ครึ่งปีแรกของปี 61 กำลังจะหมดไป เรียกได้ว่าตลาดหุ้นไทยผันผวนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้ายในเดือน มิ.ย. เพราะเจอปัจจัยกดดันจากต่างประเทศกระหน่ำเข้ามากดดัน ทำให้ดัชนีหุ้นไทยหลุด 1,700 จุด อีกทั้งกระแสเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ ก็ไหลออกจนทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ลดลงอยู่ที่ประมาณ 16.5 ล้านล้านบาท จากเดือน ม.ค.61 อยู่ที่ 18 ล้านล้านบาท เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเทขายรับเงินสด เพื่อรอจังหวะลงทุนใหม่อีกครั้ง
โดยในช่วงเดือน มิ.ย. ประเด็นสำคัญหลักๆ ที่เข้ามากดดันบรรยากาศการลงทุนทั้งของไทยและทั่วโลก คงหนีไม่พ้นสงครามการค้าสหรัฐกับจีน ที่มีความเข้มข้นขึ้นจากการตอบโตกันไป-มา หลังจากก่อนหน้านี้สหรัฐประกาศเก็บภาษีนำเข้าจากจีน วงเงิน 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และจีนประกาศตอบโต้คืนทันทีในมูลค่าที่เท่ากัน และล่าสุดทางสหรัฐได้พยายามจะจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มในอัตรา 10% วงเงิน 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ทั่วโลกเกิดความกังวลว่าจะกระทบกับเศรษฐกิจโลกได้
ทาง บล.เอเซียพลัส จำกัด ระบุว่า การไหลออกของเงินทุนต่างชาติมาจากกลไกเรื่องส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีอยู่เป็นทุนเดิม ถูกกระตุ้นให้รุนแรงยิ่งขึ้นด้วยความกังวลในเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับอีกหลายประเทศ ทําให้การไหลออกของเงินทุนต่างชาติมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยในส่วนของตลาดหุ้น พบว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิจากต้นปีถึงปัจจุบัน 175,000 ล้านบาท แยกเป็นการขายในช่วงเดือน มิ.ย. กว่า 44,000 ล้านบาท ซึ่งซื้อสุทธิเพียงพียงวันเดียวคือ 1 มิ.ย.61 มูลค่า 135 ล้านบาท
ขณะที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ เป็นกลุ่มเดียวที่ซื้อสุทธิมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าแรงซื้อเริ่มอ่อนลง โดยเดือน มิ.ย. ซื้อสุทธิประมาณ 21,000 ล้านบาท ด้วยภาพแรงขายที่แรงขึ้น แต่แรงซื้อเบาลง ทำให้ดัชนีหุ้นไทยย่อตัวลงมาอย่างมีนัยสำคัญ หากพิจารณาในมุมของปัจจัยพื้นฐาน กลับเห็นพัฒนาการเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจโดยภาพรวม และฐานะของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่แข็งแกร่ง
นอกจากสงครามการค้าที่คอยเป็นปัจจัยกดดันแล้ว ก่อนหน้านี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และส่งสัญญาณปรับขึ้นอีก 2 ครั้ง ทำให้ปีนี้ปรับขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง ก็สร้างความผันผวนต่อตลาดหุ้นไม่น้อย ถึงแม้จะตอบรับข่าวไปบ้างแล้วก็ตาม ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลก ต่างเริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.61 ก็ถูกจับตาว่าจะมีแนวโน้มปรับขึ้นหรือไม่
ซึ่งผลออกมาไม่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ แต่ที่ออกมาผิดคาด คือ การแตกเสียงในที่ประชุม โดยมีมติ 5 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ต่อปี และ 1 เสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.5% เป็น 1.75% ต่อปี เนื่องจากเห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอ และภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เพื่อเริ่มสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินสำหรับอนาคต
นอกจากนี้ บล.เอเซียพลัส ยังมองว่า กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 4/61 โดยเริ่มจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับสหรัฐที่กว้างมากขึ้น ซึ่งสหรัฐอยู่ที่ 1.75% และกำลังเพิ่มขึ้นเป็น 2-2.25% ในสิ้นปี ตามด้วยทิศทางของเงินเฟ้อในไทย ที่ตัวเลขในเดือน พ.ค.61 อยู่ที่ 1.49% มีแนวโน้มขึ้นไปเหนืออัตราดอกเบี้ยนโยบาย และหุ้นปลอดภัยจากดอกเบี้ยขาขึ้น คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ จากโครงสร้างสินเชื่อกว่า 70% เป็นดอกเบี้ยลอยตัว เป็นบวกต่อรายได้ดอกเบี้ยรับ ด้านสัดส่วนเงินฝากกว่า 50% เป็นดอกเบี้ยคงที่ ส่งผลดีต่อการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ย
ถึงแม้หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะยังมีแรงกดดันจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งในไตรมาส 2/61 จะได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ แต่ด้วยแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น จะช่วยเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ได้แน่นอน.
ปฏิญญา มั่งคั่ง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |