นักการเมืองดิ้นจี้ปลดล็อก


เพิ่มเพื่อน    

    “ประยุทธ์” ลั่นรู้ผลหารือ 74 พรรคการเมืองแล้ว “พี่ป้อม” รายงานตลอด ประวิตรโวถือเป็นสัญญาณที่ดี “พรเพชร” เตือนใช้มาตรา 44 แก้ไพรมารีฯ แบบพอดี ผวาถูกเหน็บปาฏิหาริย์กฎหมายอีก ส่วน “มีชัย” ชี้ 3 ข้อเสนอผ่าทางตันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อัดยับพวกชงแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยิ่งกว่าเผด็จการเอาแต่ใจคนเดียวไม่สนคน 65 ล้าน “ปชป.-พท.” ประสานเสียงปลดล็อกควรเริ่มเลย ไม่ต้องรอกฎหมายลูก
    เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางกลับจากการเยือนสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 20-26 มิ.ย. ว่าไม่ขอพูดในประเด็นการเมือง เพราะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้พูดไปแล้ว ซึ่งเราได้ติดต่อกันตลอดเวลา โดยทั้งหมดจากการประชุมเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ต้องกลับมาพิจารณาในที่ประชุม คสช.อีกครั้ง  
    "ขอร้องว่าอย่าทำให้บ้านเมืองไม่สงบกันอีกเลย  เพราะช่วงนี้กำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง จึงขอให้นึกถึงคนที่เดือดร้อนกันบ้าง ถ้าเราไปเล่นการเมืองเพียงข้างเดียว เลือกตั้งไป ก็จะตามกันไปทั้งหมด อย่าลืมว่าการเมืองคือการเมือง วันนี้เดินหน้ากันต่อไป ที่ผมกังวลวันนี้ที่สุดเราจะได้รัฐบาลอะไรกลับมา ที่อ้างกันว่าจะเป็นรัฐบาลของประชาชน ทำเพื่อประชาชน ก็ยังไม่เห็นมีใครพูด พูดกันแต่เพียงว่าจะแก้นั่นแก้นี่" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ด้าน พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงการหารือกับ 74 พรรคการเมือง เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ว่าบรรยากาศพูดคุยเป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งทุกพรรคการเมืองก็ได้รับทราบข้อชี้แจงของรัฐบาลทั้งหมด โดยเฉพาะกรอบการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นไปตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงทั้งหมด ส่วนข้อเสนอของพรรคการเมืองมีเพียงเรื่องเดียว คือเรื่องการทำไพรมารีโหวต ว่าจะใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขหรือไม่ ทั้งนี้ ทางเราต้องพิจารณาอีกที นอกนั้นก็ไม่มีอะไร 
"ทุกพรรคการเมืองเรียบร้อยดี และพูดจากันรู้เรื่อง ผมเชื่อว่าจะเป็นสัญญาณที่ดี ทั้งนี้ จากการหารือพรรคที่ผ่านมา ได้นำเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์รับทราบอยู่ตลอดเรียบร้อยแล้ว" พล.อ.ประวิตรระบุ
    เมื่อถามว่า ในที่ประชุมได้กำชับนักการเมืองให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยหรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบว่า นักการเมืองเข้าใจอยู่แล้ว และตอนนี้เหตุการณ์ก็มีความสงบเรียบร้อย อีกทั้งฝ่ายความมั่นคงต้องดูแลสถานการณ์ให้สงบเรียบร้อย เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งให้ได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน
    เมื่อถามถึงกรณีนายวิษณุให้เหตุผลว่า ปัจจัยหนึ่งในการเลือกตั้งคือพระราชพิธีสำคัญต้องผ่านไปด้วยความเรียบร้อย การระบุเช่นนั้นแสดงว่าจะมีความเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มี เชื่อว่าช่วงมีพระราชพิธีสำคัญจะไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร และมีความสงบเรียบร้อย
ชี้ 150 วันไม่รวมรับรอง
    ขณะที่นายวิษณุกล่าวถึงกรณีมีข้อสังเกตว่า ช่วงเวลา 150 วันจัดการเลือกตั้ง นับรวมเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะรับรองการเลือกตั้งภายใน 60 วันด้วยหรือไม่ ว่าไม่รวม คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงชัดเจนแล้วว่า 150 วันที่ระบุให้การเลือกตั้งเสร็จสิ้นนั้น ระบุไว้คนละมาตรากับการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน หมายความว่า กรธ.ตีความ 60 วัน อยู่นอกเหนือจาก 150 วัน ที่ต้องจัดการเลือกตั้งให้เสร็จ ไม่ได้รวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่าให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ชัดเจนว่า 60 วัน มันจะซ้อนเข้ามาไม่ได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ผ่านมากำหนดเช่นนี้ จะไม่นับรวมกับการประกาศผลการเลือกตั้ง เรื่องนี้ กรธ.เป็นผู้ตีความ ไม่ใช่รัฐบาล แต่ถ้า กกต.จะตีความอย่างไรต้องแล้วแต่ กกต. สุดท้ายหากมีข้อสงสัยก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยประเด็นนี้ไม่มีการหยิบยกมาหารือเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.
    เมื่อถามว่า ฝ่ายการเมืองมองว่าเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปลดล็อกคือช่วงนี้ ไม่ใช่ปลายปี เพราะอาจกระทบต่องานพระราชพิธี นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ควรมีผู้ใดจะไปพูดเรื่องงานพระราชพิธี จะไม่เอาคำดังกล่าวมาเกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ไม่ได้ยกเหตุผลเกี่ยวกับงานพระราชพิธีขึ้นมา พูดแต่ว่าการรักษาความสงบเรียบร้อยในช่วงพระราชพิธี
     เมื่อถามว่า ช่วงเวลาใดเหมาะสมกับการปลดล็อก  นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ และวันที่ 27 มิ.ย.จะมีเพียงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่มีการประชุม คสช. ซึ่งเข้าใจว่า พล.อ.ประวิตรได้รายงานผลการหารือกับพรรคการเมืองให้นายกฯ ทราบแล้ว  
ส่วนนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการหารือเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ซึ่งมีกรอบเลือกตั้งเร็วที่สุดวันที่ 24 ก.พ.2562 หรือช้าสุดวันที่ 5 พ.ค.2562 ว่ายังมั่นใจว่าวันเลือกตั้งจะยังเป็นไปตามโรดแมป คือเดือน ก.พ.2562 ตามที่นายกฯ ประกาศไว้ และ กกต.ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเต็ม 150 วัน สำหรับการจัดการเลือกตั้ง หลังประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ซึ่งส่วนมากใช้เวลา 60-90 วันเท่านั้น จึงหวังว่า กกต.และพรรคการเมืองจะดำเนินการตามกระบวนการต่างๆ ให้ได้
    ส่วนข้อเสนอพรรคการเมืองที่ให้งดทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ นายพรเพชรกล่าวว่า ต้องไปพิจารณาหลักการของรัฐธรรมนูญก่อน หากจะให้งดเว้นการทำไพรมารีฯ โดยต้องพิจารณากฎหมายว่าจะใช้คำสั่งตามมาตรา 44 งดเว้นได้เพียงใด รวมถึงต้องหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะกฎหมายได้บัญญัติไว้ ถ้าไม่ทำจะมีวิธีการอย่างไร ทั้งนี้ หากรัฐบาลถามความเห็นเรื่องทางออกของการทำไพรมารีโหวตมายัง สนช. ก็ไม่สามารถให้ความเห็นส่วนตัวได้ ต้องฟังความเห็นของสมาชิก สนช.อื่นด้วย แต่โดยหลัก สนช. สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งอยู่แล้ว 
หวั่นถูกด่าปาฏิหาริย์
      “ไพรมารีโหวตจะเป็นตัวสำคัญสำหรับเวลาการเลือกตั้ง มีบางส่วนเสนอทางแก้ให้ใช้มาตรา 44 ก็ต้องพิจารณาว่ามาตรา 44 ทำได้เพียงใด ถ้าเราไม่ทำตามกฎหมาย จะมีช่องทางอะไรทำได้บ้าง เดี๋ยวจะมาหาว่าใช้ปาฏิหาริย์กฎหมายอีก” นายพรเพชรกล่าว 
        นายพรเพชรยังยืนยันถึงกระบวนการสรรหา กกต. ชุดใหม่ว่า จะไม่กระทบต่อการเลือกตั้ง เนื่องจากยังมี กกต.ชุดเดิมทำหน้าที่อยู่ ซึ่งจัดการเลือกตั้งได้ แม้จะมี กกต.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ก็สามารถสานงานต่อได้ เพราะเชื่อว่า กกต.ชุดเก่าจะไม่ทิ้งปัญหาอะไรไว้ โดย สนช.นัดลงมติเลือก กกต.ชุดใหม่ในวันที่ 12 ก.ค.นี้
    ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวถึงกำหนดการคลายล็อกพรรคการเมืองนั้น ว่ายังไม่ได้คุยกันใน คสช. ซึ่งเป็นเรื่องมองต่างมุม คสช.มองเรื่องความสงบเรียบร้อย พรรคการเมืองเองก็คงใจร้อน 
    นายมีชัยกล่าวต่อว่า การทำไพรมารีโหวตนั้น กรธ.ไม่ได้ร่าง เพราะมองว่ากลไกที่มีในรัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมแล้ว แต่พอ สนช.แก้ให้มีไพรมารีก็ต้องเดินตาม หากเกิดติดขัดก็ต้องแก้หรือทบทวน เพื่อพยายามทำให้ประชาชนในฐานะสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ถ้าดูตามบทเฉพาะกาลของกฎหมายพรรคการเมืองที่มีคำสั่ง คสช.แก้ไข ก็ผ่อนมาเยอะแล้ว จากทำทุกเขตให้ทำรายจังหวัดแทน  
    “ต้องพูดกันให้ชัดว่าปัญหาจริงๆ แล้วคืออะไร ถ้าทำไม่ทัน ปัญหาก็คือเวลา ที่คอยเร่งรัดอยากให้เลือกตั้งเร็วก็คงทำไม่ได้ ซึ่งหากแก้ก็ต้องดูความเหมาะสม จะใช้วิธีและเวลาแก้กันอย่างไร การใช้มาตรา 44 ก็พยายามใช้เท่าที่จำเป็น” ประธาน กรธ.กล่าว
    นายมีชัยกล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอของพรรคการเมือง 3 ข้อในการทำไพรมารีโหวตนั้น แต่ละข้อเสนอมีความแตกต่างกัน อย่างการเสนอให้ยกเลิกไพรมารีโหวตก็น่าเสียดายที่อุตส่าห์คิดค้นวิธีกันมา ส่วนข้อเสนอให้เลื่อนใช้ไพรมารีโหวตไปคราวหน้า ต้องถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายเช่นกันที่เราจะไม่ได้ทดลอง และข้อเสนอสุดท้ายที่ให้ทำไพรมารีฯ ระดับภาคแทนนั้น คิดว่าเหมือนนำคนกลุ่มเดียวมาทำไพรมารีฯ ซึ่งไม่ได้บอกอะไร เพราะมี 4-5 ภาค แต่ต้องครอบคลุมถึง 76 จังหวัด ดังนั้นต้องกลับมาพิจารณาว่าข้อเสนอใดจะดีที่สุดสำหรับประชาชน
    เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ นายมีชัยกล่าวว่า แก้ไขได้ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ส่วนถึงขนาดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ตอนปี 2540 ได้หรือไม่นั้น ก็ต้องมีกรอบ ไม่ใช่ว่าตั้ง ส.ส.ร.แล้วเอากระดาษเปล่าไป ส่วนจะเกิดอะไรขึ้นข้างหน้าไม่รู้ แบบนี้ไม่ใช่ ขนาดร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ยังมีกรอบ อย่างน้อยที่สุดต้องมีกรอบว่าจะเดินไปทางไหน ไม่ใช่ว่าฉีกอันนี้ทิ้งแล้วเอากระดาษเปล่าสร้างขึ้นมาใหม่ ถามว่ามีอะไรเป็นหลักประกันที่จะไม่นำสิ่งที่ถูกห้ามไปใส่ไว้
    ถามว่า รู้สึกอย่างไรที่พรรคการเมืองจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ นายมีชัยชี้แจงว่า ไม่รู้สึกอะไร เพราะพรรคการเมืองเอาแต่จุดที่ตัวเองไม่ชอบ แต่ในรัฐธรรมนูญมีทั้งที่คนชอบและไม่ชอบ ดังนั้น ถ้าจะเอาแต่ใจลำพังคนเดียวก็ต้องเป็นเผด็จการ ถึงจะทำแบบนั้นได้ ดีไม่ดีเผด็จการยังไม่กล้าทำแบบนั้นด้วยซ้ำไป อย่าลืมว่าหลายเรื่องที่เราไม่ชอบก็มีคนชอบ ขณะที่หลายเรื่องเราชอบก็มีคนไม่ชอบเหมือนกัน 
ซัดยิ่งกว่าเผด็จการ
    "จะเอาอะไรตามใจตัวหรือตามใจเฉพาะบางกลุ่มจึงทำไม่ได้ สิ่งที่ กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญมาก็ไม่ได้ชอบใจหมด แต่เป็นเรื่องที่ต้องแบ่งปันกัน ไม่มีใครได้อะไรทั้งหมด ทั้งนี้ เห็นว่าจะแก้ก็ได้ แต่ต้องมีกรอบ ถ้าฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแล้วบอกว่าที่เหลือจะทำเอง ถามว่าประชาชนอีก 65 ล้านจะรู้ได้อย่างไรว่ารัฐธรรมนูญจะหน้าตาเป็นอย่างไร" นายมีชัยระบุ
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงแนวทางการคลายล็อกให้พรรคการเมืองว่า การดำเนินกิจการของพรรคการเมืองเป็นไปตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องผูกขาดการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ว่าต้องรอให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ก่อน เพราะเรื่องต่างๆ ที่จำเป็น เช่น การหาสมาชิกและการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง หากทำเรื่องเหล่านี้ได้ในช่วงเวลานี้ จะทำให้พรรคการเมืองมีความพร้อมและคลี่คลายปัญหาการจัดทำไพรมารีโหวต เพื่อให้สมาชิกมีส่วนร่วมเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งได้อย่างแท้จริง ควบคู่ไปกับการแบ่งเขตของ กกต. และจะได้ไม่กระทบต่อพระราชพิธีสำคัญในช่วงเวลาข้างหน้า
    "หากต้องการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ คสช.ก็ควรเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองหาสมาชิกพรรคให้ได้มากที่สุด" นายอภิสิทธิ์ระบุ
    ส่วนแนวคิดการทำไพรมารีโหวตที่พรรคการเมืองยังมีความเห็นหลากหลายอยู่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยู่ที่ คสช.เป็นผู้ตัดสินใจ เพราะแนวคิดนี้มาจาก คสช. และ สนช.เพื่อให้สอดคล้องหลักการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ แต่หากไม่เอาระบบไพรมารีโหวต ก็ต้องกำหนดรูปแบบใหม่ ว่าจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมคัดเลือกตัวผู้สมัครอย่างไร 
    ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เท่าที่ฟังผลการหารือเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. จะคลายล็อกระหว่างรอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ 90 วัน ซึ่งพรรคเห็นว่าควรปลดล็อกเพื่อให้ทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองได้แล้ว ไม่ใช่แค่คลายล็อก ไม่เห็นว่าจะมีอะไรกระทบกับความมั่นคง แต่เมื่อ คสช.มีอำนาจจะทำเช่นนี้ ก็สุดแล้วแต่ เราก็ต้องปฏิบัติตาม 
    "ความเห็นของเราคือควรปลดล็อก ไม่ใช่แค่คลายล็อก กรอบเวลาดำเนินการจัดการเลือกตั้ง 150 วันในรัฐธรรมนูญนั้น เท่าที่ศึกษารัฐธรรมนูญหมายความว่าต้องรับรองผลการเลือกตั้งในเวลาดังกล่าวด้วย จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า ตุ๊กตาวันเลือกตั้งที่ออกมานั้น นับรวมเวลาการรับรองผลการเลือกตั้งที่ กกต.ต้องดำเนินการหลังวันเลือกตั้ง 60 วันไว้หรือยัง ตรงนี้ควรออกมาชี้แจงให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้มีการมาตีความในภายหลังอีก" นายชูศักดิ์ระบุ 
    นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พท.กล่าวถึงเรื่องคลายล็อกเช่นกัน ว่าเป็นการฝืนธรรมชาติกระบวนการประชาธิปไตย จะมีปัญหาตามมา เช่น การให้หาสมาชิกปกติต้องมีการชี้แจงบทบาทของสมาชิกที่เปลี่ยนแปลงตามกฎหมายใหม่ แต่ยังห้ามชุมนุมทางการเมืองจะกลายเป็นขัดขืนคำสั่ง คสช.หรือไม่ เมื่อจะแก้ไขคำสั่งที่ 53/2558 จึงต้องเขียนให้ดี อย่าให้มีจุดอ่อน จนมีปัญหาตามมาอีก 
        "ไม่เข้าใจทำไมถึงปลดล็อกเป็นเรื่องๆ กลัวอะไรนักหนา คิดว่าคนที่ทำกฎหมายให้ คสช.ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองในทางปฏิบัติ จึงเกิดปัญหาข้อปฏิบัติกลายเป็นลิงแก้แห การแก้ไขครั้งนี้ควรพิจารณาให้รอบคอบ อย่าให้มีปัญหาในทางปฏิบัติอีก" นายสามารถกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"