(ชาวเมียนมายังใช้ม้าเทียมเกวียนในชีวิตประจำวันที่เมืองมัณฑะเลย์)
เมียนมาในวันนี้เปิดประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุนจากต่างประเทศ การท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยวมากมายก็ตรึงตาตรึงใจและเป็นที่รู้จักของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นมหาเจดีย์ชเวดากอง องค์เทพทันใจ พระตาหวาน ย่างกุ้ง พระธาตุอินทร์แขวน พุกาม รวมไปถึงการใช้ชีวิตของชาวเมียนมาที่ผูกพันกับพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง
(ทิวทัศน์แม่น้ำอิรวดีฝั่งอังวะและอมรปุระ เห็นสะพานเหล็กที่อังกฤษสร้าง)
และครั้งนี้เราได้รู้จักเมียนมามากขึ้น กับ 3 เมืองในเมียนมาที่หลายคนอาจยังไม่เคยไป โดยร่วมเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมงานการแสดงโขนในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบความสัมพันธ์ทางทูตไทย-เมียนมา 70 ปี และมีการเดินทางไปเมืองมัณฑะเลย์ เมืองอังวะ และเมืองสกายน์ เที่ยวชมสถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อหาความร่วมมือการบริหารจัดการด้านวัฒนธรรม นำทัพโดยนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รํฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ที่เมืองมัณฑะเลย์ เป็นอดีตราชธานีราชวงศ์สุดท้ายของเมียนมา ก่อนระบอบกษัตริย์ถูกโค่นและตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิรวดี เมืองนี้มีขนาดใหญ่เป็นรองแค่ย่างกุ้งที่ห่างออกไป 716 กิโลเมตร เราได้เข้าชมพระราชวังมัณฑะเลย์ สร้างโดยพระเจ้ามินดง ระหว่างปี 2400-2402 เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ 'พระราชวังทองคำ' ที่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง
(ยลสถาปัตยกรรมงดงามพระราชวังมัณฑะเลย์)
พระราชวังที่เห็น รัฐบาลเมียนมาได้จำลองรูปแบบพระราชวังไม้สักเก่า ที่ถูกเครื่องบินกองทัพอังกฤษทิ้งระเบิดถล่มจนไฟเผาราบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 2488 เหตุเพราะวังนี้เป็นแหล่งซ่องสุมกองกำลังของกองทัพญี่ปุ่น เหลือเพียงป้อมปราการและคูน้ำล้อมรอบกำแพงวัง พระมหาปราสาทสร้างทับพระแท่นสีหสานะบังลังก์ที่พระเจ้ามินดงเสด็จออกว่าราชการและทำพระราชพิธีประเทศ
พระเจ้ามินดงมีอัครมเหสีและพระมเหสีรอง 45 พระองค์ พระราชโอรส 53 พระองค์ พระราชธิดา 81 พระองค์ ทำให้วังหลวงแห่งนี้มีทั้งพระที่นั่ง ตำหนัก และอาคารกว่า 140 หลัง แต่ที่สร้างใหม่ยังไม่ครบ นักท่องเที่ยวนิยมขึ้นหอคอยเป็นจุดชมวิว มองเห็นอาคารเป็นแนวยาวสุดลูกหูลูกตา ภายในยังมีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงประวัติศาสตร์เมืองมัณฑะเลย์ เมื่อพระเจ้ามินดงเสด็จสวรรคต พระเจ้าธีบอ พระราชโอรสขึ้นครองราชย์ต่อ สุสานฝังพระศพพระบิดาก็อยู่ในวังด้วย
(เที่ยวชมวังหลวงที่เมืองมัณฑะเลย์)
ไปกันต่อที่พระตำหนักที่ประทับของพระเจ้ามินดง ณ วัดชเวนันดอว์ เป็นพระตำหนักแห่งเดียวที่รอดพ้นจากเพลิงสงคราม จึงเป็นพระราชวังมัณฑะเลย์แท้ๆ ที่หลงเหลืออยู่ถึงทุกวันนี้ เดิมอยู่ในวังหลวง แต่พระเจ้าธีบอโปรดให้รื้อย้ายออกไปสร้างใหม่ถวายพระบิดา พระตำหนักสร้างจากไม้สักทองทั้งหลัง แกะสลักลวดลายวิจิตรงดงาม ฝีมือช่างชั้นครูสกุลช่างอมรปุระ-มัณฑะเลย์ เดิมปิดทองอร่าม
ที่หมายต่อมาคือ "วัดกุโสดอร์" เป็นวัดที่พระเจ้ามินดงสร้าง พ.ศ.2400 เราเข้าชมจารึกพระไตรปิฎก 84,000 พระธรรมขันธ์บนหินอ่อน 729 แผ่น ซึ่งประดิษฐานในมณฑป สิ่งเหล่านี้สื่อช่วงเวลาสำคัญของการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 4 ในวัดมีพระเจดีย์มหาโลกมารชินสูงกว่า 30 เมตร จำลองจากพระมหาเจดีย์ชเวสิกองเมืองพุกาม ชาวเมียนมานำดอกบัวสวยงามมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้มีเวลาซึมซับความสวยงามของศิลปะ สถาปัตยกรรม และวิถีเมียนมาในแต่ละที่ไม่มากนัก แต่ก็ประทับใจ
(สะพานอูเบ็ง สะพานไม้สักยาวที่สุดในโลก อายุกว่า 200 ปี)
เช้าวันใหม่ เรายืนอยู่บนสะพานอูเบ็ง สะพานไม้สักยาวที่สุดในโลกอายุกว่า 200 ปี ซึ่งทอดข้ามทะเลสาบตองตะมาน ตั้งอยู่ที่อมรปุระ เป็นเมืองหลวงเก่าก่อนจะมีมัณฑะเลย์ เมียนมาย้ายเมืองหลวงบ่อยมาก โดยเนปยีดอเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ สะพานนี้สร้างจากไม้สักที่เหลือจากการรื้อวังเก่ากรุงอังวะเมื่อครั้งย้ายเมืองหลวงจากอังวะมาที่นี่ ความยาวเกือบ 2 กิโลเมตร ข้ามไปอีกฟากเป็นวัดเจดีย์เจ๊าตอว์กยี ถ้าไม่เดินจะนั่งเรือก็ได้อีกบรรยากาศ
(จิตรกรรมฝาผนังกลิ่นอายอยุธยาที่วัดเจดีย์เจ๊าตอว์กยี)
คณะเราตั้งใจไปให้ถึงวัดเจดีย์เจ๊าตอว์กยี บ้างก็เรียก ตองตะมานต็อกตอกยี ไปดื่มด่ำจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดเก่าแก่แห่งนี้ เชื่อว่าเป็นผลงานของลูกหลานเชลยชาวสยามที่ถูกกวาดต้อนมาเมืองอมรปุระสมัยเสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 เราได้เห็นภาพลายไทย ทั้งลายเทวดาเทพพนม หลายภาพมีกลิ่นอายศิลปะอยุธยา มุขแต่ละทิศมีภาพเขียนให้ชมกันเพลิน บางส่วนของภาพเป็นศิลปะพม่า เป็นอีกวัดน่าเที่ยวเหลือหลักฐานไว้ให้ชาวไทยเรียนรู้ ต่อด้วยตามรอยจิตรกรรมไทยสมัยอยุธยาที่อุโบสถมหาเต็งดอจีด้วย
(ตามรอยครุฑยุดนาคในวัดไม้สักโบราณบากายา)
ออกจากวัดนี้ตะลุยต่อสู่เมืองสกายน์ ที่นี่ขึ้นชื่อเป็นเมืองแห่งวัด มีวัดนับพันๆ แห่ง เป็นเมืองรอง เจริญมาควบคู่กับราชธานีอังวะ คนไทยน้อยคนจะมาเที่ยวเมืองสกายน์อย่างลึกซึ้ง ทิวทัศน์สองข้างทางที่รถผ่านเห็นวิถีชีวิตเกษตรกรบนที่ลุ่มอิรวดี สภาพบ้านเมืองยังเป็นเรือนไม้ดั้งเดิม ฝาผนังบ้านใช้ไม้ไผ่จักเป็นตอกสาน เกิดลวดลายสวยๆ แตกต่างกันไป ได้แวะชมวัดร้างสวยงาม ชื่อ Mae Nu Oak Kaung Temple จากนั้นไปวัดไม้สักโบราณบากายา เป็นปราสาทไม้สักแกะสลักประณีตทั้งหลัง มีเสาไม้สักสูงใหญ่รับน้ำหนักถึง 267 ต้น สร้างในสมัยอังวะหรืออยุธยาตอนปลาย ด้านในมีลวดลายครุฑยุดนาค คาดว่าช่างอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนมาพร้อมเจ้านายครั้งกรุงแตกครั้งที่ 2 รังสรรค์ไว้ ก่อนกลับมัณฑะเลย์ขึ้นเขาไปเจดีย์เสวยอูปงยะฉิ่น จากระเบียงวัดเห็นวิวทิวทัศน์แม่น้ำอิรวดีทั้งฝั่งอังวะและอมรปุระ ทอดสายตาไปมีสะพานเหล็กที่อังกฤษสร้างขึ้น บนเขาเบื้องล่างมีเจดีย์ละลานตา ทอดอารมณ์ได้ไม่นานก็ต้องเดินทางกลับที่พัก
(ปิดทองพระมหามัยมุนี หรือ ‘พระเนื้อนิ่ม’)
ถ้าเที่ยวมัณฑะเลย์ แต่ไม่ได้มาสักการะพระมหามัยมุนี วัดมหามัยมุนี หรือวัดปยกยี ก็เหมือนกับยังไม่ได้มามัณฑะเลย์ ก่อนกลับไทยไปกราบพระมหามัยมุนี พระคู่บ้านคู่เมือง ตี 4 ของทุกวันมีพิธีล้างหน้าพระพักตร์ด้วยน้ำอบน้ำหอมผสมทานาคา ต้องจองที่ตั้งแต่ตี 3 จากนั้นให้ปิดทองบนองค์พระ ใช้เฉพาะทองคำเปลว 100% แต่ไม่อนุญาติให้ผู้หญิงเข้าปิดทอง มีบริเวณให้ไหว้พระด้านหน้า พลังศรัทธาชาวเมียนมาปิดทองซ้ำๆ จนเอานิ้วกดลงไปรู้สึกได้ถึงความอ่อนนุ่มของทองคำเปลวจึงมีอีกชื่อ "พระเนื้อนิ่ม" และที่นี่มีพิพิธภัณฑ์รวบรวมสิ่งของโบราณล้ำค่า พิพิธภัณฑ์จัดแสดงประวัติความเป็นมาพระมหามัยมุนี เปิดให้นักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเรียนรู้สิ่งดีๆ ร่วมกัน ทริปฉลอง 70 ปี ไทย-เมียนมา ทุกวันใช้เวลาคุ้มค่ากับการรู้จักวัฒนธรรม ทั้งสองประเทศคล้ายคลึงกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |