สถานการณ์ในรัฐยะไข่ของพม่ากลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ตำรวจอ้างม็อบชาวยะไข่พยายามบุกยึดที่ทำการของรัฐ ทำให้ตำรวจต้องยิงขับไล่ จนชาวยะไข่เสียชีวิต 7 ราย
ขบวนรถของตำรวจพม่าในรัฐยะไข่เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 ภาพ Development Media Group / AFP
เหตุการณ์รุนแรงล่าสุดนี้ยิ่งเพิ่มปัญหาท้าทายต่อรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี ที่ต้องรับมือกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ หลายสิบกลุ่มของพม่า ที่ร่ำร้องอำนาจปกครองตนเองมานับแต่พม่าเป็นเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2490
รายงานของเอเอฟพีเมื่อวันพุธที่ 17 มกราคม 2561 กล่าวว่า เหตุการณ์ปะทะกันเกิดขึ้นภายหลังชาวพุทธยะไข่ราว 5,000 คนมาชุมนุมกันที่เมืองมรัคอูเมื่อวันอังคารที่ 16 มกราคม 2561 เนื่องในวันล่มสลายของอาณาจักรอาระกันเมื่อ 200 ปีที่แล้ว
ยังไม่แน่ชัดว่าเหตุใดการชุมนุมของกลุ่มยะไข่ชาตินิยมจึงบานปลายเป็นความรุนแรง แต่ชาวยะไข่ ซึ่งจำนวนมากมีฐานะยากจนและรู้สึกว่าถูกหมางเมิน มีความเป็นศัตรูมาช้านานกับรัฐพม่าซึ่งมีชนเชื้อสายพม่าเป็นคนส่วนใหญ่
การปะทะเกิดขึ้นในวันอังคาร ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่รัฐบาลพม่าและบังกลาเทศลงนามความตกลง เพื่อเริ่มต้นกระบวนการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 655,000 คน จากค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ กลับคืนพม่า
ชาวยะไข่กล่าวว่า พวกโรฮิงญาเป็นผู้อพยพเข้าเมืองชาว "เบงกาลี" ที่เข้ามายังดินแดนของชาวพุทธอย่างผิดกฎหมาย
พันตำรวจเอกเมียว โซ โฆษกของตำรวจพม่า กล่าวโทษฝูงชนชาวยะไข่ว่า "เริ่มความรุนแรง" ด้วยการขว้างปาก้อนหินและพรวดพราดเข้าสู่ที่ทำการอำเภอพร้อมกับชักธงของรัฐยะไข่
"เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงขอร้องให้พวกเขาแยกย้ายกัน และได้ยิงกระสุนยางเตือน แต่พวกเขาไม่ยอมหยุด ตำรวจจึงต้องใช้กระสุนจริง" ตำรวจนายนี้กล่าวกับเอเอฟพี
"มีคนเสียชีวิต 7 คน บาดเจ็บ 13 คน" เขากล่าว และว่า ฝูงชนที่กำลังเรียกร้อง "อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐยะไข่" ยังทำร้ายตำรวจบาดเจ็บด้วย 20 นาย
ด้านอู ฮลา ซอ ส.ส.พรรคแห่งชาติอาระกันจากเขตมรัคอู ยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิต 7 คนจริงและประณามการกระทำของตำรวจว่าเป็นอาชญากรรม "การที่พวกเขาใช้อาวุธปืนเป็นเรื่องที่ให้อภัยไม่ได้" เขากล่าวกับเอเอฟพี "ตำรวจมีเวลาเตรียมการเพื่อหยุดฝูงชนก่อนที่พวกเขาจะไปถึงที่ว่าการอำเภอ ตำรวจควรปิดถนน แต่พวกเขากลับไม่ทำ"
เมืองมรัคอูเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวพุทธแต่โบราณในสมัยอาณาจักรอาระกัน อยู่ห่างไม่กี่สิบกิโลเมตรจากจุดศูนย์กลางความขัดแย้งรุนแรงในรัฐยะไข่ที่ผลักดันให้ชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายแสนคนอพยพเข้าบังกลาเทศมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ที่ผ่านมาเมืองทางตอนเหนือของรัฐยะไข่แห่งนี้แทบไม่ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการปราบปรามของกองทัพ
นักสังเกตการณ์หลายคนกล่าวเตือนว่า ความรุนแรงเมื่อวันอังคารอาจเริ่มต้นบทใหม่ของสถานการณ์ความไม่สงบในรัฐนี้ กาเบรียล อารอน นักวิเคราะห์อิสระ กล่าวว่า มีความเสี่ยงที่เหตุการณ์นี้จะลุกลามเป็นความรุนแรงระหว่างชุมชน ระดับความเสี่ยงขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายความมั่นคงจะรับมือกับเหตุการณ์เมื่อคืนวันอังคารได้ดีเพียงใด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |