แก้'ขยะอิเล็กทรอนิกส์' หยุดขนมลพิษเข้าบ้าน


เพิ่มเพื่อน    

ไทยต้องสร้างมาตรฐานการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศ


ขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่ทะลักเข้ามากำจัดในประเทศไทย เป็นวาระเร่งด่วนและต้องการการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เพราะขยะพิษที่จัดการอย่างไม่ถูกต้อง สร้างมลพิษมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อมสุขภาพอนามัยของประชาชน และสารอันตรายยังตกค้างอยู่ในสภาพแวดล้อมเป็นร้อยๆ ปี


ซากขยะเหล่านี้ถ้าเผาสายไฟเอาทองแดงไปขาย ทำให้เกิดไอระเหยของพลาสติกและโลหะต้นเหตุของโรคมะเร็ง ถ้าเผาแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อหลอมตะกั่วและทองแดง ไอตะกั่วจะแพร่กระจายสู่อากาศ จนถึงสะสมในดินและน้ำ หากใช้กรดสกัดโลหะมีค่าจากแผงวงจรแบบไร้การบำบัด ทำให้น้ำเสียปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำ ชาวบ้านทั้งเด็กและคนสูงอายุไม่รู้กี่ชีวิตจะถูกสารพิษเหล่านี้ ผลพวงมาตรการตรวจสอบดูแลที่ไร้ประสิทธิภาพ 


แม้เวลานี้รัฐบาลจะล้อมคอกปัญหาขยะพิษสั่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 เกี่ยวกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ คุมเข้มการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าไทย ก่อนไทยจะเป็นบ่อขยะพิษโลก แต่จากข้อมูลพบว่า ขยะพิษและขยะอิเล็กทรอนิกส์ส่งจาก 35 ประเทศเข้าไทย และกระจายอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศกว่า 20 จังหวัด   

ศ.ดร.ธเรศ ศรีสถิตย์ กรรมการสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วสท.

ศ.ดร.ธเรศ ศรีสถิตย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และกรรมการสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย(วสท.)   กล่าวว่า มีความเป็นห่วงไทยรับขยะพิษอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นภาระและเกิดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ทั้งที่บ้านเราปัญหาขยะรุนแรงอยู่แล้ว  ทั้งขยะทั่วไป ขยะติดเชื้อ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ยังแก้ไม่หมด กลับปล่อยให้ต่างประเทศขนขยะพิษเข้ามากำจัดในบ้าน   ขณะนี้รัฐบาลให้ระงับการนำเข้าชั่วคราว 


ที่นำเข้าได้ก่อนหน้านี้ ศ.ดร.ธเรศ ให้ข้อมูลมี 3 ลักษณะ จากการนำเข้าตามตามข้อตกลงในอนุสัญญาบาเซล นำเข้าเพื่อซ่อมแซมนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ electronic use เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า อย่าง หม้อหุงข้าวใช้แล้ว เครื่องเล่นไฟฟ้า เครื่องถ่ายเอกสาร อีกส่วนมีการสำแดงเท็จนำเศษพลาสติกเข้ามาเพื่อกลับมาใช้ใหม่ในอุตสาหกรรมพลาสติก ประเภท 53 แต่กลับมีการนำซากอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาแทน ซึ่งผิดกฎหมาย ที่จริงแล้วถ้ามีการนำเข้าให้ชัดเจน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างสุจริต ปัญหาขยะพิษจะไม่เกิดขึ้น 


" ปัจจุบันโรงงานแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ามาเปิดและลักลอบนำเข้ามีกว่า 148 โรง มีโรงงานคัดแยกขยะพิษที่ดำเนินการด้วยหลักวิชาการตามอนุสัญญาบาเซลเพียง 2 โรงเท่านั้น โรงงานอื่นๆ ไม่มีความสามารถคัดแยกขยะพิษ ไม่มีระบบควบคุมถูกต้องจะทำให้มีสารอันตรายออกสู่สิ่งแวดล้อม  ทั้งนี้ โควต้านำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้องมี 2 แสนตัน ปัจจุบันเข้ามาแล้ว 9 หมื่นตัน ปริมาณที่เหลือ ขณะนี้รัฐบาลให้ระงับชั่วคราวเพื่อตรวจสอบให้เรียบร้อย " ดร.ธเนศ กล่าว 


ความคืบหน้าล่าสุดเพื่อให้การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์มีระบบตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ศ.ดร.ธเรศ เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะมาตรการและแนวทางการดำเนินการ ตลอดจนแนวทางแก้ไขปัญหา  พร้อมทั้งกำกับ ดูแล  ติดตามและ ตรวจสอบการทำงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ  ประสานความร่วมมือจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ  และหน่วยงานรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด คาดว่าจะมีผลภายในสัปดาห์หน้า 


" อย่างไรก็ตาม ทาง วสท. ซึ่งมีองค์ความรู้ระบบการจัดการ คัดแยกซากอิเล็กทรอนิกส์ในระบบปิด รวมถึงมีศักยภาพติดตามตรวจสอบยินดีร่วมเป็นคณะทำงานเสนอแนะการดำเนินงานเพิ่ม เห็นว่า แนวทางจัดการขยะพิษยังขาดมาตรการผลักดันขยะออกนอกประเทศตามอนุสัญญาบาเซล ในกฎระเบียบข้อ 8 จะต้องประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อดำเนินการโดยเร็ว  ขณะนี้ที่ อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์  มีการคัดแยกระบบเปิด ผิดกฎหมาย  ชิ้นส่วนมีทั้งถูกถอดทิ้งแม่น้ำชี ขนไปทิ้งบนที่รกร้างว่างเปล่า รวมถึงเผาในที่โล่งแจ้ง ทำให้เกิดมลภาวะอากาศและน้ำเสีย "  ศ.ดร.ธเรศ ผู้แทน วสท.เสนอถึงหน่วยงานและรัฐบาล

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ล้นเมือง โรงงานลักลอบกำจัดไร้มาตรฐาน  


นอกจากระงับนำเข้าซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ทำตามอนุสัญญาบาเซล รวมถึงกลุ่มสำแดงเท็จแล้ว ข้อเสนอระยะสั้น ผู้เชี่ยวชาญมลพิษสิ่งแวดล้อมคนเดิม เห็นว่า ปัจจุบันเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากขยะพิษตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โรงงานนำขยะมาซุกไว้  โดยเฉพาะภาคตะวันออก ภาคอีสาน สารตะกั่วเกิดการปนเปื้อนสู่ดิน น้ำ และเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร จำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในโรงงาน ชุมชนรอบโรงงาน เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเหมือนกรณีคลิตี้  ประชาชนในพื้นที่ต้องร้องเรียนมายังหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อให้ตรวจสอบ คำถามที่จะตามมาใครรับผิดชอบฟื้นฟู เสนอให้จัดตั้งกองทุนซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ สนับสนุนการกำจัดกากอุตสาหกรรมและฟื้นฟูเยียวเพื่อให้การแก้ปัญหาทันต่อเหตุการณ์      


ด้าน ดร.ธเนศ วีระศิริ  นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์  แม้มีนโยบายชัดเจนผลักดันการเติบโตดิจิตอล แต่ผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีเสื่อมสภาพ กลายเป็นขยะสะสมปริมาณมาก ต้องมีระบบกำจัดที่ถูกต้อง ไม่ใช่จบที่ฝังกลบ    ระยะสั้นให้เร่งรัดร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ... ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ร่าง กม.นี้ กำหนดผู้รับผิดชอบไว้ทั้งหมด ผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรม ประชาชน ระยะยาวต้องสนับสนุนให้สร้างโรงงานคัดแยกและกำจัดซากอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐานเป็นเขตอุตสาหกรรมคัดแยกหรือโซนนิ่ง ไม่กระจายโรงงานไปทั่วประเทศ  ข้อเสนอสุดท้ายยกเลิกนำเข้าซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมก่อนมหันตภัยจะรุนแรงกว่านี้

แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์มีสารตะกั่วผลกระทบสิ่งแวดล้อม-สุขภาพ

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"