จัดการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ที่ศูนย์การประชุมนานาชาติเมียนมา ณ กรุงเนปยีดอ
การเดินทางของคณะนาฏศิลป์ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ไปสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ตามเส้นทางฉลองครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เมียนมา ณ เมืองย่างกุ้ง เนปยีดอ และมัณฑะเลย์ ชวนให้รำลึกถึงเมื่อ 20 ปีก่อนที่ไทยและเมียนมามีความสัมพันธ์อันดี ทำความตกลงทางวัฒนธรรมระหว่างกัน มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ร่วมกันบูรณะโบราณสถาน ตลอดจนประชาชนทั้งสองประเทศไปมาหาสู่ผ่านพรมแดนที่ติดต่อกันกว่า 2,000 กิโลเมตร
หากมองวัฒนธรรมสองประเทศมีความคล้ายคลึงกัน ทั้งขนบธรรมเนียม ประเพณี ภาษา และคนส่วนใหญ่ของประเทศก็นับถือศาสนาพุทธเหมือนกัน รวมถึงการแสดงหน้ากาก ซึ่งไทย-เมียนมาต่างมีการแสดงหน้ากากที่งดงามและสืบทอดจนปัจจุบัน สำหรับการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ กระชับไมตรีให้แน่นแฟ้นครั้งนี้ ไม่ได้มีแต่เพียงคณะโขนไทยเท่านั้น แต่ยังมีคณะนักแสดง กระทรวงศาสนาและวัฒนธรรม เมียนมา ร่วมแสดงด้วย ทุกเมืองที่เปิดม่านแสดงดึงดูดผู้ชมจำนวนมาก ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ไทย-เมียนมาเรียนรู้มรดกร่วมทางศิลปวัฒนธรรมท่ามกลางความเหมือน ความแตกต่าง และหลากหลายในอาเซียน
โขน ศิลปะชั้นสูงและการแสดงที่งดงาม
ครั้งแรกโขนแสดงที่โรงละครแห่งชาติย่างกุ้ง กรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. จากนั้นวันที่ 21 มิ.ย. ถ่ายทอดการแสดงโขนทรงคุณค่าให้ชมที่ศูนย์การประชุมนานาชาติเมียนมา ณ กรุงเนปยีดอ มีนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และนายตูระ อ่อง โก รัฐมนตรีกระทรวงศาสนาฯ เมียนมา เข้าร่วมชม ส่วนค่ำคืนวันที่ 23 มิ.ย. โขนไปแสดงความยิ่งใหญ่รอบสุดท้าย ณ โรงละครแห่งชาติมัณฑะเลย์ เมืองมัณฑะเลย์ มีนางขิ่น จี เปีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติ มัณฑะเลย์ เข้ารับชมโขนตระการตา วิจิตรงดงาม กิจกรรมนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง กับเมียนมา
ในการแสดงชุดนี้แบ่งเป็น 4 องก์ สร้างความประทับใจให้กับผู้ชม ได้แก่ องก์ 1 นารายณ์ปราบนนทก แสดงโดยนักแสดงไทย องก์ 2 พระรามยกศร แสดงโดยศิลปินเมียนมา ก็ดูสนุกสนานไม่น่าเบื่อ ลีลาตัวละครเรียกเสียงหัวเราะ องก์ 3 ลักสีดา และองก์ 4 ยกรบ แสดงโดยศิลปินสังคีต ทุกรอบการแสดงโขนเรียกเสียงปรบมือได้กราวใหญ่และยาวนานภายหลังการแสดงจบลง
การแสดงเรื่องรามายณะ องก์ 2 พระรามยกศร โดยศิลปินเมียนมา
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม นำคณะโขนเยือนเมียนมาเชื่อมความสัมพันธ์ กล่าวว่า ไทยและเมียนมามีประวัติศาสตร์ร่วมกันมายาวนาน มีพรมแดนติดต่อกัน มีความคล้ายคลึงกันทางศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ หรือรามายณะ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ปีนี้ครบ 70 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เมียนมา ใช้โขนซึ่งเป็นมรดกร่วมเฉลิมฉลอง นอกจากนี้มีการเจรจาแบบทวิภาคีหารือดำเนินความร่วมมือกับกระทรวงศาสนาและวัฒนธรรมเมียนมาที่จะมีต่อไปในอนาคตให้เข้มแข็ง ทาง รมว.ศาสนาฯ เมียนม่ายินดีจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักเรียนทุนด้านการศึกษาและวิจัยด้านนาฏศิลป์-เครื่องดนตรีของสองประเทศ นอกจากนี้ เมียนมายินดีส่งคณะนักแสดงร่วมเทศกาลโขนที่ไทยจะจัดยิ่งใหญ่ปลายปี 61 รองรับยูเนสโกประกาศโขนขึ้นบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ
วีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วธ. มอบดอกไม้ให้อู่ เย วิน นาย ตัวแทนคณะศิลปินเมียนมา
นายจักร บุญ-หลง เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง กล่าวว่า การแสดงโขนใน 3 เมืองของเมียนมาได้รับการตอบรับที่ดีมาก ผู้ชมแน่นโรงละครทุกแห่ง โขนเป็นวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน การจัดแสดงร่วมกันระหว่างคณะโขนไทยและเมียนมา ผู้ชมสามารถชื่นชมวัฒนธรรมร่วมกันได้ นอกจากกิจกรรมโขนแล้ว ยังมีวัฒนธรรมประเพณีที่คล้ายคลึงกัน ในโอกาสที่ วธ.เดินทางมาเมียนมา จึงมีหารือส่งเสริมการท่องเที่ยววัฒนธรรมไทย-เมียนมาเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนในเขตชายแดนสองประเทศจัดกิจกรรม เช่น รัฐกะยา ติดกับ จ.แม่ฮ่องสอน มีประเพณีบวชลูกแก้วเหมือนกัน สองพื้นที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ หากเพิ่มประเพณีดั้งเดิมให้เป็นที่รู้จักในเส้นทางท่องเที่ยวจะกระตุ้นการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในเดือน ก.ค.นี้ จะจัดเทศกาลอาหารไทย และเทศกาลภาพยนตร์ไทยขึ้นที่เมียนมา ซึ่งจะช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมไทย
วัชรวัน ธนะทัฒน์ นาฏศิลปิน สำนักการสังคีต นักแสดงตัวเอก รับบท "ทศกัณฐ์" กล่าวว่า ภูมิใจได้ร่วมแสดงโขน นาฏศิลป์ชั้นสูงให้ชาวเมียนมาได้ชม เชื่อว่าได้อรรถรสในการชมจากกระบวนท่ารำงดงาม การขับร้องและบทพากย์ที่เข้าใจง่าย เพราะโขนแสดงเลียนแบบกิริยาในชีวิตประจำวัน เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายก็งดงาม ส่วนเมียนมาแสดงเรื่องรามายณะรูปแบบคล้ายละครเวที ผู้แสดงตัวเอกสวมใส่หน้ากากเหมือนกัน ถือว่าเป็นวัฒนธรรมที่สวยงาม การนำโขนเชื่อมสัมพันธไมตรีเป็นนิมิตหมายที่ดี
คณะนักแสดงเมียนมาร่วมแสดงโขนเรื่องรามายณะฉลอง 70 ปี ความสัมพันธ์
ด้าน อู่ เย วิน นาย นักแสดงเมียนมา รับบท "พระราม" เผยความรู้สึกหลังแสดงรอบสุดท้ายว่า ดีใจมากได้ร่วมฉลอง 70 ปี ไทย-เมียนมา เป็นครั้งแรกที่แสดงกับศิลปินไทย โดยเล่นองก์ที่ 2 พระรามยกศร จุดเด่นท่ารำอวดความอ่อนช้อยและแสดงให้เห็นความเข้มแข็ง ฉากบนเวทีก็ยิ่งใหญ่ คณะนักแสดงเมียนมามีทั้งหมด 75 คน รวมนักดนตรี สืบทอดการแสดงมา 70 ปีแล้ว ส่วนการส่งโขนไทยมาแสดงเป็นที่สนใจของประชาชนและดึงให้รู้จักวัฒนธรรมของไทยมากขึ้น
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |