"พาณิชย์" เผยเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.ขยับขึ้น 1.38% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 เหตุน้ำมันแพงเป็นตัวกดดันหลัก ส่วนอาหารสดปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ปรับประมาณการทั้งปีใหม่เป็น 0.8-1.6% สบน.แจงหนี้ประเทศเดือน พ.ค.ขยับเพิ่มหมื่นล้านบาท แตะ 6.49 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40.78% ของจีดีพี
เมื่อวันจันทร์ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน มิ.ย.61 เท่ากับ 102.05 ลดลง 0.09% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.61 และเพิ่มขึ้น 1.38% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.60 เป็นการขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกันนับจากเดือน ก.ค.60 ที่เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.17% ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.-มิ.ย.) เพิ่มขึ้น 0.97%
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้น 1.38% เป็นผลจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่ม 2.20% สินค้าสำคัญที่ราคาแพงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่ม 12.90% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เพิ่ม 5.86% ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าหอพักเพิ่ม 1.12% ค่ารักษาและบริการส่วนบุคคลเพิ่ม 0.65% ส่วนดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ลดลง 0.03% สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น ผักสดลด 8.15% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำลด 1.03% ขณะที่สินค้าราคาแพงขึ้น เช่น อาหารบริโภคนอกบ้านเพิ่ม 1.32% อาหารบริโภคในบ้านเพิ่ม 1.32% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่ม 1.60%
"เงินเฟ้อเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้น 1.38% มีสาเหตุสำคัญมาจากการปรับขึ้นของราคาหมวดพลังงาน โดยเพิ่มขึ้น 9.57% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 และเฉพาะน้ำมันเพิ่มขึ้น 12.90% ส่วนอาหารสดลดลง 1.75% หดตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน แต่หากหักอาหารสดและพลังงานออกไป เงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.83% แสดงว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมาจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เกิดจากน้ำมันแพงเพียงอย่างเดียว ซึ่งถือเป็นเงินเฟ้อที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ขยายตัว" น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อแยกรายการสินค้าและบริการ 422 รายการที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ พบว่ามีสินค้าราคาสูงขึ้น 217 ราย เช่น ข้าวสารเจ้าเพิ่ม 5.20% นมสดเพิ่ม 0.73% ครีมเทียมเพิ่ม 1.84% กะทิสำเร็จรูปเพิ่ม 1.68% กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่มเพิ่ม 10.67% กับข้าวสำเร็จรูปเพิ่ม 1.57% ก๋วยเตี๋ยวเพิ่ม 1.72% ข้าวราดแกงเพิ่ม 1.22% ค่าเช่าบ้านเพิ่ม 0.74% ค่ากระแสไฟฟ้าเพิ่ม 2.68% ก๊าซหุงต้มเพิ่ม 11.01% ยาสีฟันเพิ่ม 1.23% ค่าโดยสารเรือเพิ่ม 3.39% บุหรี่เพิ่ม 12.02% เบียร์เพิ่ม 1.16% และสุราเพิ่ม 0.37% สินค้าราคาลดลง 125 รายการ และสินค้าราคาไม่เปลี่ยนแปลง 80 รายการ
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สนค.ได้ปรับประมาณการเงินเฟ้อทั้งปี 2561 ใหม่ จากเดิม 0.7-1.7% เป็น 0.8-1.6% ภายใต้สมมุติฐานคือ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจประเทศเติบโต 4.2-4.7% ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ 60-70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากเดิมคาดว่าอยู่ระดับ 55-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ โดยปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าลงมาอยู่ระดับ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ราคาสินค้าเกษตรติดลบ 5-7% การบริโภคภาคเอกชนเพิ่ม 3.7% และการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวสูงกว่า 8% โดยประเมินว่าเงินเฟ้อไตรมาส 3 น่าจะขยายตัวเพิ่ม 1.35% และไตรมาส 4 เพิ่ม 1.5% ทำให้ทั้งปีเงินเฟ้อน่าจะอยู่ในระดับ 1% โดยค่ากลางอยู่ที่ 1.2%
สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคเงินเฟ้อ (เงินเฟ้อพื้นฐาน) หักสินค้าอาหารสดและพลังงานเดือน มิ.ย.61 เท่ากับ 102.6 เพิ่มขึ้น 0.11% เทียบกับ พ.ค.61 และเพิ่มขึ้น 0.83% เทียบกับ มิ.ย.60 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐาน 6 เดือนของปี 2561 เพิ่มขึ้น 0.69%
ด้านนายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ตัวเลขหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 พ.ค.61 อยู่ที่ 6.49 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40.78% ของจีดีพี โดยเพิ่มขึ้นสุทธิจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 1.09 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหนี้รัฐบาลอยู่ที่ 5.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 1.91 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเงินกู้ภายใต้แผนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 และการบริหารหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 2.28 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพื่อนำไปลงทุนในการพัฒนาประเทศ สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้เศรษฐกิจ จำนวน 2.68 หมื่นล้านบาท และไถ่ถอนพันธบัตรออมทรัพย์ 4 พันล้านบาท
ขณะที่เงินกู้เพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศเพิ่มขึ้นสุทธิ 3.25 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นการกู้ให้กู้ต่อแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ม.) เบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 1.42 พันล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจำนวน 507.86 ล้านบาท สายสีน้ำเงินจำนวน 470.96 ล้านบาท และสายสีส้มจำนวน 444.99 ล้านบาท และการกู้ให้กู้ต่อแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 1.8 พันล้านบาท รวมถึงการกู้ให้กู้ต่อแก่การเคหะแห่งชาติ เบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 25.14 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการอาคารพักอาศัยแปลง G ตามแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง เป็นต้น
ส่วนหนี้ของรัฐวิสาหกิจอยู่ที่ 9.07 แสนล้านบาท ลดลงสุทธิ 6.67 พันล้านบาท เนื่องจากหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มขึ้นสุทธิ 482.43 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่เพิ่มขึ้นขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ส่วนหนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันลดลงสุทธิ 7.16 พันล้านบาท เนื่องจากหนี้ที่ลดลงของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
ขณะที่หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 3.78 แสนล้านบาท ลดลงสุทธิ 1.03 พันล้านบาท เกิดจากหนี้ที่ลดลงของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่วนหนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 8.75 พันล้านบาท ลดลงสุทธิ 508.95 ล้านบาท เกิดจากหนี้ที่ลดลงของสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย
อย่างไรก็ดี หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน พ.ค.61 จำนวน 6.49 ล้านล้านบาทนั้น แบ่งเป็นหนี้ในประเทศ 6.22 ล้านล้านบาท หรือ 95.83% และหนี้ต่างประเทศจำนวน 2.7 แสนล้านบาท หรือ 4.17% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และหนี้สาธารณะคงค้างแบ่งตามอายุคงเหลือ เป็นหนี้ระยะยาว 5.88 ล้านล้านบาท หรือ 90.57% และหนี้ระยะสั้น 6.13 แสนล้านบาท หรือ 9.43% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |