ป้อมปลื้มสุริยะฟุ้งบิ๊กตู่นายกฯอีก


เพิ่มเพื่อน    

    "บิ๊กป้อม" ปลื้ม "สุริยะ-อดีต ส.ส." หนุน "บิ๊กตู่" เป็นนายกฯ อีกสมัย หวังได้ทำงานให้ประเทศเข้มแข็ง มั่นใจได้นั่งเก้าอี้นายกฯ อีกรอบ "เพื่อแม้ว" ซัดกากเดนเผด็จการจ้องทำลาย พท.ให้อ่อนแอ ใช้ทั้งเงิน  อำนาจรัฐต่อรองกวาดต้อนอดีต ส.ส. “วิษณุ” ยันยังไม่พูดเรื่องปลดล็อก ให้รอคุยรอบ 2 ที่นายกฯ เป็นประธาน "มาร์ค" หวั่นฉุกละหุกหากคลายล็อกช่วงพระราชพิธี 
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี กรณีที่นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทยและแกนนำกลุ่มสามมิตร นัด ส.ส.หารือพร้อมประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ว่า "ก็ดีนะ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ จะได้ทำงานเพื่อประเทศชาติให้เข้มแข็งและแข็งแรงมากขึ้น ก็ดูต่อไปก็แล้วกัน" 
    "ผมมั่นใจนะ และผมก็ให้การสนับสนุนอยู่แล้ว"   พล.อ.ประวิตรกล่าวเมื่อถามว่าเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไปต่อได้หรือไม่
    ขณะที่นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กหัวข้อ "กากเดนเผด็จการ” ระบุว่า การยึดอำนาจทุกครั้งจะเกิดพรรคการเมืองเฉพาะกิจ ออกกวาดต้อนอดีต ส.ส.เข้าพรรคเพื่อยกมือหนุนให้เผด็จการได้อยู่ในอำนาจต่อเสมอ เช่น เสรีมนังคศิลา สหประชาไทย สามัคคีธรรม ล่าสุดเผด็จการชุดนี้ก็หนีไม่พ้นวงจรเดิม สำหรับการดูด ส.ส.ครั้งนี้ เท่าที่ทราบมีการใช้ทั้งเงินและอำนาจรัฐมาต่อรอง โดยเสนอเงื่อนไขคือ ให้เงินจำนวนมากเพื่อต่อสู้กับพรรคเพื่อไทย ช่วยเหลือเรื่องคดีที่เจ้าตัวหรือลูกเมียถูกดำเนินคดี ให้สิทธิเลือกผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในเขตเลือกตั้งเพื่อช่วยเหลือตนและจัดการฝ่ายตรงข้าม ให้สิทธิในการกำหนดพื้นที่เลือกตั้งเพื่อแบ่งเขตแบบที่ตัวเองได้เปรียบทั้งหมด นอกจากจะเป็นข้อเสนอแล้ว ยังเป็นคำขู่สำหรับผู้ที่ไม่ยอมให้ดูดที่จะต้องโดนกลั่นแกล้งทุกรูปแบบ
    "พรรคมิได้หวั่นไหว กลับถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ถ่ายเลือดเพื่อให้เหลือแต่เพื่อไทยแท้ที่ไม่หวั่นไหวต่ออำนาจฝ่ายต่ำ หากพี่น้องประชาชนเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศดีแล้ว ประชาชนทำมาหากินสะดวกและร่ำรวยมีเงินทอง ก็เลือกพรรคนี้ไปเลย แต่ถ้าเห็นว่าเผด็จการชุดนี้ได้สร้างความฉิบหายให้บ้านเมืองมากพอแล้ว  คำตอบคือพรรคเพื่อไทย" นายวัฒนาระบุ 
           นายพิชัย นริพทะพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากผลการสำรวจความนิยมพรรคการเมืองล่าสุด ที่ปรากฏว่ามีประชาชนถึง 55.02% ยังให้ความนิยมกับพรรคเพื่อไทย โดยเชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทยจะสามารถบริหารประเทศทางด้านเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้องได้ ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุทำให้มีขบวนการหวังทำลายความนิยมและทำให้พรรคเพื่อไทยอ่อนแอ อาจจะมีทั้ง คสช.,  กกต., ป.ป.ช., ปชป. ร่วมมือกัน ความพยายามนำคดีเรื่องคลิปอดีตนายกฯ ที่ออกมาพูดการเมืองซึ่งเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้มีเนื้อหาของการครอบงำ ในขณะที่เรื่องการดูด ส.ส. และมีการแถลงข่าวอย่างโจ่งแจ้งกลับไม่มีความผิด และการใช้สรรพกำลังทุกด้านในการดูด ส.ส. ก็เป็นความพยายามทำให้พรรคเพื่อไทยอ่อนแอเช่นกัน โดยประชาชนส่วนใหญ่สงสัยว่าเงินที่ใช้ดูด ส.ส. มาจากการทุจริตคอร์รัปชันใช่หรือไม่
ซัด คสช.สองมาตรฐาน
      นายพิชัยกล่าวว่า ยังมีความพยายามดำเนินคดีกับอดีตนายกฯ ที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างสูงจากประชาชนมาโดยตลอด ทั้งๆ ที่เวลาผ่านมา 10 กว่าปีแล้ว เช่น คดีทีพีไอ จากนั้นผู้นำรัฐบาลกลับจากต่างประเทศ ก็ออกมาด่าอดีตนายกฯ เพื่อกลบข่าวการถูกนิตยสารไทม์วิจารณ์อย่างหนัก รับลูกกับหัวหน้าพรรค ปชป. ที่ออกมาตำหนิอดีตนายกฯ ว่าเป็นสาเหตุปัญหาของประเทศ ทั้งๆ ที่ประชาชนไม่ได้ลืมว่าใครบอยคอตการเลือกตั้ง 2 หน และทำให้เกิดการปฏิวัติทั้ง 2 หน สร้างความเสียหายแก่ประเทศอย่างมหาศาล ดังนั้นประชาชนอย่าได้หลงกลขบวนการจ้องทำลายพรรคเพื่อไทย และอยากให้มั่นใจได้ว่าหากพรรคเพื่อไทยได้บริหารประเทศ ประชาชนจะมีความสุขและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเหมือนผลงานของพรรคในอดีตที่ประชาชนสามารถจับต้องได้
     นายชวลิต วิชยสุทธิ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลนี้ไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นรัฐบาลรักษาการจัดการเลือกตั้งทั่วไปร่วมกับ กกต.ด้วยเหตุมีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่เป็นกลาง และสองมาตรฐาน ซึ่งมีข้อมูลที่เห็นชัด กรณีสมาชิกพรรคเพื่อไทย ร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์ผลงานรัฐบาลในโอกาสครบรอบ 4 ปี แต่กลับถูกดำเนินคดี แต่กลุ่มสามมิตรซึ่งประกาศตัวชัดเจนว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไป ออกเดินสายสร้างพลังดูดอดีต ส.ส.ไปถึงถิ่นอดีต ส.ส.อย่างโจ๋งครึ่ม ไม่อายฟ้าดิน เพราะมั่นใจว่าอยู่ฟากฝั่งรัฐบาล มีเกราะคุ้มกัน ไปเจรจาการเมืองเกิน 5 คนก็ไม่ผิด รัฐบาลเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นสารพัดทุกวิธีการที่น่าเกลียดที่สุด คือการที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองมีผลบังคับใช้แล้ว แต่กลับมีคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ออกมาทับกฎหมายที่รัฐบาลออกมาเองไม่ให้มีผลบังคับใช้ ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ไม่อาจดำเนินการตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง 
    "รัฐบาลเองทำทุกอย่างอย่างไม่กระดากอายในการต่อท่ออำนาจทางการเมือง รวมไปถึงมีข้าราชการที่หวังตำแหน่ง หน้าที่การงาน เดินสายกันให้ว่อนเพื่อสนับสนุนรัฐบาล แล้วอย่างนี้การเลือกตั้งจะเป็นกลาง จะบริสุทธิ์ยุติธรรมได้อย่างไร เพราะรัฐบาลทั้งปิดตาและทำเสียเอง ไม่เป็นกลาง ใครๆ ก็เห็น ไม่ต้องมาปฏิเสธ ไม่มีใครเชื่อ จึงเห็นว่ารัฐบาลนี้ขาดความชอบธรรมที่จะรักษาการในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไป ความเชื่อมั่นประเทศทางด้านการเมืองการปกครองไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย" นายชวลิตกล่าว 
     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพูดคุยกับพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ในวันนั้นไม่ได้มีการพูดถึงการปลดล็อกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 ว่าจะมีการผ่อนคลายเรื่องใดบ้าง และที่ประชุมก็ไม่มีใครถามเรื่องดังกล่าว ซึ่งคาดว่าในการพบปะหารือกับพรรคการเมืองในครั้งที่ 2 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน จึงจะมีการพูดถึงเรื่องนี้ ทั้งนี้ยังไม่ได้กำหนดวัน จนกว่าจะรู้เวลาที่กฎหมายลูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา
    รองนายกฯ กล่าวว่า ในส่วนภาคประชาชน   สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ภายในกรอบกฎหมาย ทั้งนี้ ยังไม่ได้พูดคุยถึงแนวทางการทำไพรมารีโหวตกับนายกฯ ได้เล่าเพียงปัญหาที่มีการคุยกันในที่ประชุมให้นายกฯ ทราบเท่านั้น และนายกฯ ก็ทราบปัญหาดังกล่าวจาก พล.อ.ประวิตรอยู่ก่อนแล้ว ส่วนจะมีการตัดสินใจอย่างไร ก็เป็นหน้าที่ของ คสช. ซึ่งจะหารือกับทุกฝ่าย ไม่ได้คิดกันเองแค่ไม่กี่คน ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วน และไม่ต้องหารือกับ กกต. เพราะจะต้องมีการแบ่งเขตภายใน 60 วัน จากนั้นจึงจะมีการทำไพรมารีโหวต โดยการแบ่งเขตจะเกิดขึ้นในเดือน ก.ย. ดังนั้นมีเวลาอยู่แล้ว
หวั่นคลายล็อก ก.ย.ฉุกละหุก
      เมื่อถามถึงกรณีที่มีพรรคการเมืองตั้งข้อสังเกตเรื่องการประกาศผลการเลือกตั้งของ กกต.ต้องทำภายใน 60 วันนับจากการเลือกตั้งใน 150 วัน แต่หากมีการเลือกตั้งซ่อมจะนับอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ใครสงสัยก็ให้ไปส่งศาลเอา แต่รัฐบาลไม่สงสัย และรัฐบาลจะไม่มีวันส่งด้วย เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินแล้วว่า เมื่อได้จัดการเลือกตั้งทั่วประเทศเรียบร้อย ถือว่าได้จัดครบเสร็จในกำหนดเวลา จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาการเลือกตั้งที่ไม่เรียบร้อยแล้วมาจัดใหม่อยู่ในช่วงเวลา 150 วันนั้นอีก เมื่อก่อนเวลายุบสภาเขาก็ต้องให้เลือกตั้งภายใน 45 วัน เมื่อเสร็จแล้วก็จบ แต่ต่อมาการเลือกตั้งเป็นโมฆะต้องเลือกตั้งใหม่ ก็มีคนเถียงว่าเกิน 45 วัน ซึ่งก็ใช่ที่มันต้องเกิน แต่นั่นแปลว่าไม่มีปัญหา แล้วก็ต้องนับใหม่กัน
    นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงข้อเสนอของพรรคการเมืองบางพรรคที่ให้มีการยกเลิกไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรกว่า การที่ สนช.เสนอให้มีระบบไพรมารีโหวตในการเลือกตั้ง เนื่องจากต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัคร แต่พรรคการเมืองจะดำเนินการทันหรือไม่ ถือเป็นคนละเรื่องกัน ในการเลือกตั้งครั้งแรก หากพรรคการเมืองคิดว่าเตรียมตัวเรื่องไพรมารีโหวตไม่ทัน ก็ต้องให้ กกต.ไปหารือ และหาทางออกร่วมกับพรรคการเมืองก่อนที่จะไปคิดแก้กฎหมาย หรือใช้มาตรา 44 เพราะรูปแบบการทำไพรมารีโหวต ก็ระบุไว้ชัดใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ขณะนี้ขอให้ไปดูเรื่องช่วงเวลาก่อนว่าทำไม่ทันจริงหรือไม่ ก่อนที่จะมาขอยกเว้นไม่ทำไพรมารีโหวต ทั้งนี้ การจะปรับรูปแบบอย่างไร ก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
    เมื่อถามว่า ถ้ายกเลิกระบบไพรมารีโหวตจะทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่หรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า อย่าไปคิดไกลกันถึงขนาดนั้น ถ้าไปคิดอย่างนั้นเดี๋ยวจะกระทบกับโรดแมปอีก หากไม่อยากให้มีผลกระทบกับเงื่อนเวลา อย่าไปแก้กฎหมายเลยจะดีกว่า ส่วนที่มีข้อเสนอให้ทำไพรมารีโหวตในระดับภาคแทนระดับเขต ในการเลือกตั้งครั้งหน้านั้น สนช.ยังไม่ได้คิด เพราะกฎหมายระบุให้ทำไพรมารีโหวตในระดับเขตเลือกตั้งไม่ใช่ระดับภาค
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อุปสรรคมาจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เช่น การประชุมใหญ่ ตั้งสาขาได้หรือไม่ เมื่อไม่มีสาขาแล้วจะทำไพรมารีฯ โดยใคร และไม่ได้หมายความว่าถ้าปล่อยให้พรรคการเมืองไปหาสมาชิกแล้วบ้านเมืองมันจะวุ่นวาย เราทราบว่าขณะนี้รัฐบาลอยู่ในช่วงที่จะต้องเตรียมการเกี่ยวกับพระราชพิธีสำคัญ คาดการณ์ว่าน่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 เดือน คำถามคือการที่พรรคการเมืองจะไปหาสมาชิกช่วงนี้ เมื่อถึงช่วงที่มีพระราชพิธีสำคัญจริงๆ เราจะได้ไม่ต้องไปมีปัญหาว่าจะฉุกละหุก สมมติว่าคลายล็อกในเดือน ก.ย.นี้ ทำอะไรไม่ได้เลย กลายเป็นว่าพรรคการเมืองต้องไปเร่งทำทุกอย่างในช่วงที่จะมีพระราชพิธี ก็ไม่สมกับสิ่งที่ คสช.พูดเองว่าทำอย่างไรให้มีปัญหาน้อยที่สุดในช่วงของพระราชพิธี 
    "ดังนั้นผมแปลกใจว่าในตรรกะของ คสช. ทำไมคำตอบที่ออกมาจึงไม่ค่อยสอดคล้องกัน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ผมยืนยันว่าจะให้ทำอย่างไรพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องปฏิบัติอย่างนั้น เพียงแต่เสียดายว่าในการปฏิบัติของพรรคการเมือง ถ้าไม่พิจารณาตามเหตุผลและเจตนารมณ์ของเรื่องนี้ทั้งหมด สุดท้ายอาจมีคนยังบอกว่าก็ไม่มีการทำไพรมารีโหวตไปเลย แต่มีคำถามมาว่าการให้ประชาชนมีส่วนร่วมตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญจะทำในรูปแบบไหน อย่างไร" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
    ส่วนการที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าจะคุยกับพรรคการเมืองอีกครั้งในเดือน ก.ย.นี้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะไปร่วมพูดคุยด้วยหรือไม่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"