อุตุฯ เตือนคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ประชาชนระวังอันตรายจากน้ำท่วม โดยจะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ปภ.พร้อมรับมือ 15 จังหวัดจ่อเกิดอุทกภัย ตั้งแต่เพชรบุรีจนถึงสตูล ปัตตานีเจอแล้ว ลมพัดหลังคาปลิว บ้านเรือนเสียหาย 70 หลัง ด้านสถานการณ์ภาคเหนือ 10-14 ก.ค. ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70
กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเรื่อง "คลื่นลมแรง และฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 8-12 กรกฎาคม 2561)" ฉบับที่ 10 ลงวันที่ 08 กรกฎาคม 2561 ความว่า ในช่วงวันที่ 8-12 กรกฎาคม 2561 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และบริเวณอ่าวไทยตอนบนตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมามีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย
สำหรับภาคใต้มีฝนตกหนักบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
พยากรณ์อากาศในรอบสัปดาห์ ภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 8-9 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 10-14 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส
ภาคกลาง ในช่วงวันที่ 9-14 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส
ภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 9-14 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) ในช่วงวันที่ 9-14 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) ในช่วงวันที่ 9-14 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในช่วงวันที่ 9-14 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส
นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า จากปริมาณน้ำฝนและสภาพอากาศ ตามแบบจำลองพยากรณ์นี้ พบว่า จ.เชียงรายมีเมฆปกคลุมจำนวนมาก ฝนจะตกสะสมที่ 30-60 มิลลิเมตรต่อวัน ไปจนถึงวันที่ 12 กรกฎาคม ซึ่งหากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลให้พื้นที่รับน้ำหรือพื้นที่ต่ำเกิดน้ำท่วม เนื่องจากปริมาณน้ำฝนสะสมจะมีมากกว่า 300 มิลลิเมตร สำหรับพื้นที่บริเวณถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อาจไม่รับผลกระทบเรื่องปริมาณน้ำฝนที่ไหลเข้าถ้ำทันทีในวันนี้ แต่อาจส่งผลกระทบในอีก 1-2 วันข้างหน้า
ด้านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง แจ้งว่า ด้วยประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 1 (270/2561) ลงวันที่ 6 ก.ค.61 ระบุว่า ในช่วงวันที่ 6-12 กรกฎาคม 2561 ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยฝั่งอันดามันจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และฝั่งอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมาจะมีคลื่นสูง 2 เมตร รวมทั้งส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมมากขึ้น กับมีฝนตกชุกหนาแน่นและตกหนัก อาจส่งผลให้เกิดภาวะอุทกภัยน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม ซึ่งมีจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังและเตรียมรับมือ ภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
จากคำเตือนดังกล่าว นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รอง ผวจ.เพชรบุรี กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์พายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพชรบุรี ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการในการเตรียมรับสถานการณ์ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานบูรณาการอย่างสอดคล้องตามแผนเผชิญเหตุ เตรียมความพร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์กู้ชีพ กู้ภัย และกำลังเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน กู้ภัยและบรรเทาสาธารณภัย ตลอด 24 ชั่วโมง หน่วยงานเจ้าท่า ประมง และตำรวจน้ำออกลาดตระเวนแจ้งเตือนการเดินเรือ ให้เดินเรือด้วยความระมัดระวัง มีอุปกรณ์ชูชีพให้เพียงพอ ตรวจสภาพความพร้อมก่อนออกเรือ
ทั้งนี้ หากเกิดสถานการณ์ให้รายงานไปยังศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภายใน 24 ชั่วโมง ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected] โทรสาร 0-3242-6230
พังงา มีรายงานว่า ประชาชนชาวเกาะปันหยี อ.เมืองพังงา เร่งขนข้าวของเครื่องใช้ลงเรือเพื่อนำเข้าในพื้นที่เกาะปันหยี ก่อนฝนตกหนัก คลื่นลมแรง ซึ่งพบว่าสีน้ำบริเวณชายฝั่งอ่าวพังงามีสีขุ่น เป็นสัญญาณว่าปริมาณน้ำจากลำคลองต่างๆ ไหลลงสู่อ่าวพังงาอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่มีประกาศจังหวัดพังงา จากผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ อันตรายจากน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ถ้ำ น้ำตก ล่องแก่ง และเส้นทางเดินป่า โดยประกาศแจ้งเตือนให้ปฏิบัติตามมัคคุเทศก์ท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ตามแหล่งท่องเที่ยวอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยและไม่ให้เกิดอันตรายจากกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว ห้ามเข้าไปในถ้ำขณะฝนตกหนัก โดยเฉพาะถ้ำที่มีน้ำไหลผ่าน ให้ระมัดระวังอันตรายหากมีฝนตกหนัก น้ำไหลหลากให้รีบออกมาทันที ให้ติดตามประกาศแจ้งเตือนลมมรสุม หรือสภาวะฝนตกหนักในพื้นที่ โดยงดกิจกรรมทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางในทะเล แม่น้ำ ลำคลอง หรือพื้นที่เสี่ยงน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน เช่น เกาะ แก่ง เส้นทางเดินป่า เมื่อเกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานานในพื้นที่เสี่ยงหลุมยุบ ให้ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณดังกล่าว
ปัตตานี เมื่อค่ำวันเสาร์ เกิดพายุฝนและลมกระโชกแรงในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.ยะรัง โดยเฉพาะหาดรูสะมีแล หมู่ 6 ต.รูสะมีแล อ.เมืองปัตตานี ซึ่งมีร้านอาหารกว่า 30 ร้าน กระแสลมแรงทำให้ต้นไม้ใหญ่หักโค่นทับหลังคาร้าน รวมทั้งเพิงที่นั่งรับประทานอาหารถูกแรงลมพายุพัดหอบปลิวออกไปทั้งแถบ บรรดาลูกค้าที่นั่งรับประทานอาหารหนีกันจ้าละหวั่น โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ร้านเสียหายกว่า 10 หลัง
นอกจากนั้น ที่กองร้อยอาสาสมัครจังหวัดปัตตานี ที่ 1 ตั้งอยู่ที่ ต.รูสะมีแล อ.เมือง ถูกลมพายุ เสียหายบางส่วน ขณะที่บ้านเรือนประชาชนในเขต อ.เมือง เสียหายราว 70 หลัง ส่วนใหญ่หลังคาปลิว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |