24มิ.ย.61-“สมพงษ์” ห่วง การปฏิรูปการศึกษากลับสู่วังวนเดิมๆ ไม่มั่นใจ พรบ.ศึกษาชาติฉบับใหม่จะแก้ได้ ชี้ปัญหาใหญ่อยู่ที่โครงสร้างและระบบการใช้งบประมาณ ไม่มีการรับผิดชอบถ้าเด็กไม่มีคุณภาพ วอน นายกฯ ประยุทธ์ เข้ามาดูแล จริงจัง และควรใช้ ม.44 แก้ปัญหาที่ควรทำ จบภายในรัฐบาลนี้ ไม่ควรรอไปถึงรัฐบาลเลือกตั้ง ชี้ตอนนี้ถึงจุดวิกฤตแล้ว ด้านคณะกก.อิสระฯ เตรียมเสนอพรบ.การศึกษาชาติให้ ครม. ก.ค.นี้
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา โดยส่วนตัวรู้สึกเป็นห่วงการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้จะไม่เป็นไปตามที่คนส่วนใหญ่คาดหวัง เพราะไม่ได้แก้ไขเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่ของการศึกษา โดยเฉพาะปัญหาโครงสร้างและระบบ ใช้งบประมาณมาก บุคลากรได้ประโยชน์ 100 % แต่ความรับผิดชอบกับเรื่องคุณภาพเป็นศูนย์ สิ่งที่เห็นคือ ร่าง พ.ร.บ.นี้ ทำเรื่องเล็กๆ เป็นส่วนๆ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เช่น หลักสูตร โรงเรียน เขต แต่เรื่องเล็กๆ นี้ก็ไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือระบบใหญ่ได้ ซึ่งตนเรียกว่า เป็นโครงสร้างและระบบที่หล่อเลี้ยงคนที่ไม่ค่อยทำงาน ทุกคนได้เงิน ได้วิทยฐานะ ได้ตำแหน่ง แต่เด็ก ป.4 ยังอ่านไม่ออก คะแนนโอเน็ตตก คะแนนพิซาตก เป็นระบบที่ทิ้งเด็กโดยไม่ต้องรับผิดชอบ ที่สำคัญไม่มีเรื่องการบังคับใช้กฎหมายกับความรับผิดชอบในร่าง พ.ร.บ.นี้เลย
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯมีการตั้งหน่วยงานใหม่ เช่น หน่วยงานด้านหลักสูตร หน่วยงานด้านสารสนเทศ คณะกรรมการระดับประเทศที่มีนายกฯเป็นประธาน ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่าหน่วยงานใหม่ที่ตั้งขึ้นจะทำให้การปฎิรูปการศึกษาดีขึ้นจริงหรือไม่ เพราะจะกลายเป็นการเพิ่มหน่วยงานให้มากขึ้น ขณะที่หน่วยงานที่เป็นปัญหา สร้างภาระงานให้กับครู ก็จะยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือควรจะยุบลงบ้าง เช่น สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.), สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) รวมทั้งต้องแก้ปัญหาครูที่ต้องยุ่งกับการทำเอกสาร และการฝึกอบรม ซึ่งเป็นการดึงครูออกจากห้องเรียน รวมทั้งการให้ครูทำผลงานเพื่อให้ได้วิทยฐานะ แต่ไม่มีผลกับเรื่องคุณภาพเด็ก
“ช่วงเวลาที่เหลืออีกไม่กี่เดือนก่อนการเลือกตั้ง ผมอยากขอให้นายกรัฐมนตรีลงมาดูงานการศึกษาอย่างจริงจัง และควรทำในรัฐบาลนี้ แต่ข้อเสนอของบอร์ดอิสระกลับเสนอให้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลหน้า ซึ่งผมมั่นใจว่าจะไม่ได้รับการตอบรับ ดังนั้นนายกรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการอิสระฯ และสภานิติบัญญัติ ควรคุยเรื่องปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง อะไรที่แก้ปัญหาได้ด้วย ม.44 ก็ควรทำ เพราะตอนนี้ปัญหาการศึกษาอยู่ในขั้นวิกฤติสุดๆแล้ว”นายสมพงษ์ กล่าว
เวทีรับฟังความเห็น ร่างพ.ร.บ.การศึกษา เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ “หมอจิรุตม์” เผย มีความเห็น หลายด้าน ทั้งเรื่องคุณภาพและการผลิตครู หลักสูตร การศึกษาทางเลือก และคณะกรรมการนโยบายฯ เร่ง หารือ บอร์ดอิสระฯ ก่อน เสนอ ครม. ก.ค.นี้ ลั่น บอร์ดอิสระฯ มีความตั้งใจที่จะทำให้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นระบบการศึกษาของประเทศ
นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทางการจัดทำ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะกันอย่างหลากหลาย และไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ เช่น เรื่องการผลิตและพัฒนาครูที่ผู้ร่วมเสนอความเห็นหลายคนเป็นห่วง ทั้งด้านคุณภาพและแนวทางการผลิต อีกทั้งยังมีความเป็นห่วงเรื่องหลักสูตร และยังมีข้อเสนอเรื่องคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ว่าควรจะมีสมาชิกหรือกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ เพิ่มเติม รวมถึงข้อห่วงใยด้านการศึกษาทางเลือกที่ยังไม่มีโครงสร้างเข้ามาดูแล และจะมีงบประมาณเข้ามาสนับสนุนหรือไม่ เป็นต้น
สำหรับในส่วนของการเสนอความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ ขณะนี้มีเข้ามาจำนวนมากกว่า 10,000 ความคิดเห็น แต่ก็มีทั้งความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ และก็มีความคิดที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นตนคิดว่าคงต้องมีการดำเนินการจัดกลุ่มความคิดเห็นที่แสดงผ่านระบบออนไลน์ก่อน เพื่อที่จะได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น โดยในส่วนของข้อเสนอแนะต่างๆ นั้นทางคณะกรรมการอิสระฯ จะนำประเด็นต่างๆ มารวมกับประเด็นที่เปิดรับความคิดเห็นทางออนไลน์ เพื่อที่นำเข้าหารือในคณะกรรมการอิสระฯ ซึ่งประเด็นไหนที่จะนำไปสู่การก้าวไปข้างหน้าของระบบการศึกษาก็อาจจะมีการปรับปรุงแก้ไขก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือนกรกฎาคม
“และในที่ประชุมยังได้เสนอข้อกังวลต่างๆ เช่น ข้อเป็นห่วงเรื่องการประกันคุณภาพ การรับรองคุณภาพที่ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวยังกำหนดไม่ชัดเจน เป็นต้น ซึ่งทางคณะกรรมการอิสระฯ ก็ได้ดำเนินการชี้แจงและเปิดโอกาสให้มีการเขียนข้อคิดเห็นเสนอเข้ามาเพื่อพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ คณะกรรมการอิสระฯ มีความตั้งใจที่จะทำให้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นระบบการศึกษาของประเทศ เพื่อที่จะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับตัวให้สอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนในรายละเอียดในเรื่องต่างๆ ก็อาจจะมีการกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์หรือในกฎหมายลูกต่างๆ ได้”นพ.จิรุตม์ กล่าว