"ประยุทธ์" ชวนนักธุรกิจฝรั่งเศสลงทุนสร้างพื้นฐานในไทย โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงท่าอากาศยาน 3 แห่ง โวยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เกิดครั้งแรกประวัติศาสตร์ไทย มีแผนระยะยาวครอบคลุมหลายมิติ ทั้งปฏิรูปการเมือง- เศรษฐกิจ-สังคม หวังให้เห็นผลก่อนเลือกตั้งต้นปีหน้าตามโรดแมป เพื่อเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน พร้อมส่งมอบภารกิจรัฐบาลต่อไป
เมื่อวันจันทร์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยรายงานภารกิจการเดินทางเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศสของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน ว่าช่วงเช้าวัน 25 มิ.ย. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเดินทางเยือนฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีได้พบปะหารือกับผู้บริหารระดับสูงบริษัท Transdev และ SNCF และบริษัท VINCI Concession ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของฝรั่งเศสในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมความสำเร็จของทั้ง 2 บริษัท ในการพัฒนาระบบเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมในฝรั่งเศสและยุโรป ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการเชื่อมโยงภายในและระหว่างประเทศของไทย เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาค ซึ่งที่ตั้งของไทยมีความเหมาะสมในการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียน และยินดีที่ทราบว่าเอกชนฝรั่งเศสหลายราย แสดงความสนใจเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศไทย ตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 รวมถึงการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงท่าอากาศยาน 3 แห่ง
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังหวังว่า บริษัททั้ง 2 จะสนใจใน ACMECS MASTER PLAN ที่ที่ประชุม ACMECS SUMMIT ครั้งที่ 8 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของไทย และจะเข้ามามีส่วนในการพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาคนี้ โดยบริษัทฝรั่งเศสที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทย สามารถหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้ ทั้งบีโอไอ สำนักงานอีอีซี รวมถึงองค์กรภาคเอกชนต่างๆ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการค้าและการลงทุน และเปิดโอกาสให้เอกชนทุกบริษัทจากทุกประเทศเข้ามาลงทุนได้อย่างเท่าเทียมกัน เชื่อว่า โครงการต่างๆ ที่เอกชนฝรั่งเศสจะไปลงทุน จะมีความยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้พบปะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมิชลิน ซึ่งมีโรงงานผลิตยางที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอยู่ที่เมืองไทย และยังใช้น้ำยางพาราของไทยมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แสดงความชื่นชมที่มีส่วนช่วยเหลือเกษรตรกรไทยมาอย่างยาวนาน และถือเป็นการลงทุนที่ยั่งยืน พร้อมกับ ขอบคุณที่บริษัทแสดงความสนใจที่จะมาลงทุนในโครงการเมืองยางพารา (Rubber City) ของไทย ซึ่งขณะนี้มีจีนและมาเลเซียแสดงความสนใจเช่นเดียวกัน
และบริษัทสุดท้ายที่เข้าพบนายกรัฐมนตรี วันนี้ คือบริษัท SUEZ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านบริการจัดการน้ำ และการบำบัดน้ำเสีย รวมถึงให้คำปรึกษาการวางแผนเมือง
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่แซร์กเลอ เดอ ลูนิยง แองแตร์อัลลิเย กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดงานสัมมนา Thailand Business Forum ซึ่งจัดโดยสภานายจ้างฝรั่งเศส MEDEF International ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ, นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์, นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม, นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ร่วมด้วย
นายกฯ กล่าวว่า ในปี 2017 การลงทุนจากฝรั่งเศสจัดอยู่ในอันดับที่ 4 ของการลงทุนจากยุโรป โดยมีการลงทุนในกิจการที่สำคัญอย่างการวิจัยและพัฒนาด้วย ซึ่งการลงทุนเหล่านี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทย ที่ต้องการพัฒนาประเทศไทยในด้านเศรษฐกิจฐานความรู้ เพื่อให้ประเทศสามารถพัฒนานวัตกรรมในการยกระดับศักยภาพทางการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้ดีขึ้น ซึ่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2017 อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ที่ร้อยละ 3.9 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2018 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 4.8 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปีจากภาวะการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าปี 2018 ทั้งปีเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ที่ร้อยละ 4.2-4.7
ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลประกาศใช้นโยบายประเทศไทย 4.0 ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการเติบโตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้ประกาศอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแพทย์ เคมีและปิโตรเคมีชีวภาพ และดิจิทัล เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน และสนับสนุนการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ
"สำหรับกรอบของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย มีแผนพัฒนาประเทศระยะยาว ที่ครอบคลุมการพัฒนาในหลายมิติ รวมถึงมีแผนการปฏิรูปด้านโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ของประเทศ เช่น รถไฟความเร็วสูง ทางด่วน และระบบขนส่งสาธารณะแบบราง การขยายท่าเรือ สนามบิน และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงความเจริญเติบโตเข้าไปยังพื้นที่ชุมชนและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ"
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญแก่การพัฒนาคนเป็นลำดับแรก เพราะการพัฒนาประเทศ ต้องการทุนมนุษย์ที่เข้มแข็ง พร้อมๆ ไปกับการสร้างกลไกให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคน วางรากฐานและมีบทบาทเชื่อมโยงกับภาคการศึกษามากขึ้น เปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาได้รับประสบการณ์จริงจากการทำงานในสถานประกอบการ โดยเฉพาะระบบ co-operative education เพื่อเตรียมบุคลากรให้มีความพร้อมสำหรับที่จะรองรับการลงทุนของประเทศและนักลงทุนที่สนใจเช่นท่านทั้งหลาย
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้กำหนดให้พื้นที่สามจังหวัดในภาคตะวันออกของไทย เป็นพื้นที่พิเศษที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแห่งภูมิภาค ให้การพัฒนาอีอีซีเป็นโครงการนำร่องสำคัญของรัฐบาลที่จะขยายต่อยอดไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อกระจายความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ออกไปทั่วประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญใจกลางอาเซียน เป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศอาเซียนบนภาคพื้นทวีป ที่มีประชากรรวมเกินกว่า 230 ล้านคน และไทยยังจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน และนโยบาย Thailand + 1 เน้นเศรษฐกิจเสรี เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ และการมีส่วนร่วมของนานาชาติ จึงเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนและสร้างฐานการผลิตในไทย เพื่อตอบสนองความต้องการในภูมิภาคที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
“ขอเชิญชวนนักลงทุนจากสาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ด้วยรัฐบาลนี้มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปประเทศไทยในทุกมิติ โดยการปฏิรูประบบราชการและการอำนวยความสะดวกนั้นเป็นหนึ่งใน 5 เรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการให้เห็นผลก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในต้นปีหน้าตามโรดแมป 3 ระยะ สู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ประเทศไทยกำลังอยู่ช่วงท้ายของระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการปฏิรูปทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับระยะที่ 3 นั่นคือการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตย และส่งมอบภารกิจให้แก่รัฐบาลชุดต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
สำหรับสภานายจ้างฝรั่งเศส เป็นสมาพันธ์นายจ้างที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส และมีความร่วมมือกับบริษัทไทยและประเทศไทยมากว่า 25 ปี โดยสาขาที่บริษัทภายใต้สภานายจ้างฝรั่งเศสสนใจขยายการลงทุนในไทยมากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ ได้แก่ Michelin อุตสาหกรรมอากาศยาน ได้แก่ Airbus อุตสาหกรรมพลังงาน ได้แก่ Engie, Suez อุตสาหกรรมโครงสร้างสาธารณูปโภคและระบบขนส่ง ได้แก่ EGIS, ETF, Fives, Groupe Institut de Soudure, RATP Developpement, SNCF การธนาคาร ได้แก่ Euler Hermes Services อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ Sanofi Pasteur และอุตสาหกรรมอาวุธยุทโธปกรณ์ ได้แก่ Thales
เวลา 12.30 น. นายฟรองซัวส์ กอร์แบง ประธานสภาฝรั่งเศส-ไทย ภายใต้สภานายจ้างฝรั่งเศส และประธานบริษัทภาคเอกชนสำคัญของสาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและคณะ
ช่วงบ่าย เวลา 15.00 น. นายกรัฐมนตรีเข้าเยี่ยมคารวะและพบหารือกับนายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ณ ทำเนียบประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีแลกเปลี่ยนความตกลงสัญญากรอบการร่วมทุน (Joint Venture Company Principles Agreement) ระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กับบริษัท Airbus Commercial Aircraft และสัญญาซื้อขายดาวเทียมธีออส 2 (THEOS II) ระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)-(GISTDA) กับบริษัท Airbus Defence & Space SAS.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |