การออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายของเรานั้น ย่อมต้องทำเพื่อประชาชนภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอันถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน การจัดทำประชาพิจารณ์แสดงความคิดเห็นนำไปสู่ร่างกฎหมายที่เสนอต่อรัฐสภาเพื่อตราเป็นกฎหมายต่อไป
ในปัจจุบันและอดีตที่ผ่านมานั้น ต้องยอมรับว่าการบังคับใช้กฎหมายหลายกรณีมีความไม่เสมอภาค สองมาตรฐาน ขาดธรรมาภิบาล แต่บทความเรื่องนี้จะแสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจของรัฐในการตรากฎหมายที่แม้เพียงเป็นการเริ่มต้นก็เดินหลงทางบนความถูกต้องด้วยความผิดหลง สำคัญผิดว่าการใช้อำนาจรัฐสามารถทำได้ทุกอย่างภายใต้กฎหมายรวมถึง แต่ไม่จำกัดเพียงการกำกับและควบคุมการทำความดีในสังคม
เมื่อไม่นานมานี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ…..โดยในหลักการของร่างกฎหมายนั้น มีการระบุไว้ว่า ในปัจจุบันมีการจัดตั้งองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันขึ้นในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก บางส่วนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ และบางส่วนดำเนินการในรูปคณะบุคคลที่มิได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ทำให้ภาครัฐมีการกำกับดูแลไม่ทั่วถึง และมีองค์กรจำนวนมากที่อ้างว่า เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน แต่กลับดำเนินการในลักษณะที่เป็นการหารายได้มาแบ่งปันกันในระหว่างผู้ร่วมดำเนินการโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ซึ่งเป็นการหลอกลวงประชาชน และมีจำนวนมากที่รับเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือคณะบุคคล ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย มาใช้ในการดำเนินกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือที่ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย สมควรที่จะต้องมีกฎหมายกลางขึ้นเพื่อกำกับการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรเป็นไปอย่างถูกต้อง เปิดเผย โปร่งใส เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งหลายประเทศได้กำหนดให้มีกฎหมายในลักษณะเดียวกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้เพื่อให้มีกฎหมายกลางในระดับพระราชบัญญัติขึ้นเพื่อกำกับการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไร
การกำกับและควบคุมอย่างไรบ้างนั้น ขอนำมาเล่าสู่กันฟังว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่มีสิทธิ์มีเสียงในการแสดงความคิดเห็นว่าเราควรจะแสดงความเห็นส่งต่อไปยังรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องพร้อมๆ กัน อย่างน้อยดังนี้
1.คำนิยาม
“องค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน หมายความรวมถึง คณะบุคคลที่มิได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ แต่ดำเนินกิจกรรมโดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปัน”
เห็นได้ว่า คำว่า “คณะบุคคล” รวมทุกกลุ่มบุคคล ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิ สมาคม ชมรม กลุ่มเพื่อน กลุ่มจิตอาสาในภารกิจเพื่อสังคม หรือองค์กรทำความดีต่างๆ รวมถึงแพลตฟอร์มในโลกโซเชียล เช่น จส.100 ธนาคารเวลา องค์กรทำความดี เทใจดอทคอม ซ.โซ่อาสา ขนมปังเทวดา ร้านบ้านคุณตาคุณยาย เป็นต้น ที่จะต้องตกอยู่ภายใต้การบังคับตามร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งจะทำให้สังคมเกิดความวุ่นวายโกลาหล เพราะคำว่า “หมายความรวมถึง” คือการครอบจักรวาลเพื่อการที่รัฐต้องการเข้ามาจัดระบบแบบขึ้นทะเบียนกับทางราชการในการกำกับและควบคุมทุกๆ กลุ่มของผู้คนที่ต้องการทำความดี
2.การเข้ามากำกับและควบคุมการทำความดี
ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ “คณะบุคคล” และอาจรวมถึง “บุคคล” ใดๆ ที่จัดตั้งองค์กรหรือในรูปโครงการ แต่ดำเนินงานโดยคณะบุคคลในการทำการกุศลขึ้นมาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งก็ตามที่ตกอยู่ในคำนิยามให้มีหน้าที่ต้องไปจดแจ้งขึ้นทะเบียนการเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเพื่อการกำกับ ควบคุมต่างๆ แบบครบวงจร กล่าวคือ :
2.1 ต้องเปิดเผยแหล่งที่มาและจำนวนของเงินหรือทรัพย์สิน ที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมในแต่ละปี และต้องยื่นแบบรายการภาษีเงินได้ทุกปี
2.2 ต้องเสนอรายงานการสอบบัญชีประจำปี โดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตต่อผู้รับจดแจ้งภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นปีบัญชี และให้ผู้รับจดแจ้งเผยแพร่ต่อสาธารณะ
2.3 กำหนดให้องค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ จะรับเงินหรือทรัพย์สินจากบุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย หรือไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งในไทย มาใช้ในการดำเนินกิจกรรมในไทยได้เฉพาะกิจกรรมที่กฎหมายกำหนด
3.โทษทางอาญา
ร่างกฎหมายฉบับนี้มีการกำหนดโทษทางอาญา (จับกุม คุมขัง และโทษปรับ) อีกด้วย ซึ่งเป็นการผิดวิสัยของการที่รัฐต้องการเข้ามาสนับสนุนดูแลการทำงานของภาคประชาสังคม
ในเรื่องนี้มีความเห็นเพิ่มเติมว่า มีการเตรียมออกกฎหมายฉบับนี้เข้าไปยึดโยงเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองอีกด้วย คือความเข้าใจว่ามีการระดมทุนทำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลผ่านกลไกขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้เหล่านี้ นอกจากนี้ยังได้ยินมาอีกว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ขอมีส่วนร่วมให้มีการเพิ่มเติมการกำกับและควบคุมเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงอีกด้วย ดังนั้นการทำความดีหรือการตั้งใจทำความดีอาจเป็นการทำคุณบูชาโทษได้ในอนาคตหากไม่มีการแก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้
แม้ต่อมาทางรัฐบาลจะได้ออกมาชี้แจงผ่านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าร่างดังกล่าวเป็นเพียง “หลักการ” เท่านั้น และจะต้องมีการยกร่างขึ้นมาโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งอาจจะไม่เหมือนของเดิมที่เป็นหลักการเลยก็ได้ แต่ความไม่แน่นอนย่อมทำให้ประชาคมจิตอาสาเกิดความกังวล ไม่สบายใจได้ อย่างไรก็ตาม ก็ขอฝากท่านผู้อ่านทุกคนโดยเฉพาะในภาคประชาสังคมว่าอย่าได้ท้อแท้ใจกับเรื่องนี้ ขอให้ทุกท่านทำความดีต่อไป เชื่อมั่นว่ากฎหมายที่ร่างด้วยความไม่สมเหตุสมผล ขาดการมีส่วนร่วม ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ธรรมาภิบาลและหลักสิทธิมนุษยชนย่อมจะต้องแพ้ภัยตัวเองในที่สุด
เทวัญ อุทัยวัฒน์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |