โทษประหารเจ็ดชั่วโคตร


เพิ่มเพื่อน    

            

ประเด็นถกเถียงรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา คือการประหารชีวิตนักโทษในประเทศไทย หลังไม่มีการประหารมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ แอมเนสตี้ ประเทศไทยออกแถลงการณ์คัดค้าน รวมถึงประจานประเทศไทยไปทั่วโลกว่าล้าหลัง มีการเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษประณามไทยขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  เดินทางไปลอนดอนและพบปะกับนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ 

โทษประหารชีวิตควรมีหรือควรยกเลิกเป็นเรื่องของอนาคต แต่ในอดีตนั้นการประหารชีวิตมีอยู่ทั่วโลกไม่เว้นยุโรป ซึ่งปัจจุบันได้ยกเลิกไปหมดแล้ว ต่างจากฝรั่งอเมริกายังคงมีอยู่ใน ๓๒ รัฐ ซึ่งจะว่าไปแล้วกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐนั้นเข้มข้นและเด็ดขาดกว่าฝั่งยุโรปมาก เราเห็นผู้ต้องหาถูกจับใส่กุญแจมือหรือมีการวิสามัญกันบ่อยๆ ซึ่งมักไม่เกิดในยุโรป

ยุโรปเป็นจุดเริ่มต้นยกเลิกโทษประหารชีวิต เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติ French Revolution of 1848 แต่มีการถกเถียงเรื่องความชอบธรรมของโทษประหารกันจริงจังตั้งแต่หลังสงครามโลกทั้ง ๒ ครั้ง โดยนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสได้แก่ Albert Camus กับ Jean-Paul Sartre และแพทย์เยอรมันคือ Albert  Schweitzer เขียนบทความและพูดคุยเสนอแนวทางความคิดต่อสาธารณชน 

จนเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว นักโทษประหารคนสุดท้ายของยุโรปตะวันตกที่ถูกประหารด้วยกิโยตีน มีพยานรับรู้และบอกเล่าถึงโมงยามสุดท้ายของนักโทษ

ฮามิดา ฌองดูบี เสียชีวิตในตอนเช้ามืดของวันที่ ๑๐ กันยายน ๑๙๗๗ เล่ากันว่าถึงแม้ศีรษะของเขาจะหลุดจากบ่าแล้ว เขายังสามารถขยับปากพูดได้อีก ๓๐ วินาที แต่นั่นน่าจะเป็นเรื่องเล่าลือกันมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง ฌองดูบีคือนักโทษคนสุดท้ายในยุโรปตะวันตกที่ถูกประหารด้วยกิโยตีน

ขณะที่นักโทษประหารที่มีสถานะสูงสุดได้แก่ พระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ทรงถูกประหารโดยการตัดพระเศียรด้วยข้อหากบฏ ทุรยศต่อแผ่นดิน

สำหรับประเทศไทยในอดีตมีการประหารกันถึงเจ็ดชั่วโคตร โดยราชบัณฑิตยสถานอธิบายถึงวิธีการนับ "เจ็ดชั่วโคตร" ว่านับกันอย่างไร คนไทยส่วนใหญ่คงเคยได้ยินวลี "เจ็ดชั่วโคตร" กันมาบ้างแล้ว  เพราะคนเฒ่าคนแก่มักจะพูดถึงการประหารเจ็ดชั่วโคตร คนรุ่นใหม่บางส่วนอาจจะไม่เคยรู้ว่าเจ็ดชั่วโคตรคืออะไร หรือมีที่มาจากอะไร วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับวลี "เจ็ดชั่วโคตร" กัน

เจ็ดชั่วโคตร ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ระบุว่าหมายถึง วงศ์สกุลที่สืบสายโลหิตซึ่งนับตั้งแต่ตัวเองขึ้นไป ๓ ชั้น คือ ชั้นพ่อ ชั้นปู่ และชั้นทวด กับนับจากตัวเองลงมาอีก ๓  ชั้น คือ ชั้นลูก ชั้นหลาน และชั้นเหลน รวมเป็นเจ็ดชั่วโคตร ไม่นับผู้หญิงรวมด้วย

คำว่าเจ็ดชั่วโคตรมีปรากฏใน พระไอยการกระบดศึก กฎหมายตราสามดวง ซึ่งกล่าวถึงโทษของผู้เป็นกบฏต่อแผ่นดิน หรือปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ หรือเอาใจออกหากเข้ากับฝ่ายศัตรู หรือกระทำการเป็นไส้ศึก ต้องมีโทษ ๓ สถาน คือ (๑) ริบราชบาตรแล้วให้ประหารให้สิ้นทั้งโคตร (๒) ริบราชบาตรแล้วให้ประหารเจ็ดชั่วโคตร (๓) ริบราชบาตรแล้วให้ประหารผู้กระทำผิด 

ส่วนโคตรที่เหลือนั้นอย่าให้เลี้ยงไว้ ในพระไอยการกระบดศึก คำนี้เขียนว่า "๗ ชั่วโคต" ในโทษสถานแรกนั้นที่ให้ประหารให้สิ้นทั้งโคตร คือ ต้องประหารหมดทั้งสกุล ไม่ว่าจะมีกี่ชั่วโคตรหรือมีกี่ชั้นก็ตาม 

ส่วนโทษสถานที่ ๒ นั้นเป็นการประหารเจ็ดชั่วโคตร ถ้าตามความหมายในพจนานุกรมคือ นับจากตัวผู้กระทำผิดขึ้นไปหรือลงมาให้ครบ ๗ ชั่วโคตร คือครบ ๗ ชั้น เช่น พ่อ ปู่ ทวด ๓ ชั้น กับลูก หลาน  เหลน ๓ ชั้น รวมกับตัวผู้กระทำผิดเป็น ๗ ชั้น  

แต่ก็มีข้อสันนิษฐานว่า ถ้านับลงมาจากตัวมีแค่ ๒ ชั้น คือ ลูกและหลาน ยังไม่มีเหลน ก็อาจจะต้องนับขึ้นไปจากตัวอีก ๔ ชั้น เมื่อรวมกับตัวผู้กระทำผิดแล้วก็จะครบ ๗ ชั้น คือเจ็ดชั่วโคตร ส่วนที่ไม่นับผู้หญิงรวมด้วยนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากการที่ผู้หญิงจะถูกริบเป็นราชบาตรพร้อมกับทรัพย์สินของผู้กระทำผิดก็เป็นได้

การปกครองบ้านเมืองของไทยสมัยโบราณ นับเวลาที่สามารถสืบค้นได้พบว่าเริ่มมีกฎหมายที่ใช้กันในสมัยนั้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นต้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ นับเป็นบทลงโทษที่น่ากลัว และหวาดเสียว สยดสยองมาก โดยทำเอานักโทษกินไม่ได้นอนไม่หลับเลยทีเดียว กฎการประหารฆ่าเจ็ดชั่วโคตร นั้น สืบเนื่องจากการบัญญัติไว้ในกฎมนเทียรบาล และกฎหมายที่เกี่ยวกับลักษณะกบฏศึก เป็นการนำมาใช้กับคนหรือพวกที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อบ้านเมือง บุคคลประเภทนี้ถือว่าเป็นกบฏต้องถูกประหารชีวิต การลงโทษนั้นไม่ลงโทษเพียงผู้ทำผิดเท่านั้น แต่ต้องรับโทษร่วมกันถึงลูก เมีย หลาน ปู่ ย่า ตา ยาย ที่เรียกกันว่าฆ่ากันทั้งโคตร หรือฆ่าเจ็ดชั่วโคตร การนับชั่วโคตรนั้นก็นับจากทั้งตระกูลฝ่ายชายและฝ่ายหญิง  โดยต้องฆ่าให้ครบทุกเครือญาติ 

ครบเครือญาติ หมายถึง ๑.นักโทษ และเมีย ๒.ลูก ๓.หลาน ๔.เหลน ๕.พ่อ แม่ ๖.ปู่ ย่า ตา ยาย  ๗.ทวด

กฎมนเทียรบาลที่เกี่ยวข้องกับการลงโทษสมัยโบราณพอที่จะค้นพบได้ มีดังนี้

๑.ถ้าพระมหากษัตริย์เสด็จประพาสทางเรือ ห้ามทำเรือล่ม เรือเอียง อย่าทำให้ตกเรือ ถ้าตกเรือให้ให้ช่วยที่รอดพ้นจากอันตราย หรือใช้ไม้หรืออุปกรณ์อื่นๆ ช่วยให้พ้นอันตราย หรือไม่ก็โยนลูกมะพร้าวให้เกาะ ถ้าช่วยให้รอดจากอันตรายได้ให้พ้นโทษ หรือถ้าผู้ที่โยนลูกมะพร้าวให้เกาะจนรอดพ้นการจมน้ำนั้น ให้ตกรางวัลเป็นเงินสิบตำลึง พร้อมขันทองคำหนึ่งใบ

๒.ถ้าเสด็จทรงม้าหรือทรงช้าง การทรงช้างให้พลช้างทำขื่อคาใส่คอช้าง ทำเฉลียงที่ประทับบนหลังช้างให้มั่นคง ถ้าช้างพยศให้บังคับให้เชื่องพยายามระวังอย่าให้เกิดอันตราย ถ้าพระที่นั่งเสียหาย หรือพระราชาเป็นอันตรายพลช้างต้องรับโทษให้ฆ่าเสียทั้งโคตร

๓.ถ้ารับนางสนมเข้ามาในวัง ตำรวจผู้มีหน้าที่ขานขันหมาก ต้องร้องแห่ขันหมาก ถ้าไม่ร้องแห่ขันหมากตามหน้าที่ต้องรับโทษแหวะปาก หรือมีพระราชพิธีต้อนรับแขกต่างเมือง ขณะแขกเมืองเข้ามาถวายบังคม ต้องร้องรับพิธี หากบกพร่องต่อหน้าที่ให้ฆ่าเสียทั้งโคตร

ทั้งหมดนี้นำมากล่าวเฉพาะบางส่วนที่น่าสนใจ เป็นบทลงโทษที่รุนแรง เพื่อเป็นคติเตือนใจอนุชนคนรุ่นปัจจุบัน ให้สำนึกตนว่าควรปฏิบัติตัวกันอย่างไร ถ้าเกิดในยุคนั้นต้องรับโทษกฎมนเทียรบาลกันอ่วมอรทัย 

ยุคนั้นนอกจากมีกฎมนเทียรบาลแล้ว ยังมีกฎหมายที่บัญญัติไว้อีก เรียกว่า ลักษณะกบฏศึก เป็นบทลงโทษผู้ที่ทำตัวไม่ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินและสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการกระทำผิดกฎมนเทียรบาลนั้น ขอยกตัวอย่างที่สำคัญ ๔ กรณี ดังนี้

กฎหมายข้อที่ ๑

กรณีที่ ๑ ผู้ใดมีจิตใจมักใหญ่ ใฝ่สูง เกินตัว ทำการคบคิด ทำการกบฏ ประทุษร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ทำร้ายพระองค์ด้วยยาพา ทำร้ายด้วยอาวุธ จนสิ้นพระชนม์

กรณีที่ ๒ พระเจ้าอยู่หัวโปรดปรานผู้ใด จนแต่งตั้งไปปกครองเมืองหน้าด่าน หรือประเทศราช แล้วไม่ใส่ใจนำเครื่องราชบรรณาการ เป็นข้าวของ ทอง อาหาร เสบียง มาถวายเป็นประจำ ทุกปี ถือว่าเอาใจออกห่าง ถือเป็นกบฏเมือง 

กรณีที่ ๓ ผู้ใดมีจิตใจฝักใฝ่ เอาใจศัตรู ข้าศึก ร่วมสมคบกับข้าศึก นำทัพมาเบียดเบียนนคร

กรณีที่ ๔ ผู้ใดนำความลับของบ้านเมืองไปบอกข้าศึก ทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง

ความผิดทั้ง ๔ กรณีข้างต้นนี้ถือว่าเป็นความผิดที่รุนแรง ขั้นอุกฤษฏ์ หนักที่ร้ายแรงให้อภัยไม่ได้  โทษสถานเดียวคือประหารชีวิต ก่อนตายต้องรับโทษโดยแยกเป็น ๓ ส่วน

ส่วนที่ ๑ ให้ริบทรัพย์สิน ข้า ทาส บริวาร ไร่ นา ให้สิ้น แล้วจับไปฆ่าเสียทั้งโคตร

ส่วนที่ ๒ ให้ริบทรัพย์สิน ข้า ทาส บริวาร ไร่ นา ให้สิ้น แล้วจับไปฆ่าเสียทั้ง เจ็ดโคตร ชั่วโคตร 

การประหารชีวิตนั้นต้องทรมานให้ครบ ๗ วันถึงปล่อยให้ตาย โดยถ้าไม่ครบ ๗ วันห้ามทำให้ตาย  ขณะทำการทรมานให้ตายนั้น อย่าให้เลือดหรือเศษอวัยวะส่วนใดตกลงพื้นดิน ทำให้เป็นเสนียดแก่แผ่นดิน หลังจากทรมานจนตายแล้ว ให้ใช้ผ้าห่อน้ำเลือด น้ำหนอง และอวัยวะต่างๆ ที่เป็นซากศพใส่แพ ปล่อยให้ลอยไปตามกระแสน้ำ

กฎหมายข้อที่ ๒

พระเจ้าอยู่หัวทรงเลี้ยงดู โปรดปราน แล้วประทาน ยศ ศักดิ์ ให้ตำแหน่ง แต่ภายหลังมีจิตใจ คิดการใหญ่ ใฝ่สูง เกินศักดิ์ ยกทัพเข้ายึดเมือง กระทำการประทุษร้ายพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ ต้องมีโทษหนัก ให้ฆ่าทั้งโคตร

กฎหมายข้อที่ ๓ 

บุคคลใดพระเจ้าอยู่หัวแต่งตั้งให้มียศ ตำแหน่ง เป็นนายหมู่ นายกอง นายหมวด เป็นข้าราชการ รับใช้บ้านเมือง ถึงเวลามีภัย ข้าศึกมาประชิดเมือง บ้านเมืองระส่ำระสาย แต่ไม่ยอมช่วยราชการบ้านเมือง กลับพาครอบครัว ญาติมิตรไปยอมเข้ากับข้าศึก หรือแอบหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า ในถ้ำ เวลาภัยมา หนีเอาตัวรอด นั้นท่านว่าเป็นกบฏ กฎหมายว่าให้ฆ่าเสียทั้งโคตร เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

มาตราหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวเลี้ยงดูโปรดปรานและประทาน ยศศักดิ์ มีตำแหน่ง แต่มีจิตใจคิดการใหญ่  ใฝ่เกินศักดิ์ยกทัพมายึดเมือง กระทำการประทุษร้ายพระเจ้าอยู่หัวและราชวงศ์ มีโทษหนักให้ฆ่าเสียทั้งโคตร

มาตราหนึ่ง บุคคลใดพระเจ้าอยู่หัวแต่งตั้งให้มียศมีตำแหน่งเป็น นายหมู่ นายหมวด นายกอง เป็นทหารถ้าเกิดมีภัยสงครามเข้ามาประชิดเมืองแล้วไม่ยอมช่วยราชการบ้านเมือง พาครอบครัวญาติมิตรไปสวามิภักดิ์ต่อข้าศึกก็ดี หลบซ่อนตัวอยู่ในป่าในถ้ำหนีภัยเอาตัวรอดนั้น ท่านว่าเป็นกบฏ กฎหมายว่าให้ฆ่าเสียทั้งโคตรเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป. 

cr:วิกิพีเดีย,ศิลปวัฒนธรรม


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"