพียงให้สามารถช่วยเหลือเยาวชนทั้ง 13 คนออกจากถ้ำหลวงฯ ได้
วันเดียวกัน นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ให้กำลังใจโค้ชเอก พร้อมทั้งเสนอแนวทางการใช้พุทธจิตวิทยาบำบัดให้กับโค้ชทีมนักเตะหมูป่าว่า พุทธจิตวิทยาบำบัดกับการบำบัดแบบไทยๆ ที่ได้ผลและควรค่าแก่การนำมาใช้กับเด็กๆ ทั้ง 13 คนในถ้ำหลวงน้ำนางนอน ประเพณีปอยส่างลอง หรืองานบวชลูกแก้ว เพื่อทำการบรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา โดยจะพบเห็นการจัดปอยส่างลองกันมากที่จังหวัดในภาคเหนือตอนบน คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมประเพณีนี้ก็สืบเชื้อสายมาจากไทยใหญ่ ซึ่งก็ได้ร่วมกันสืบทอดงานประเพณีนี้มาเป็นเวลาช้านานบนความเชื่อที่ยังคงสืบสานต่อมาจนถึงปัจจุบัน
"ตามที่ผมตั้งข้อสังเกตว่า ผมกลัวมากที่สุด คือ กลัวว่าโค้ชเอกจะโทษตนเอง และสำนึกแบบสำคัญผิดว่า เหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นความผิดของตนเอง และไม่ยอมยกโทษให้ตนเอง รวมถึงการเสียชีวิตของจ่าเอกสมาน กุนัน นักทำลายใต้น้ำจู่โจมนอกราชการในระหว่างการเข้าไปช่วยเหลือ หากเด็กทั้ง 13 คนทราบหลังจากผ่านช่วยเหลือออกมาได้แล้ว ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งกระทบจิตใจอย่างรุนแรงของเด็กได้ และอาจนำไปสู่การพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรงเฉียบพลัน หรือชนิดเรื้อรัง และทำร้ายตนเองได้ เพราะความรู้สึกนี้จะรบกวนจิตใจของเด็กตลอดเวลาแบบมิรู้ลืม"
รองปลัดยุติธรรมกล่าวว่า เมื่อประเทศไทยในภาคเหนือตอนบนความยังคงมีเข้มแข็งทางวัฒนธรรมอยู่ ดังนั้น ประเพณีปอยส่างลอง หรืองานบวชลูกแก้ว เพื่อทำการบรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา อาจเป็นเครื่องมือจิตบำบัดที่สำคัญของเด็กกลุ่มนี้ ทั้งยังเป็นการบรรพชาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้วีรบุรุษของพวกเขาและโลก คือจ่าแซมไปเสียในคราวเดียวกันด้วย ผมเชื่อว่าวิธีการนี้น่าจะเป็นพุทธจิตวิทยาบำบัด ได้เป็นอย่างดีและทรงประสิทธิภาพครับ ขอให้กำลังใจเด็กและบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายด้วยหัวใจและความเคารพครับ
ที่วัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม คณะสงฆ์ได้ร่วมสวดเจริญพระพุทธมนต์ ขอพรเทวดา และสำรวมจิต เพื่อความเป็นสิริมงคล ให้กำลังใจคนไทย และให้ประเทศ ก้าวผ่านวิกฤติ เนื่องจากมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นติดต่อกัน ทั้งเหตุเรือนักท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ต เครื่องบินกองทัพบกตก และทีมหมูป่าอะคาเดมีติดในถ้ำหลวงฯ จังหวัดเชียงราย รวมถึงตั้งจิตอธิษฐานให้ทั้ง 13 คนที่ติดถ้ำกลับออกมาได้อย่างปลอดภัยเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติภารกิจสำเร็จลุล่วงด้วยดี.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |