ดูเหมือนความชัดเจนเรื่องการ ปฏิรูปวงการสงฆ์ จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้จบเฉพาะการ "จับสึก" พระผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินทอนวัดเท่านั้น
แม้ที่ผ่านมาจะไม่มีใครออกมาให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนในเรื่องนี้ว่าจะทำหรือไม่ แต่การดำเนินการต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการ "ฟื้นฟู" ครั้งใหญ่
ตั้งแต่การที่กองปราบปรามยังคงเดินหน้าตรวจสอบวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ได้กระจุกอยู่เฉพาะ "วัดดัง" แต่เพียงเท่านั้นตามที่ปรากฏเป็นข่าว
นอกจากนี้ยังมีการให้วัดต่างๆ ส่งตัวอย่างการจัดทำบัญชีทรัพย์สินมาให้มหาเถรสมาคม (มส.) หลังจากเกิดกรณีเงินทอนวัดขึ้น
ล่าสุดเขยิบเข้าใกล้เรื่องการบริหารงานในคณะสงฆ์ หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลับมีมติเห็นชอบให้แก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ในประเด็นที่มาและองค์ประกอบมหาเถรสมาคม (มส.) โดยไม่มีการแถลงแต่อย่างใด เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา
โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปเปิดรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งวันนี้ (27 มิ.ย.) คือวันสุดท้ายของการรับฟังความเห็น
ที่น่าสนใจในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่คือ การให้ยกเลิกที่มา และองค์ประกอบของ มส.โดยตำแหน่ง ทั้งยังคงให้มีกรรมการอื่นนอกจากประธานกรรมการในจำนวนเท่าเดิมคือ 20 รูป แต่ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้งจากพระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์
ที่สำคัญคือ ให้คณะกรรมการ มส.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่กฎหมายคณะสงฆ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่บังคับใช้ ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะทรงแต่งตั้งกรรมการ มส.ขึ้นใหม่ตามกฎหมายนี้
เท่ากับว่า เมื่อกฎหมายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ และมีการแต่งตั้ง มส.ชุดใหม่ขึ้นมา เป็นผลให้กรรมการ มส.ชุดเก่าทั้งหมดพ้นสภาพ ยกเว้น สมเด็จพระสังฆราช
การแก้ไขครั้งนี้สอดคล้องกับกระแสเรียกร้องหลังเกิดกรณีเงินทอนวัด โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขโครงสร้าง มส.ที่พุทธศาสนิกชนเรียกร้องให้แก้ไขหรือยุบลง เพราะขนาดกรรมการ มส.บางรูปยังเข้าไปพัวพัน
ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของ มส.ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งมีความพยายามเสนอแนะให้กรรมการ มส.ชุดเก่าลาออกเองโดยความสมัครใจ เพื่อเปิดทางให้ รีเซต
ซึ่งบางส่วนมองว่าโดยความเป็นจริงแล้ว กรรมการ มส.ชุดเก่าควรจะลาออกเองตามมารยาทตั้งแต่มีสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ที่เหมือนเป็นการเปลี่ยนแปลงแผ่นดินของสงฆ์ ดังนั้นควรให้ "สมเด็จพระสังฆราช" ทรงเลือกผู้ปฏิบัติงานด้วยพระองค์เอง แต่กลับพบแต่ความ "นิ่งเฉย"
ขณะที่กรรมการ มส.ชุดเก่า ส่วนใหญ่มีการแต่งตั้งในสมัยที่มีสมเด็จพระพุฒาจารย์ หรือ "สมเด็จเกี่ยว" อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ "สมเด็จช่วง" เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นรักษาการสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งถูกมองว่ามีการแต่งตั้งพระในฝ่ายตัวเองเข้ามาจำนวนมาก ในลักษณะ "เส้นสาย" มากกว่าผลงาน
มาถึงในยุคนี้ พระเหล่านั้นก็ยังมีบทบาทสูงใน มส. ทำให้การดำเนินงานต่างๆ ไม่ง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะบรรดาอดีตพระผู้ใหญ่ที่ต้องคดีเงินทอนวัด และถูกจับสึกในปัจจุบัน
เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น จึงมีการเรียกร้องจากพุทธศาสนิกชนให้เลือกพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มากกว่าจะเลือกตามยศถาบรรดาศักดิ์พระ มาเป็น มส.เพื่อให้พระพุทธศาสนาเข้าที่เข้าทางที่ควรจะเป็น
การแก้ไขครั้งนี้จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่น่าจะเป็นปัญหามากที่สุดมาเป็นอันดับแรกก่อน จากนั้นเมื่อได้ มส.ชุดใหม่ จะเป็นหน้าที่ของ มส.ในการกำหนดวัตรปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ซึ่งถือเป็นสเต็ปต่อไป
เรื่องนี้ไม่ช้าแน่ โดยเฉพาะเรื่องเวลาในการแก้ไขกฎหมาย ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการพิจารณาแบบรวดเร็ว 3 วาระรวดเหมือนครั้งก่อน เพื่อให้กรรมการ มส.ชุดใหม่ได้มาทำหน้าที่ให้เร็วที่สุด
เพื่อให้พร้อมกับงานสำคัญต่างๆ ตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป
จับตาไม่เกินสัปดาห์หน้า บางทีจะเข้าสู่ที่ประชุม สนช.แล้วก็ได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |