ผู้พิพากษาแอนโธนี เคนเนดี แห่งศาลฎีกาของสหรัฐ ยื่นลาออกจากตำแหน่งมีผลสิ้นเดือนกรกฎาคม เปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เสนอชื่อผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นคนที่ 2 ในเวลาไม่ถึง 18 เดือนที่รับตำแหน่ง ซึ่งอาจส่งผลให้ศาลสูงสุดแห่งนี้เอียงไปทางฝั่งอนุรักษนิยมอย่างชัดเจน
ผู้พิพากษาแอนโธนี เคนเนดี / AFP
รายงานของเอเอฟพีและบีบีซี เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 กล่าวว่า ผู้พิพากษาเคนเนดี วัย 81 ปี ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง มีผลในวันที่ 31 กรกฎาคม โดยเขาให้เหตุผลว่าต้องการใช้เวลาที่เหลือกับครอบครัว หลังจากทำหน้าที่ในศาลสูงสุดแห่งนี้มานาน 30 ปี
เคนเนดีได้รับการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน แห่งพรรครีพับลิกัน โดยเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2531 การลาออกของเขาจะเปิดโอกาสให้ทรัมป์ได้เลือกผู้พิพากษาศาลฎีกาคนที่ 2 มานั่งในบัลลังก์ 9 ผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ดำรงตำแหน่งตลอดชีวิตและมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของคนอเมริกันอย่างยิ่ง โดยศาลนี้จะทำหน้าที่วินิจฉัยข้อกฎหมายที่เป็นข้อโต้แย้ง ข้อพิพาทระหว่างรัฐและรัฐบาลกลาง
ผู้พิพากษาแอนโธนี เคนเนดี แห่งศาลอุทธรณ์รัฐแคลิฟอร์เนีย (ซ้าย) แถลงที่ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2530 ภายหลังได้รับการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา / AFP
สัปดาห์นี้ฝ่ายอนุรักษนิยมในศาลแห่งนี้เพิ่งตัดสินว่าคำสั่งฉบับปรับปรุงใหม่ของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ห้ามพลเมืองจากชาติมุสลิมเข้าสหรัฐนั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 และเมื่อต้นเดือน ศาลนี้ก็มีข้อวินิจฉัยที่สนับสนุนคนทำขนมในรัฐโคโลราโดที่ปฏิเสธจะทำเค้กแต่งงานให้คู่รักเพศเดียวกัน
ทรัมป์กล่าวยกย่องผู้พิพากษาเคนเนดีว่า เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ยอดเยี่ยม และเขาจะเลือกบุคคลที่โดดเด่นเทียบเท่ากันมาสืบทอดตำแหน่งนี้ โดยกระบวนการจะเริ่มต้นทันทีทันใด
"เราต้องเลือกผู้ที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีก 40 ปี หรือ 45 ปี" ทรัมป์กล่าวต่อเวทีปราศรัยที่นอร์ทดาโกตา โดยกล่าวว่า เขาจะเลือกผู้พิพากษาคนใหม่จากรายชื่อที่มีอยู่ 25 คน
ทรัมป์คุยระหว่างการปราศรัยเมื่อวันพุธด้วยว่า เคนเนดีเป็นบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ที่ไว้วางใจให้เขาเลือกผู้พิพากษาคนใหม่มาแทนที่ ด้วยการประกาศลาออกในสมัยของเขา
การเลือกผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐมักเป็นประเด็นงัดข้อกันระหว่างพรรครีพับลิกันและเดโมแครต เมื่อปี 2559 รีพับลิกันเคยปฏิเสธจะรับรองผู้พิพากษาที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เป็นผู้เสนอชื่อเพื่อมาทดแทนผู้พิพากษาแอนโตนิน สกาเลีย ที่เสียชีวิต และสุดท้ายทรัมป์ก็เป็นผู้เสนอชื่อนีล กอร์ซุช มาแทนที่สกาเลียเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งถ่วงดุลฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายเสรีนิยมในศาลแห่งนี้
สำหรับเคนเนดีนั้น แม้จะถูกเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีรีพับลิกัน แต่หลายครั้งเขาก็เป็นเสียงชี้ขาดที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่พอใจ เช่น การตัดสินที่สนับสนุนสิทธิการทำแท้ง และคัดค้านการสวดภาวนาในพิธีจบการศึกษาของโรงเรียนรัฐบาล.
แฟ้มภาพเมื่อ 1 มิ.ย. 2560 โฉมหน้าคณะผู้พิพากษาศาลฎีกาสหรัฐทั้ง 9 ท่าน (นั่ง จากซ้าย) รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก, แอนโธนี เคนเนดี, จอห์น โรเบิร์ตส์, แคลเรนซ์ โธมัส และสตีเฟน เบรเยอร์ (ยืน จากซ้าย) เอเลนา เคแกน, แซมมวล อาลิโต จูเนียร์, โซเนีย โซโตมายอร์ และนีล กอร์ซุช / AFP
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |