สอศ. เตรียม ถอดบทเรียน กรณีเด็กติดถ้ำ ฝึกเด็กอาชีวะเรียนรู้เทคนิคและประสบการณ์ผู้เชี่ยวชาญระดับโลก หวังให้นักเรียนอาชีวะไปต่อยอด ผลิตนวัตกรรมรับมือภาวะวิกฤต
2ก.ค.61-นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาฯ กอศ.) กล่าวถึงกรณีเยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าอคาเดมี่ พร้อมผู้ช่วยผู้ฝึกสอน จำนวน 13 คน ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดศูนย์ Fix it Center ตั้งไว้ที่ ตำบลโป่งผาง เพื่อเป็นศูนย์ไว้คอยสนับสนุนการทำงานของหน่วยปฏิบัติงานช่วยเหลือกลุ่มเยาวชน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น สอศ.จะนำบทเรียนกรณีนี้มาวางแผนวิเคราะห์ว่า เมื่อเกิดสถานการณ์ในลักษณะนี้ควรมีการเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง เพราะเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ใช่แค่เด็กและเยาวชนเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้นักศึกษาอาชีวะของเรามีความรู้ความสามารถและการเรียนอาชีวศึกษาถือเป็นการเรียนทักษะวิชาช่าง ดังนั้นเราจะฝึกเด็กของเราให้มีความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมต่างๆ เช่น การใช้โดรน เป็นต้น
เลขาฯกอศ.กล่าวอีกว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่มีความสำคัญระดับประเทศ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดในลักษณะนี้เราจะมีวิธีการช่วยเหลืออย่างไร หรือมีเครื่องมืออุปกรณ์ใดที่จะทันสมัยสามารถเข้าตรวจสอบช่วยเหลือมนุษย์ได้ โดยอาชีวศึกษาจะเป็นส่วนหนึ่งและมุ่งเน้นให้สถานศึกษาคิดค้นเรื่องการสร้างนวัตกรรมให้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การดำน้ำ อุปกรณ์การค้นหาสัญญาณชีพของมนุษย์ รวมถึงหุ่นยนต์กู้ชีพในรูปแบบต่างๆ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้เราจะมาคิดและวิเคราะห์ว่าอาชีวศึกษาจะผลิตนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือเหตุการณฉุกเฉินต่างๆได้อย่างไร เพื่อสนับสนุนหน่วยงานที่ปฎิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือหลักได้อีกหนทางหนึ่ง
"แม้เราจะมีการผลิตนวัตกรรมผลงานของเด็กอาชีวะต่างๆแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังขาดประสบการณ์ ในเรื่องนี้ เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เชี่ยวด้านการกู้ภัยระดับโลกมาช่วยเหลือเด็ก ดังนั้น เราจะหยิบยกการเรียนรู้ของผู้เชี่ยวชาญระดับโลกว่ามีวิธีการอย่างไร ใช้เทคนิคแบบไหนมาเติมความรู้ให้แก่นักศึกษาอาชีวะ ซึ่งถือว่าเราจะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เพื่อให้เป็นพื้นฐานให้แก่ตัวเองในการผลิตผลงานในอนาคตต่อไป”เลขาฯ กอศ.กล่าว