ถ้าใครเคยไปแถวคลองโยงจะได้พบเห็นศูนย์ฝึกอบรม ตลอดจนสถานพินิจและคุ้มครองเด็กเรียงรายกันอยู่ ที่น่าสังเกตก็คือจะมีแห่งเดียวที่แตกต่างออกไป สถานที่นั้นมีชื่อเต็มว่าสถานพินิจและคุ้มครองเด็กบ้านกาญจนาภิเษก เมื่อเดินเข้าไปจะสัมผัสได้ถึงความอบอุ่น ไม่มีกำแพงหรือประตูมากั้นอิสรภาพ ไม่มีเครื่องแบบเจ้าหน้าที่มากีดขวางความเชื่อมโยง ไม่มีการใช้อำนาจและความรุนแรง ไม่มีคำว่าผู้คุม แต่ทุกคนคือครูที่ดูแลและใส่ใจความเป็นไปของเด็ก ถึงแม้ว่าเด็กและเยาวชนที่เข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้จะเป็นเด็กที่ก่อคดีร้ายแรง แต่เมื่อได้เข้ามาอยู่ที่บ้านกาญจนาภิเษกเปรียบเสมือนต้นไม้ที่ย้ายกระถาง เปลี่ยนดิน เปลี่ยนคนดูแลรดน้ำใส่ปุ่ย รอวันที่จะงอกงามชูช่อ ออกดอกออกผลเหมือนต้นไม้ทั่วๆ ไป
เมื่อมีโอกาสได้สนทนากับป้ามล หรือคุณทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการสถานพินิจแห่งนี้ ซึ่งมีอาชีพเดิมเป็นครูและชีวิตพลิกผันมาทำงานด้านการพัฒนาเด็กที่สหทัยมูลนิธิ จนได้รับการเสนอชื่อให้เข้ามาดูแลเด็กๆ ในบ้านหลังนี้ ป้ามลต้องต่อสู้กับอุปสรรคมากมาย สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ก็คือ ความแกร่งและความเชื่ออย่างเต็มหัวใจว่าเด็กทุกคนมีดีอยู่ในตัว และสามารถตัดสินใจที่จะเป็นเป็นคนดีได้ด้วยตัวเอง บ้านหลังนี้จะให้อิสระในการแต่งตัว ไม่วัดคนด้วยเสื้อผ้าหน้าผม ป้ามลมีความเชื่อเรื่องศักยภาพภายในมากกว่าภาพลักษณ์ภายนอก เชื่อว่าเด็กสามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการกอด และวินัยเชิงบวกในบ้านหลังนี้
กิจกรรมในบ้านกาญจนาภิเษกส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมที่ให้เด็กค้นพบตัวตน รู้จักวิเคราะห์ แสดงออกถึงความรู้สึก ความต้องการผ่านบันทึกหรือการพูดคุย เช่น กิจกรรมวิเคราะห์ข่าว บทความ ประเด็นร้อนประจำวัน การเขียนจดหมายถึงตัวเอง บันทึกก่อนนอน บันทึกจากห้องสมุด กิจกรรมอ่านหนังสือและเล่าให้เพื่อนฟัง กิจกรรมหนึ่งความคิดเอาติดบอร์ด กิจกรรมดูหนังร่วมคิดร่วมคุย กิจกรรมขบคิด ตีความ กิจกรรมจิตอาสาและพิธีขอขมาเหยื่อ ผลงานของเด็กจะนำมาติดบอร์ดต่างๆ รอบบ้านหลังนี้ ซึ่งนี่อาจเป็นครั้งแรกที่เด็กเหล่านี้มีผลงานติดบอร์ด ได้สัมผัสความภูมิใจเล็กๆ น้อยๆ เพราะในระบบโรงเรียนคงเป็นการยากที่ผลงานของเด็กหลังห้องแบบพวกเขาจะได้รับการติดบอร์ด
สิ่งที่เด็กทุกคนต้องการก็คือการยอมรับ ทุกกิจกรรมในบ้านหลังนี้เด็กสามารถแสดงออกถึงตัวตนได้เต็มที่ สมุดบันทึกก่อนนอนเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจเด็กทั้งทางด้านมืดและด้านสว่าง กิจกรรมที่นี่จะใช้การเขียนเป็นส่วนใหญ่เพื่อให้เด็กได้ใช้ความคิดด้วยตัวเอง คิดเรื่องดีๆ ที่จะสอนตัวเองและคนอื่นได้ บ้านกาญจนาภิเษกคือบ้านที่ฟังเสียงของเยาวชน สิ่งที่เด็กๆ เขียนหลายครั้งมีการนำไปรวมเล่มและตีพิมพ์เป็นหนังสือ เสียงของเยาวชนที่นี่จึงไม่ใช่เสียงแห่งความเงียบอีกต่อไป ที่บ้านหลังนี้มีพื้นที่มหาศาลที่เปิดกว้างให้พวกเขาใส่ความคิดอะไรก็ได้ผ่านการสื่อสารในกิจกรรมต่างๆ นั่นเอง
ยิ่งได้สนทนากับป้ามลยิ่งเห็นภาพของ Virginia Satir คุณครูผู้เป็นต้นกำเนิดของ Satir Model ที่นักจิตวิทยานำมาใช้โดยมีความเชื่อในความเท่าเทียมกันของศักยภาพมนุษย์ และการนำความสามารถที่มีอยู่ในตัวตนมาช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยการมองเห็นและการสร้างคุณค่าให้ตนเองเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อยากให้มีคนมาถอดบทเรียนของป้ามลไปใช้ในการบำบัดเด็ก ไม่ว่าจะเป็นในโรงเรียนหรือสถานพินิจทั่วไป เพื่อทำความเข้าใจเด็กให้มากขึ้น ขอบคุณป้ามลผู้สร้างปาฏิหาริย์ให้เกิดในสถานพินิจที่ปราศจากรั้วและประตูแห่งนี้ เป็นอีกวันที่ได้พลังบวกมาเต็มหัวใจ.
จิตติมา กุลประเสริฐรัตน์
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |