'คลายล็อก' ที่ คสช.ได้ด้วย!


เพิ่มเพื่อน    

      คาดว่าเอกสารสรุปผลการรับฟังความเห็นพรรคการเมืองต่อการเตรียมการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ที่จัดเมื่อ 25 มิ.ย. ณ สโมสรทหารบก ซึ่งรายละเอียดน่าจะมากกว่าข่าวที่ปรากฏตามสื่อมวลชน คงส่งถึงโต๊ะทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.แล้วในเวลานี้ หลังนายกฯ เริ่มกลับมาปฏิบัติราชการตามปกติ หลังสิ้นสุดการเดินทางเยือนประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสเมื่อ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา

      อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอและแนวทางหลักๆ ที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มือกฎหมายคนสำคัญของรัฐบาลแถลงไว้ก่อนหน้านี้ว่า คสช.และรัฐบาลเตรียม คลายล็อกพรรคการเมือง ด้วยแนวทางต่างๆ เช่นอนุญาตให้ประชุมใหญ่พรรคการเมืองในช่วงกลางเดือน ก.ย.-ธ.ค.61 เพื่อให้หาสมาชิก ทำไพรมารีโหวต รวมถึงจะให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แบ่งเขตเลือกตั้ง 350 เขต

      โดยทั้งสองกรณีให้ทำเมื่อร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศใช้แล้ว แต่เนื่องจากร่างดังกล่าว เขียนไว้ว่าให้มีผลบังคับใช้หลังประกาศ 90 วัน ดังนั้นเพื่อให้พรรคการเมืองและ กกต.เตรียมตัวได้ทัน ก็จะใช้ช่วงที่รอ 90 วันให้ทั้งพรรคการเมืองและ กกต.ขยับเตรียมพร้อมไปก่อน เมื่อครบ 90 วันการเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง เช่นเตรียมประกาศวันเลือกตั้งของ กกต.ก็จะได้รันทันที โดยทั้งหมดเป็นความพยายามของ คสช.เพื่อหาทางผ่อนให้พรรคการเมืองเท่าที่จะทำได้ ภายใต้การยื้อปลดล็อกพรรคการเมืองออกไปให้ได้นานที่สุด

      นั่นหมายถึงว่า บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มีเวลานานพอสมควรในการพิจารณาตัดสินใจข้อเสนอต่างๆ ดังกล่าวที่ฝ่ายกฎหมายรัฐบาลและ คสช.ชงมาให้เพื่อคลายล็อกพรรคการเมือง ที่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. เพราะการดำเนินการทั้งหมดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการโปรดเกล้าฯ ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ที่หากนับตามกรอบเวลาที่ขั้นตอนดังกล่าวจะมีเวลาประมาณ 3 เดือนหรือ 90 วัน หลังนายกฯ นำร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ระหว่างนี้ บิ๊กตู่ จึงมีเวลาประมวลทุกข้อเสนอที่ฝ่ายกฎหมายรัฐบาลและ คสช.เสนอมาเพื่อคลายล็อก ควบคู่ไปกับการฟังความเห็นของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ยังมีควันหลงออกมาไม่ขาดสาย แม้วงหารือเมื่อ 25 มิ.ย.จะเลิกราไปหลายวันแล้ว แต่ก็ยังมีลูกติดพันตามมาให้เห็นจากหลายพรรคการเมือง

      ขณะเดียวกัน ประเด็นที่ถูกพูดถึงและเป็นที่จับจ้องว่า คสช.-บิ๊กตู่จะตัดสินใจอย่างไร ก็คงเป็นเรื่อง 

        ไพรมารีโหวต

      ที่ให้สมาชิกพรรคการเมืองในแต่ละจังหวัด-เขตเลือกตั้ง มีสิทธิ์ออกเสียงในเรื่องการส่งตัวผู้สมัคร ส.ส.ทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อของพรรคที่ตนเองเป็นสมาชิก ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับการเมืองไทย  และถูกเขียนไว้เป็นครั้งแรกใน พ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน

      มีข่าวว่าวงหารือเมื่อ 25 มิ.ย. หลายพรรคการเมืองทั้งใหญ่-กลาง-เล็ก ไม่ว่าจะเป็นพรรคใหม่-พรรคเก่า ต่างก็แสดงท่าทีว่ายังไม่พร้อมกับการทำไพรมารีโหวต โดยยกข้ออ้างว่าการที่ คสช.ไม่ยอมปลดล็อกหรือปลดล็อกช้าทำให้พรรคเตรียมตัวไม่ทัน จึงประสานเสียงหนุนให้บิ๊กตู่ใช้มาตรา 44 เพื่องดเว้นการทำไพรมารีโหวตออกไปก่อนในการเลือกตั้งครั้งแรกปี 2562 หรือไม่ก็ทำให้กระบวนการทำไพรมารีโหวตมีความคล่องตัวขึ้น เช่นเปลี่ยนจากระบบไพรมารีโหวตที่ทำรายจังหวัดตามบทเฉพาะกาลใน พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาเป็นระบบภาคแทน ซึ่งการจะงดเว้นไม่ทำไพรมารีโหวตหรือเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์วิธีการทำไพรมารีโหวตก็ต้องใช้อำนาจตามรัฏฐาธิปัตย์ มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.มายกเว้น

      เรื่องการ "งดเว้นทำไพรมารีโหวต"

      ก่อนหน้านี้ แกนนำ คสช.คือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ส่งสัญญาณในทางเห็นด้วยกับการงดเว้นดังกล่าว ขณะที่คนในบอร์ด คสช.อย่าง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.และหนึ่งในบอร์ด คสช.ก็แสดงท่าทีเตือนหัวหน้า คสช.ว่า การใช้มาตรา 44 ควรใช้เฉพาะที่จำเป็น และแสดงความเสียดายหากจะไม่ใช้ระบบไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า

      การคลายล็อกพรรคการเมืองของ บิ๊กตู่-คสช. ในช่วง ก.ย.-ธ.ค.61ไม่ว่าจะใช้กระบวนท่าไหน มันก็ต้องมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งบวกและลบตามมาอยู่แล้ว แล้วยิ่ง คสช.เลือกวิธีการที่ทำแล้วตัวเองได้ประโยชน์ด้วย มันก็คงแลดูไม่สมควร

      เช่นหากมีการยกเว้นทำไพรมารีโหวตหรือแก้ไขหลักเกณฑ์การทำไพรมารีโหวตจริง ย่อมทำให้คิดไปถึงข่าวเรื่อง พลังดูด เพื่อไปสู่ พรรคพลังประชารัฐ ที่มีข่าวว่า รมต.ของรัฐบาลบางคนไปเปิดห้องที่ปรึกษา รมต.วางแผนทำพรรคพลังประชารัฐ จนถูกมองว่าเป็นพรรค คสช.-พรรคทหาร

        ฉะนั้น การแก้ไขหลักเกณฑ์เรื่องไพรมารีโหวต อาจมีส่วนทำให้พรรคพลังประชารัฐที่ยังเป็นวุ้นอยู่ได้ประโยชน์ไปด้วย ใช่หรือไม่!!!!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"