เลือกกรรมการสิทธิฯ ชุดที่ 4 ไทยต้องก้าวข้ามกับดักให้ได้  


เพิ่มเพื่อน    

      คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จำนวน 7 คน ตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะปรากฏโฉมให้เห็นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้ หลังปิดรับสมัครเมื่อ 25 มิถุนายน มีผู้มาสมัครทั้งสิ้น 38 คน

      สำหรับรายชื่อผู้สมัคร 38 คนได้เผยโฉมให้เห็นกันแล้ว ที่เด่นๆ ดังๆ มีอาทิ นายบุญ

เลิศ คชายุทธเดช สื่อมวลชนอิสระที่มีดีกรีเป็นอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสื่อ,  นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช., น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เพิ่งมีข่าวติด 1 ใน 3 ของการสรรหาเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน, น.ส.ปิติกาญจน์  สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, นายไพโรจน์ พลเพชร อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ฯลฯ

​​      กสม.ที่กำลังสรรหากันอยู่นี้ สุดท้ายแล้วจะได้คนคนเก่ง คนดี มีความกล้าหาญ พอจะเป็นความหวังในการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เป็นที่เชิดหน้าชูตาประเทศได้บ้างไหม หรือได้คนที่ชาวบ้านร้องยี้

     นับแต่ประกาศใช้ รธน.2540 ที่ให้กำเนิดองค์กรอิสระที่ชื่อ กสม.มาถึงปัจจุบัน มี กสม.มาแล้ว 3 ชุด  ชุดแรกประกอบด้วย นายเสน่ห์ จามริก เป็นประธาน ชุดสอง นางอมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธาน และชุดสาม มีนายวัส ติงสมิตร เป็นประธาน

   ​​  ตามขั้นตอนในการสรรหา กสม.ชุดที่ 4 ผู้สมัครจะต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ต่อหน้ากรรมการสรรหา 10  คนในเดือนสิงหาคมนี้

​​     จากนั้นกรรมการสรรหาจะลงคะแนนคัดให้เหลือ 7 คนเพื่อเป็น กสม. โดยมีความรู้ ประสบการณ์  และความเชี่ยวชาญอยู่ใน 5 ด้านอย่างน้อยด้านละ 1 ส่วนอีก 2 คนไปเติมเต็มในด้านใดอื่นตามแต่กรรมการจะเห็นเหมาะสมเพื่อให้ครบ 7 คน โดยในการโหวตต้องให้ได้คะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ  7 ใน 10 เสียง

     ทั้งนี้ ใน 5 ด้านได้แก่ 1.ทำงานด้านสิทธิมนุษยนชนต่อเนื่อง 2.เชี่ยวชาญการสอน หรือทำวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในระดับอุดมศึกษา 3.เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน 4.มีประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และ 5.มีความรู้และประสบการณ์ด้านปรัชญา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีไทย

​​      หลังได้ 7 คนซึ่งผ่านชั้นคณะกรรมการสรรหาแล้ว จะส่งรายชื่อพร้อมประวัติไปให้ สนช.เพื่อพิจารณาลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่ โดยใช้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งเป็นเกณฑ์

​​      เป็นที่น่าสังเกตว่า กสม.ที่กรรมการสรรหาและ สนช.กำลังจะช่วยกันทำคลอดออกมาเป็นชุดที่ 4  นั้น รธน.2560 กำหนดให้มีอำนาจลดลงจากเดิมหลายเรื่อง เช่น อำนาจในการเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่บทบัญญัติกฎหมายกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

      อำนาจในการเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองในกรณีที่กฎ คำสั่ง หรือการกระทำทางปกครองกระทบต่อสิทธิมนุษยชน หรือมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

      อำนาจในการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหายเมื่อได้รับการร้องขอจากผู้เสียหาย เพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนรวม

      รธน.2560 ได้กำหนดหน้าที่ กสม.เพิ่มเติมเข้ามา คือชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม

      การบัญญัติไว้เช่นนี้ต้องยอมรับว่าบางเรื่องอาจแยกแยะได้ลำบากว่า อะไรคือสิ่งที่ต่างประเทศรายงานไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม 

      ในระยะ 10 ปีมานี้ได้เกิดวิกฤติการเมืองและความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง มีคนไทยร้องเรียนไปยังองค์การสหประชาชาติ ไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่สอบตกด้านสิทธิมนุษยชน เป็นที่อับอายขายหน้าชาวโลก

      กสม.ต้องเล่นบทเป็นหนังหน้าไฟให้รัฐบาล แทนที่ กสม.จะต้องทำหน้าที่คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่ปัญหาเกิดจากรัฐบาล แต่ กสม.กลับต้องมาคอยชี้แจงขายผ้าเอาหน้ารอดให้รัฐบาล

      กฎหมาย ประกาศ คำสั่ง คสช.ที่ออกมาบังคับใช้ตลอด 4-5 ปี ซึ่งละเมิดสิทธิฯ หากยังไม่ยกเลิก แล้วถูกสื่อต่างชาติหรือแม้แต่องค์กรระหว่างประเทศตำหนิประณามประเทศไทย จะให้ กสม.ชี้แจงอย่างไร

      การเลือก กสม.ครั้งนี้หากจะวิพากษ์ว่ามีใบสั่งจากผู้มีอำนาจส่งมาหรือไม่ ว่าให้เลือกคนนี้ ไม่เอาคนโน้น อาจยังเร็วเกินไปที่จะหาคำตอบในตอนนี้

      แต่ที่สำคัญคือ ประเทศไทยที่กำลังเดินไปสู่การเลือกตั้ง จะต้องก้าวข้ามกับดักแห่งการจำกัดสิทธิเสรีภาพต่างๆ ให้ได้ !


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"