คนละไม้คนละมือ ณ "ถ้ำหลวง" ไม่ว่าบทบาทไหนล้วน "สำคัญ"


เพิ่มเพื่อน    

        เหตุการณ์เยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 ชีวิต ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ ที่ทำให้เห็น "พลังคนไทย" ในการร่วมมือกันเพื่อกอบกู้วิกฤติ หรือปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

        ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้เห็น "พลังน้ำใจ" จากกัลยาณมิตรจากต่างแดน ในการหยิบยื่นความช่วยเหลือด้านกำลังคน อุปกรณ์ เพื่อนำ 13 ชีวิต ออกมาจากถ้ำสู่อ้อมอกครอบครัวอย่างปลอดภัยและรวดเร็วที่สุด

        ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ย่างเข้าวันที่ 11 ความประสงค์ในการช่วยเหลือจากทั้งคนไทยทุกภาคส่วนด้วยกัน หรือจากต่างประเทศ ยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง บางคนอาจไม่ใช่เจ้าหน้าที่ บางคนอาจไม่มีความชำนาญ แต่ก็พยายามจะทำทุกอย่างที่จะช่วยให้ "ปฏิบัติการช่วย 13 ชีวิต" บรรลุเป้าหมายให้จงได้

        กองทัพต้องเดินด้วยท้องฉันใด เจ้าหน้าที่และทุกองคาพยพก็ต้องเดินด้วยท้องฉันนั้น เพื่อปฏิบัติภารกิจในแต่ละวัน

        ที่ "ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน" บริเวณปากถ้ำแห่งนี้มี "โรงครัวพระราชทาน" ซึ่งมี "จิตอาสา" จำนวนมากเข้ามาทำหน้าที่ประกอบอาหาร แจกจ่ายอาหาร แม้กระทั่งการล้างภาชนะเอง

        ในโรงครัวพระราชทาน หรือเต็นท์ที่ภาคประชาชนนำมาตั้งเพื่อแจกจ่ายเจ้าหน้าที่ และภาคส่วนต่างๆ ปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขัน ที่นี่คำว่า "ทานข้าวยังคะ-เพิ่มข้าวมั้ยคะ-อิ่มมั้ยลูก" ดูจะเป็นประโยคที่ระงมทั้งวัน จากจิตอาสา และอาสาสมัครเหล่านี้

        นอกจากนี้ยังมีเต็นท์พยาบาลคอยแจกหยูกยา ไม่ว่าจะเป็นยาดม ยาหม่อง ยาปฐมพยาบาลเบื้องต้นจำนวนมากไว้แจกจ่าย

        ขณะที่บางช่วงเวลา เวลาเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ว่า ต้องการจิตอาสาไปปฏิบัติภารกิจอื่น อาทิ ยกอุปกรณ์ เคลียร์พื้นที่ บางคนก็จะรีบละงานที่ทำอยู่ เพื่อไปช่วยโดยไม่มีรีรอ เพื่อให้การปฏิบัติการนั้นราบรื่นและรวดเร็ว

        นอกจากอาหารการกินที่มีความสำคัญสำหรับคนหมู่มากที่มาอยู่รวมกันแล้ว เรื่องของสุขา ห้องน้ำ ห้องท่า ถือเป็นอีกจุดที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ด้วยปริมาณห้องน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด กับคนเป็นพันๆ ชีวิต กอปรกับสภาพพื้นที่ในปัจจุบันที่เป็นดินโคลน เนื่องจากฝนตกติดต่อกันหลายวัน ทำให้พื้นห้องน้ำเต็มไปด้วยโคลน และไปอุดตันจนท่วมขัง เรื่องของการรักษาความสะอาดจึงเป็นงานที่หนักหน่วงพอสมควร

        กระนั้นก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ทำหน้าที่ที่หลายคนมองข้ามไปอยู่ โดยมี "จิตอาสา" และ "อาสาสมัคร" จำนวนไม่น้อยหยิบไม้กวาด สายยาง และถังน้ำ เพื่อทำความสะอาด แทบจะทุก 15 นาที เพื่อให้ห้องน้ำสามารถใช้การได้ตลอดการปฏิบัติงาน

        "สุวัฒน์ เจิมปี" อาสาตำรวจท่องเที่ยว จ.เชียงราย กับทีมงานร่วมสิบๆ คนที่กำลังทำความสะอาดน้ำอยู่ เล่าว่า พวกเขามาที่ศูนย์นี้เพื่อทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ

        สุวัฒน์ระบุว่า เรื่องความสะอาดห้องน้ำถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะที่นี่มีคนอยู่จำนวนมาก แล้วสภาพพื้นที่ตอนนี้เป็นโคลน ทำให้พื้นเละ และโคลนไปอุดตันตรงท่อ ทำให้น้ำขังจำนวนมาก

       "ผมกับทีมงานจะคอยเข้ามาทำความสะอาดทุกๆ 15 นาที เพราะแป๊บเดียวโคลนก็กลับมาเยอะเหมือนเดิม ถ้าทิ้งไว้นานก็จะตันอีก ซึ่งจะทำแบบนี้ทั้งวัน"

        ขณะเดียวกัน เขาและทีมงานไม่ได้สนใจว่า ต้องได้รับคำชมหรือไม่ เพราะพวกเขาต้องการให้ภารกิจที่เข้ามารับผิดชอบให้ดีที่สุด และเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเท่านั้น นั่นคือเจตจำนง

        อาสาตำรวจท่องเที่ยว จ.เชียงราย บอกว่า มีหลายหน่วยงานที่เข้ามาช่วยกันในครั้งนี้ ทำในสิ่งที่แต่ละคนพอจะทำได้ อย่างในส่วนของหน่วยงานท่องเที่ยวก็มาเยอะ ทั้งตำรวจท่องเที่ยว อาสาตำรวจท่องเที่ยว ศูนย์แก้ไขปัญหาการหลอกลวงและช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ฯลฯ

       "พวกผมจะอยู่ที่นี่จนกว่าจะเจอน้องๆ จนกว่างานครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ" เขาพูดโดยไม่แสดงอาการเหน็ดเหนื่อย และดูภูมิใจที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการนี้ แม้จะเป็นองคาพยพเล็กๆ ก็ตาม

        นี่เป็นเพียงองคาพยพหนึ่งในพื้นที่ ที่พวกเขาต้องการใช้ "แรงกาย" และ "สรรพกำลัง" ที่ตัวเองมีเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วย 13 ชีวิต

        แม้งานที่ทำจะไม่ได้ปรากฏอยู่เบื้องหน้า แต่สิ่งที่พวกเขาได้ทำ ก็เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดในการทำให้งานดำเนินไปอย่างรวดเร็วที่ทุกคนคาดหวัง

        ตอนนี้ทุกองคาพยพที่ช่วยกัน ถือว่า "ยิ่งใหญ่" และน่าภูมิใจอย่างยิ่ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"