เชียงใหม่/ พลเอกอนันตพร รมว.พม.เปิดศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ รองรับได้ 50 คน มีการจัดระเบียบการเข้าพัก มีการฝึกอาชีพต่างๆ เพื่อให้คนไร้บ้านมีอาชีพ มีรายได้ มีการออมทรัพย์เป็นทุนสร้างชีวิตใหม่ ถือเป็นศูนย์ตั้งหลักชีวิต เพื่อให้คนไร้บ้านสามารถกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัวหรือสร้างครอบครัวใหม่ได้ โดยไม่เป็นภาระแก่สังคม และเตรียมสร้างอีก 2 แห่งที่ขอนแก่นและกรุงเทพฯ ใช้งบประมาณทั้งหมด 118 ล้านบาท
ตามที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส โดยมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 เห็นชอบในหลักการแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (ปัจจุบันปรับเป็นแผนแม่บทพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปื พ.ศ. 2560-2579) รวมทั้งโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพกลุ่มคนไร้บ้านใน 3 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ขอนแก่น และเชียงใหม่ ใช้งบประมาณจำนวน 118 ล้านบาทเศษ โดยให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายคนไร้บ้าน ซึ่งขณะนี้ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว มีคนไร้บ้านเข้าพักอาศัยจำนวน 15 คน
โดยในวันนี้ (28 มิถุนายน ) เวลา 9.00 น. พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และคณะ ได้เดินทางมาที่ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ ‘บ้านเตื่อมฝัน’ (บ้านเติมฝัน) ตั้งอยู่ที่ถนนสุริยวงศ์ ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ฯ ดังกล่าว โดยมีนายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และหน่วยงานในกระทรวง พม. รวมทั้งเครือข่ายคนไร้บ้านประมาณ 200 คนให้การต้อนรับ
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ กล่าวว่า ศูนย์ฯ แห่งนี้มีกฎระเบียบต่างๆ ในการเข้าพักอาศัย มีกติกาในการดูแลกันเอง เช่น ห้ามดื่มสุรา ห้ามเล่นการพนัน คนไร้บ้านที่จะเข้ามาอยู่จะต้องมาทดลองอยู่ก่อน หากอยู่ได้ก็อยู่ต่อไป และมีกองทุนต่างๆ เอาไว้ช่วยเหลือดูแลกัน มีการออมทรัพย์ รวมทั้งมีการฝึกอาชีพต่างๆ เช่น การทำเกษตร ปลูกผักสวนครัว ฯลฯ เพื่อให้คนไร้บ้านมีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงดูตัวเอง สามารถบริหารจัดการศูนย์แห่งนี้ได้เอง โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนให้การสนับสนุน
“ที่ผ่านมารัฐบาลก็มีศูนย์สงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง แต่เป็นลักษณะรัฐคิด รัฐทำ แต่ศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนคิด และประชาชนทำ โดยรัฐสนับสนุนงบประมาณซื้อที่ดินและการก่อสร้าง ไม่ต้องดูแล แต่ให้คนไร้บ้านบริหารกันเอง และให้มีรายได้มาดูแลศูนย์ สามารถใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไป และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” รมว.พม.กล่าว
พลเอกอนันตพรกล่าวด้วยว่า นอกจากการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่แล้ว กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ฯ ขึ้นอีก 2 แห่ง คือ ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งขณะนี้จัดซื้อที่ดินแล้ว เนื้อที่ 3 ไร่ และที่กรุงเทพฯ จัดซื้อที่ดินบริเวณย่านรังสิต เนื้อที่ 2 ไร่เศษ ขณะนี้ทั้ง 2 แห่งอยู่ในระหว่างการออกแบบก่อสร้าง คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปีนี้ และจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 โดยใช้งบประมาณซื้อที่ดินและก่อสร้างทั้ง 3 แห่ง (รวมที่ จ.เชียงใหม่) รวมทั้งหมด 118 ล้านบาทเศษ
นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ นายกสมาคมเครือข่ายคนไร้บ้าน กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลของเครือข่ายคนไร้บ้านเมื่อหลายปีก่อน พบว่า ในจังหวัดเชียงใหม่มีคนไร้บ้านประมาณ 160 คน คาดว่าปัจจุบันน่าจะมีจำนวนมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้มีคนตกงาน ไม่มีรายได้ ต้องออกมาเร่ร่อนมากขึ้น ส่วนสาเหตุการออกมาเร่ร่อนกลายเป็นคนไร้บ้านนั้น มีหลายสาเหตุ เช่น มีปัญหากับครอบครัว มีโรคประจำตัว ครอบครัวรังเกียจ ตกงาน ไม่มีรายได้ ไม่มีเงินค่าเช่าบ้าน ฯลฯ จึงต้องมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ส่วนใหญ่มีรายได้จากการเก็บขยะรีไซเคิลขาย มีปัญหาด้านสุขอนามัย บางคนไม่มีบัตรประชาชน ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล ฯลฯ เครือข่ายคนไร้บ้านจึงเกิดขึ้นมาจากการสนับสนุนของหลายหน่วยงาน เพื่อให้การช่วยเหลือคนไร้บ้านในรูปแบบต่างๆ เช่น ให้ที่พัก ให้อาหาร น้ำดื่ม ให้คำแนะนำ ฯลฯ
นายนรินทร์ เอื้ออมรรัตน์ ตัวแทนคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า คนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่เริ่มมีการรวมตัวกันตั้งแต่ปี 2551 และจัดตั้งศูนย์พักคนไร้บ้านในปี 2553 เดิมเป็นอาคารเช่าขนาด 2 ชั้น 2 คูหา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนค่าเช่าประมาณเดือนละ 15,000 บาท มีคนไร้บ้านพักอาศัยจำนวน 25 คน เมื่อได้รับงบประมาณจากรัฐบาลในปี 2559 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และเครือข่ายคนไร้บ้านจึงจัดซื้อที่ดินในซอยสุริยวงศ์ ตำบลหายยา ขนาดเนื้อที่ 330 ตารางวา เพื่อนำมาก่อสร้างเป็นศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ ใช้งบประมาณซื้อที่ดินและก่อสร้างรวมทั้งหมด 29 ล้านบาท สามารถรองรับคนไร้บ้านได้ประมาณ 50 คน ซึ่งผู้ที่เข้ามาพักอาศัยจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของศูนย์ เช่น ห้ามดื่มสุรา ห้ามทะเลาะวิวาท ช่วยกันออกค่าบำรุงที่พัก และช่วยกันจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ
“ผมถือว่าศูนย์ฯ คนไร้บ้านเป็นที่ตั้งหลักชีวิต เพราะไม่ว่าเราจะล้มเหลวมาจากที่ไหน แต่ที่นี่ทำให้เรามีที่พักพิง ไม่ต้องเร่ร่อน มีที่ตั้งหลัก ได้คิดทบทวน เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างอนาคตใหม่ มีกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกัน มีการออมเงินทุกเดือนเพื่อเป็นสวัสดิการเอาไว้ช่วยเหลือกันในยามเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งตอนนี้มีเงินหมื่นกว่าบาท มีการฝึกอาชีพเพื่อให้ทุกคนมีงานทำ เช่น งานก่อสร้าง งานฝีมือ และมีการจัดตั้ง ‘ห้างหุ้นส่วน จำกัด คนไร้บ้าน’ ขึ้นมา เพื่อรับงานต่างๆ เช่น ตัดแต่งต้นไม้ ขนย้ายของ ก่อสร้างบ้าน นอกจากนี้พวกเรายังเปิดศูนย์ฯ แห่งนี้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของคนทั่วไปว่า คนไร้บ้านสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมได้” ตัวแทนคนไร้บ้านเชียงใหม่กล่าว
ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านเชียงใหม่ “บ้านเตื่อมฝัน” เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ใช้เวลาก่อสร้างระยะเวลา 1 ปี รองรับคนไร้บ้านได้ประมาณ 50 คน มีห้องพักส่วนตัวขนาด 3x4 ตารางเมตร จำนวน 16 ห้อง และห้องพักรวม ผู้ที่อยู่อาศัยจะต้องช่วยกันออกค่าน้ำค่าไฟ (เฉลี่ยจากมิเตอร์) และค่าบำรุงห้องพักเดือนละ 300 บาท มีการออมเพื่อเป็นสวัสดิการช่วยเหลือกันเดือนละ 50 บาท ขณะนี้มีเงินกองทุนประมาณ 10,000 บาทเศษ มีกองทุนกลางซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายภายในศูนย์ (ปัจจุบันมีเงินกองทุนรวม 3,000 บาท) รวมทั้งมีการออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้างชีวิตใหม่ (ปัจจุบันมีเงินกองทุนรวม 7,000 บาท)
สภาพภายนอกศูนย์
ภายในในศูนย์แบ่งเป็นห้องพัก 16 ห้อง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |