ครม.หนุนคนไทยมีลูก 2 คนขึ้นไป สั่งเพิ่มลดหย่อนภาษีอีก 3 หมื่นบาทต่อคนต่อปี ให้ค่าฝากครรภ์-ทำคลอดอีก 6 หมื่นบาทต่อคนต่อปี ยอมเฉือนรายได้ 2.5 พันล้าน หวังช่วยสร้างสมดุลประชากรในประเทศ รองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุ ส่วนการบริจาคโรงพยาบาลลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 2 เท่า
เมื่อวันอังคาร นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรองรับโครงสร้างประชากรของประเทศที่ปรับเปลี่ยนเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ เพื่อให้โครงสร้างประชากรในภาพรวมของประเทศมีความสมดุลและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตรนั้น ได้กำหนดให้มีการปรับเพิ่มการลดหย่อนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่คนที่ 2 เป็นต้นไป ของผู้มีเงินได้ หรือของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ซึ่งไม่ว่าบุตรคนก่อนหน้าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ ให้หักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มอีก 30,000 บาทต่อคนต่อปีภาษี และให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี 2561 ที่จะต้องยื่นรายการในปี 2562 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสสามารถนำค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตรไปหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริงสำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราว แต่ไม่เกิน 60,000 บาท หากการจ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรเกิน 1 ปีภาษี ให้หักลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท สำหรับการฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2561 เป็นต้นไป
โดยกระทรวงการคลังคาดว่ามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตรนั้น จะทำให้สูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 2,500 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นค่าหักลดหย่อนภาษี ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปี และค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี
นายณัฐพรกล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นสวัสดิการของลูกจ้างสำหรับสถานประกอบการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยได้กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กดังกล่าว มาหักเป็นรายจ่ายได้ตามที่จ่ายจริง และสามารถหักได้เพิ่มอีก 1 เท่าตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561-31 ธ.ค. 2563 และค่าใช้จ่ายที่นำมาหักเป็นรายจ่ายได้จะต้องมีลักษณะและคุณสมบัติในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2560
โดยนายจ้างหรือผู้รับมอบหมายจากนายจ้างต้องได้รับใบประกาศการจัดให้มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นของของมนุษย์จังหวัด คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี หรือไม่เกิน 60 ล้านบาทในช่วง 3 ปี
นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่สถานพยาบาลตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 โดยกำหนดให้บุคคลธรรมดาที่มีรายจ่ายจากการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สถานพยาบาล สามารถหักลดหย่อนภาษีได้เป็นจำนวน 2 เท่าของเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกิน 20% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว
ส่วนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้หักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของการบริจาค ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา และรายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างและบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไปโดยไม่เก็บค่าบริการใดๆ ต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อสาธารณประโยชน์.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |