'อังเกลา แมร์เคิล' บรรลุข้อตกลงควบคุมผู้อพยพ กู้วิกฤติรัฐบาลล่ม


เพิ่มเพื่อน    

นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งเยอรมนีที่ครองอำนาจมานาน 13 ปี สามารถกอบกู้รัฐบาลผสมอายุเพียง 100 วันของนางไม่ให้ล่มหรือต้องจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดได้เมื่อวันอังคาร เมื่อสามารถบรรลุข้อตกลงกับรัฐมนตรีมหาดไทยแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลกรณีจำกัดจำนวนผู้อพยพเข้าเมือง

อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี แถลง ณ ที่ทำการพรรคคริสเตียนเดโมแครต ในกรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2561 / AFP

    ข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ภายหลังการเจรจาต่อรองกันอย่างหนักเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคมนั้น ช่วยให้รัฐบาลผสมของนางรอดพ้นวิกฤติเฉพาะหน้ามาได้ แต่กระนั้นเอเอฟพีรายงานว่า ข้อตกลงนี้ก็เผชิญเสียงคัดค้านจากประเทศเพื่อนบ้านของเยอรมนี โดยเฉพาะออสเตรียที่ประกาศว่าพวกเขาจะ "ปกป้อง" ชายแดนของตน
 
    ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีมหาดไทย ฮอร์สต์ ซีโฮเฟอร์ ผู้นำพรรคคริสเตียนโซเชียลยูเนียน (ซีเอสยู)  พรรคอนุรักษนิยมจากรัฐบาวาเรียที่เป็นพรรคสาขาของคริสเตียนเดโมแครต (ซีดียู) พรรคของนางแมร์เคิลและร่วมรัฐบาลกันมานาน 70 ปี ขู่ว่าพรรคของเขาจะถอนตัวจากรัฐบาลผสมที่เพิ่งจัดตั้งได้เพียง 100  วัน และหากการเจรจาต่อรองกันเฮือกสุดท้ายในครั้งนี้ไม่สำเร็จ นางแมร์เคิลที่เป็นนายกฯ มาตั้งแต่ปี  2548 ก็อาจต้องยุติความเป็นพันธมิตรแล้วเลือกพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาล หรือไม่ก็ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่อีก

    ภายหลังการเจรจาตลอดคืน นางแมร์เคิลได้ปรากฏตัวด้วยสีหน้าผ่อนคลายและกล่าวว่า ผลของการเจรจาเป็นการประนีประนอมที่ดีมาก ซึ่งจะ "ควบคุม" การมาถึงของผู้อพยพและผู้ขอลี้ภัยรายใหม่  ขณะที่ยังรักษาความร่วมมือและค่านิยมของสหภาพยุโรป (อียู) เอาไว้

    แต่ทันทีทันใดนั้นก็มีเสียงวิจารณ์ทั้งจากรัฐบาลออสเตรีย และพรรคขนาดเล็กที่ร่วมรัฐบาลอย่างโซเชียลเดโมแครต ที่ขู่จะขัดขวางข้อตกลงนี้ซึ่งจะทำลายความหวังของการยุติภาวะชะงักงันทางการเมืองที่เกิดยาวนานหลายสัปดาห์

    ขณะที่รัฐบาลออสเตรียออกแถลงการณ์เตือนว่า หากข้อตกลงนี้ผ่านความเห็นชอบของรัฐบาลเยอรมนี ออสเตรียก็จำเป็นต้องใช้มาตรการเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนและประชาชนในชาติต้องเสียเปรียบ  และว่าออสเตรียยัง "พร้อมจะใช้มาตรการเพื่อปกป้องชายแดนทางใต้ของเราเป็นการเฉพาะด้วย" โดยคำแถลงหมายถึงชายแดนติดกับอิตาลีและสโลวีเนีย

    คำแถลงนี้เพิ่มความเป็นไปได้ที่จะก่อผลกระทบแบบโดมิโนในยุโรป ซึ่งหลายประเทศกำลังใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อปิดกั้นการเข้ามาของผู้ลี้ภัย

ฮอร์สต์ ซีโฮเฟอร์ รัฐมนตรีมหาดไทยและผู้นำพรรคคริสเตียนโซเชียลยูเนียน (กลาง) เดินออกจากที่ทำการพรรคซีดียูภายหลังเจรจากับนายกฯ แมร์เคิล เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2561 / AFP

    เอเอฟพีรายงานว่า ตามข้อตกลงที่แมร์เคิลและซีโฮเฟอร์เห็นพ้องกันได้นั้น เยอรมนีจะเพิ่มการควบคุมชายแดนให้เข้มงวดขึ้น และจัดตั้ง "ศูนย์ส่งผ่าน" แบบปิดที่จะเร่งกระบวนการพิจารณาส่งตัวผู้ขอลี้ภัยและการส่งตัวผู้ที่ถูกปฏิเสธคำร้องขอลี้ภัยกลับไปยังประเทศต้นทางได้เร็วขึ้น ซึ่งก็คือประเทศอื่นๆ ในอียู ที่เคยขึ้นทะเบียนคนเหล่านี้ หรือในกรณีที่ประเทศเหล่านี้ปฏิเสธรับกลับ ซึ่งอาจรวมถึงอิตาลี ก็จะถูกส่งกลับไปยังออสเตรีย โดยขึ้นอยู่กับข้อตกลงกับรัฐบาลออสเตรียที่ตอนนี้ก็ชักไม่แน่นอนแล้ว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"