"ออม" รองรับสังคมผู้สูงอายุ


เพิ่มเพื่อน    

      “สังคมผู้สูงอายุ : Aging Society” เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชากรในวัยแรกเกิด และวัยแรงงานของไทยไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก สวนทางประชากรสูงอายุที่กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงกลายเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสนใจเรื่องนี้เพิ่มขึ้น เพราะอาจส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้แรงงานเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน

        ทั้งนี้ จากข้อมูลของวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในปี 2560 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 11.7 ล้านคน หรือคิดเป็น 16.9% และพบว่าแนวโน้มประเทศไทยจะมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย โดยคาดการณ์ว่าในปี 2564 จะเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ โดยจะมีประชากรผู้สูงอายุทั้งสิ้น 13.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่คาดว่าในปี 2578 ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยที่สุด โดยจะมีประชากรสูงวัยอยู่ที่ 20.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 30% ของประชากรทั้งหมด

        จากตัวเลขดังกล่าว สะท้อนว่าในปี 2578 ไทยมีประชากรสูงวัยจำนวนมาก เป็นรองเพียงญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน และเมื่อดูในรายละเอียดต่อๆ มาจะพบว่า ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้นที่มีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเช่นเดียวกัน ทั้งเวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และกัมพูชา เป็นต้น

        และไม่เพียงประชากรไทยจะสูงวัยเพิ่มขึ้น แต่ยังพบว่าประชากรสูงอายุยังสูงวัยเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยจากข้อมูลในปี 2560 ประชากรอายุ 80 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 1.66 ล้านคน หรือคิดเป็น 14.2% ของประชากรสูงอายุนั้นจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 ไทยจะมีประชากรอายุ 80 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็น 2.04 ล้านคน และในปี 2570 จะเพิ่มเป็น 2.44 ล้านคน ขณะที่ปี 2575 จะเพิ่มเป็น 3.05 ล้านคน และในปี 2580 ไทยจะมีประชากรอายุ 80 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 3.97 ล้านคน หรือคิดเป็น 18.4% ของประชากรสูงอายุนั่นเอง

        ขณะที่สัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยภายในปี 2578 คาดว่าประชากรในช่วงอายุ 0-14 ปี จะเหลือเพียง 13.6% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ขณะที่ประชากรในช่วงอายุ 15-59 ปี จะลดลงมาอยู่ที่ 56.2% ส่วนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะมีทิศทางเพิ่มขึ้นเป็น 30.2% ของประชากรทั้งหมด

        ข้อมูลที่น่าสนใจเหล่านี้ อาจถือเป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าจะบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างไร ทั้งในเรื่องการพัฒนาระบบต่างๆ ให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของประชากร ระบบหลักประกันรายได้ที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม และลดความเหลื่อมล้ำ การลดความเสี่ยงของแต่ละระบบและคำนึงถึงภาระการคลัง ไปจนถึงการดึงภาคเอกชน ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับเรื่องดังกล่าวได้อย่างไร

        เชื่อว่ารัฐบาลมองเห็นภาพแนวโน้มประชากรในวัยต่างๆ  ของไทยในอนาคตแล้ว และทางหนึ่งที่รัฐบาลพยายามผลักดันเพื่อรองรับผลในระยะยาว คือ “สนับสนุนการออม” ทั้งการสร้างความรู้ ความเข้าใจ เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงการออมผ่านเครื่องมือที่ทันสมัยต่างๆ สนับสนุนให้เกิดการออมในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป และกระตุ้นให้เกิดการออมตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะการเริ่มออมตั้งแต่อายุยังน้อยจะช่วยให้มีเงินเพียงพอที่จะใช้ในวัยเกษียณนั่นเอง

        โดยการดำเนินการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน ด้านหลักประกันรายได้ยามชราภาพ ด้วยการส่งเสริมแรงงานนอกระบบให้เห็นความสำคัญของการออมเพื่อใช้ยามชรา และสนับสนุนให้เข้าถึงช่องทางการออมที่เหมาะสม โดยแรงงานในระบบและนอกระบบควรมีการออมเพิ่มเติมระหว่างวัยทำงานเพื่อให้มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณ ประมาณ 50-60% ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย

        สำหรับช่องทางการออมในปัจจุบัน มีค่อนข้างหลากหลาย ทั้งการออมกับภาครัฐ ภาคเอกชน การออมแบบภาคบังคับ หรือภาคสมัครใจ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพียงแต่ให้ประชาชนรู้จักการออม ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการจัดสรรงบประมาณดูแลประชากรผู้สูงอายุที่กำลังจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง.

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"