ขณะนี้ไม่มีถ้ำไหนในโลกนี้จะโด่งดังเท่า ถ้ำหลวง ในเขตวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนอีกแล้ว "กาลครั้งหนึ่ง" สัปดาห์นี้ จะพากระโดดไปยุคคาร์บอนิเฟอรัสต่อยุคเพอร์เมียน กี่ปีน่ะหรือ? เอาไว้ตอนท้ายมาเฉลยกัน จะได้รู้ว่า "นางนอน" มาเท่าไหร่แล้ว
ก่อนอื่นไปดูตำนานถ้ำหลวง บางคนเรียก ถ้ำหลวง นางนอน บางคนเรียก ถ้ำหลวง ขุนน้ำ นางนอน ส่วนบางคนเรียกถ้ำหลวง ก็เอาเป็นว่าถ้ำหลวงอยู่ในเขานางนอน ส่วนขุนน้ำคงเพราะถ้ำหลวงคือทางน้ำใหญ่ใต้เขานางนอน
ถ้ำหลวง-ขุนน้ำ-นางนอน มีอยู่หลายตำนาน ประกอบด้วย ตำนานที่ 1 เจ้าหญิงแห่งเมืองเชียงรุ้ง สิบสองปันนา หนีตามชายเลี้ยงม้าในวังไปจนถึงที่ราบใกล้แม่น้ำโขง ขณะนั้นเจ้าหญิงก็ทรงพระครรภ์ได้หลายเดือนแล้วเดินทางต่อไม่ไหว จึงขอรออยู่ที่นี่ ส่วนสามีก็อาสาออกไปหาอาหารมาให้ แต่หายไปไม่กลับมาอีกเลย ทราบข่าวอีกทีว่าสามีถูกฆ่าโดยทหารของพระราชบิดา นางเสียใจมากเลยเอาปิ่นปักผม แทงพระเศียรตนเอง จนเลือดไหลออกมาเป็นสาย กลายเป็นแม่น้ำสาย ร่างที่นอนเหยียดยาวจากทิศใต้จรดทิศเหนือก็กลายเป็น ดอยนางนอน และตรงท้องที่นูนขึ้นมาก็เป็นดอยตุง อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้
ตำนานที่ 2 พญานาคตัวหนึ่งออกตามหาลูกสาวที่ถูกพญาครุฑลักพาตัวไป จบพบลูกสาวนอนอยู่ตรงบริเวณที่เป็นต้นน้ำ ปัจจุบันเรียกว่า "ขุนน้ำนางนอน" พญานาคขอลูกสาวคืน แต่พญาครุฑขอแลกกับทองคำ ทุกวันนี้แหล่งน้ำที่พญานาคนำทองคำขึ้นจากบาดาลนั้นเรียกว่า "หนองตานาค" บริเวณที่พญานาคส่งทองคำให้พญาครุฑเรียกว่า "หนองละกา" ส่วนทองคำถูกนำไปเก็บไว้ที่ "ถ้ำทรายทอง" และพญานาคยังได้สร้างเจดีย์เป็นอนุสรณ์ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "พระธาตุจอมนาค" จนถึงปัจจุบัน
ตำนานที่ 3 เจ้าหญิงเมืองพุกามกรีธาทัพออกตามหาเจ้าชายที่นางรัก นางออกรบและขยายอาณาเขตมาเรื่อยๆ จนมาถึง "เวียงสี่ทวง" จึงพบกับเจ้าชาย แต่ปรากฏว่าเจ้าชายหนีหายไปกับสาวสวยชาวเวียงนี้อีกครั้ง นางรู้สึกเศร้าสลดจนตรอมใจตาย ก่อนตายได้ตั้งจิตอธิษฐานให้ร่างนางกลายเป็นเทือกเขา ที่ชาวบ้านพากันเรียกว่า "ดอยนางนอน" น้ำตาที่ไหลรินกลายมาเป็นชนเผ่าหลายชาติพันธุ์บนภูเขาแห่งนี้
ตำนานที่ 4 มุมที่เป็นเขานางนอนได้ชัดเจนที่สุดคือ ทางไปอำเภอแม่จัน มีขุนเขาทอดตัวคล้ายผู้หญิงนอนเหยียดยาว เรียกว่า ดอยนางนอน เดิมชื่อ ดอยตายสะหรือดอยสามเส้า ซึ่งเกี่ยวกับตำนานลาวจกเทวบุตรอย่างแนบแน่น ดอยส่วนที่ศีรษะเรียกว่า ดอยจ้อง หรือดอยจิกจ้อง (เดิมเรียกดอยนี้ว่า ดอยท่าหรือดอยต้า) เป็นดอยของลูกชายปู่เจ้าลาวจกที่รอคอยพ่อ ดอยลูกถัดมาเรียก ดอยย่าเฒ่า ซึ่งเป็นภรรยาของปู่เจ้าลาวจก ส่วนดอยอีกลูกหนึ่งคือดอยดินแดง หรือดอยปู่เจ้าลาวจก หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนามของ ดอยตุง
ซึ่งเชื่อกันว่าดอยทั้ง 3 นี้เป็นที่อยู่อาศัยเดิมของลาวจักราช ผู้เป็นต้นวงศ์ของพญามังราย ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายมาสร้างเมืองหิรัญนครเงินยาง เหนือดอยดินแดงเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุดอยตุง อันถือเป็นปฐมธาตุแห่งแรกของภาคเหนือ
อย่างไรก็ตามเขานางนอนไม่ได้มีที่นี่เพียงแห่งเดียว ยังมีเขานางนอนที่นครศรีธรรมราช, เพชรบุรี, ลพบุรี เป็นต้นนอกจากนี้ นวนิยายอมตะ เพชรพระอุมา ของพนมเทียน ชื่อของเขานางนอนไปปรากฏอยู่ในเส้นทางการเดินทางเพชรพระอุมาภาคแรก ช่วงที่ 1การเดินทางในเพชรพระอุมาเริ่มต้นจาก รพินทร์ ไพรวัลย์ ได้พบกับคณะนายจ้างจากพระนคร ที่สถานีกักสัตว์ของบริษัทไทยไวล์ดไลฟ์ (Thai Wild Life) โดยนายประเสริฐ ซึ่งเป็นผู้จัดการบริษัทและนายอำพล พลการ ผู้อำนวยการบริษัทไทยไวล์ดไลฟ์ ได้แนะนำคณะนายจ้างให้รพินทร์ได้รู้จัก และบอกกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการมาพบ รพินทร์ตกลงรับจ้างเป็นพรานนำทางพร้อมกับเล่าเรื่องราวของขุมทรัพย์เพชรพระอุมา รวมทั้งข่าวคราวล่าสุดของพรานชดที่ได้พบเจอแก่คณะนายจ้าง
เมื่อตกลงทำสัญญาระหว่างรพินทร์และคณะนายจ้าง ที่มีพันโทหม่อมราชวงศ์เชษฐา วราฤทธิ์ เป็นหัวหน้าคณะในการเดินทาง ทางคณะนายจ้างได้จัดเตรียมสัมภาระในการเดินทางมายังหมู่บ้านหนองน้ำแห้งภายหลังจากวันที่ตกลงทำสัญญา เป็นระยะเวลาประมาณ 20 วัน ก่อนออกเดินทางในกลางเดือนมีนาคม จากจุดแรกของเส้นทางการเดินทาง รพินทร์นำคณะนายจ้างเดินทางมุ่งหน้าสู่เขาโล้น เป็นระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร ก่อนที่จะบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมุ่งสู่โป่งกระทิง หุบชะมด ห้วยยายทอง ทุ่งช้าง ป่าหวาย และหล่มช้างตามลำดับ
แต่ในขณะของการเดินทางตั้งแต่หุบชะมดไปสู่ป่าหวายนั้น คณะเดินทางได้แยกเป็นสองขบวนคือขบวนเกวียนที่นำโดยบุญคำ จัน และเส่ย และขบวนล่าพญาช้าง ไอ้แหว่ง ซึ่งแยกตัวออกมาจากขบวนเกวียนประกอบด้วยนายจ้างทั้งสาม รพินทร์ แงชาย และเกิด ในช่วงจากหุบชะมดนี้ คณะล่าไอ้แหว่งได้เดินทางผ่านห้วยยายทอง ห้วยแม่เลิง สันเขาหุบหมาหอน เขานางนอน และลงไปสมทบกับขบวนเกวียนที่ป่าหวาย
สำหรับเขานางนอนที่เชียงราย มีเรื่องเล่าถึงอาถรรพ์มากมาย ดังปรากฏผ่านสื่อช่วงนี้เป็นระยะๆ ความเชื่อของแต่ละบุคคล แต่ที่น่าสนใจกว่าตำนาน คือประวัติศาสตร์ทางภูมิศาสตร์
ถ้ำหลวงนางนอน มีอายุระหว่าง 345-230 ล้านปีมาแล้ว หินที่พบเป็นหินปูนและหินอ่อนสีเทาถึงเทาดำ มีซากบรรพชีวิน พวกไคร-ไบรสโทรมัม ทูเบอริทินา และเอคไคนอยเดีย เพลท สลับด้วยหินดินดานสีเทา
ช่วงเวลาที่เกิดหินเหล่านี้เป็นช่วงสุดท้ายในมหายุคพาลีโอโซอิก ซึ่งในขณะนั้นแอ่งสะสมตะกอนในภาคเหนือตื้นขึ้นมาก จึงมีการสะสมตัวของตะกอนคาร์บอเนตสลับตะกอนดินเหนียว เมื่อแข็งตัวกลายเป็นหิน เกิดเป็นหินปูนสลับกับหินดินดาน
ช่วงเวลาดังกล่าวมีหินหนืด หรือแม็กม่าใต้ผิวโลกแทรกตัวขึ้นมา ส่งผลให้หินปูนบางส่วนถูกแปรเปลี่ยนเป็นหินอ่อนหินในช่วงปลายยุคคาร์บอนิเฟอรัส ต่อยุคเพอร์เมียน นี้มีชื่อเรียกว่า หมวดหินราชบุรีถ้ำหลวง ตั้งอยู่ในวนอุทยานในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอน ตั้งอยู่ในตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีเนื้อที่ 5,000 ไร่ จัดตั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2529 โดยกรมป่าไม้ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาขนาดใหญ่หลายลูกติดต่อกัน มีความสูงโดยเฉลี่ย 779 เมตร และลาดชันมาทางทิศตะวันออก
วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนมีอาณาเขตติดต่อกับดอยจ้องและห้วยน้ำจองทางทิศเหนือ ติดต่อกับดอยเฒ่าและห้วยน้ำค้างทางทิศใต้ ติดต่อกับภูเขาลูกใหญ่ซึ่งทอดมาจากประเทศเมียนมาทางทิศตะวันตก และทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบพื้นที่เกษตรกรรมและตั้งถิ่นฐาน วนอุทยานแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวจังหวัดเชียงราย และตัวอำเภอแม่สาย 60 กิโลเมตร และ 8 กิโลเมตรตามลำดับ
ถ้ำหลวงถือเป็นถ้ำที่มีความยาวมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย ปากถ้ำเป็นโถงกว้างและสูงกว่าโถงถ้ำแรก ภายในถ้ำสามารถพบเกล็ดหินสะท้อนแสง หินงอก หินย้อย ธารน้ำ ถ้ำลอด และถ้ำแขนง แนวโถงถ้ำมีเส้นทางคดเคี้ยว บางช่วงเข้าถึงง่าย บางช่วงมีเพดานต่ำ
ส่วนขุนน้ำนางนอน ตั้งอยู่ที่บ้านจ้อง ตำบลโป่งผา อยู่ห่างจากถ้ำหลวงประมาณ 2.5 กิโลเมตร มีลำธารที่ไหลออกมาจากรอยแยกของหินใต้ภูเขาหินปูน ซึ่งได้ทำฝายขนาดเล็กกั้นไว้จนกลายเป็นแอ่งน้ำขนาดพื้นที่ 3 ไร่ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แหล่งศึกษาธรรมชาติและดูนก
ขณะเขียนต้นฉบับทีมหมูป่ายังคงติดอยู่ด้านใน แต่ทุกหน่วยงานที่เข้ากู้ภัยครั้งนี้ทำงานกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มีข้อกังวลเรื่องที่ว่า ทีมหมูป่าติดถ้ำมา 1 สัปดาห์แล้ว ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เชื้อโรคในถ้ำก่อปัญหาหรือเปล่า
จากการตรวจสอบพื้นที่และบุคคลที่เคยเข้าไปในถ้ำต่างยืนยันตรงกันว่า น่าจะยังมีชีวิตอยู่ และยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้อีกหลายวัน เนื่องจากมีน้ำและอากาศเพียงพอ
ที่สำคัญ จากรายงานฉบับสุดท้าย การศึกษาเพื่อจัดทำแผนการจัดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติบริเวณถ้ำหลวงนางนอน จังหวัดเชียงราย โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2538 พบว่า จุลินทรีย์ภายในพบในปริมาณน้อย ไม่มีปัญหาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ มีสาหร่ายไม่มีโทษกลับผลิตออกซิเจนให้สิ่งแวดล้อม อากาศจึงดีพอสมควร
แม้จะมีตำนาน อาถรรพ์ที่น่ากลัว แต่ในทางวิทยาศาสตร์ ชีวิตสามารถดำเนินอยู่ได้ในถ้ำหลวงยาวนานกว่าที่คิดเอาไว้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |